์News

์News

ตะลุยสวนยางบนเกาะ...ที่เกาะช้าง เกษตรกรปลูกยาง PB 235 แทน RRIM 600



เรื่อง : พิมพ์ใจ พิสุทธิ์จริยานันท์

            มาตะลุยสวนยาง จ.ตราด ทั้งที จะไม่แอบไปเที่ยวเกาะช้าง สถานที่ท่องเที่ยวเบอร์ 1 ของจังหวัดสุดท้ายของภาคตะวันออกถือเป็นการเสียโอกาสอย่างยิ่ง เอาไปคุยกับใครก็พูดได้ไม่เต็มปากว่ามา จ.ตราด
            ผมจึงแอบขโมยเวลา 1 คืน 1 วัน กอบโกยความสุขจากที่นั่น ประมาณว่าพักผ่อนระหว่างการทำงานไปในตัว
            แม้ “ตัว” อยากจะพักผ่อน แต่ “หัว” มันกลับไม่ยอม...!!!
            ก็เมื่อหัวสมองมันกลับฉุดคิดขึ้นมาได้ว่า “เกาะช้างเขาปลูกยางกันหรือเปล่านะ...???”
            สุดท้ายทั้ง “หัว” และ “ตัว” ของผมก็พร้อมใจกันพาไปหาข้อมูลจนได้
...สุดท้ายก็อดพักผ่อนเลย...!!!
ข้อมูลตัวเลขจาก สกย.จ.ตราด สำรวจจากภาพถ่ายดาวเทียว SPOT 5 เมื่อปี 2551 ระบุว่าเกาะช้างมีพื้นที่ปลูกยางรวม5,554 ไร่ แบ่งเป็นยางอายุ 1-6 ปี 339 ไร่ ยางอายุ 6 ปีขึ้นไป หรือยางเปิดกรีดแล้ว 5,215 ไร่
ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรอำเภอเกาะช้างระบุว่า เกาะที่มีขนาดใหญ่อันดับ 3 ของประเทศแห่งนี้มีเนื้อที่ปลูกยางใน 2 ตำบล รวม 8,430 ไร่ แบ่งเป็น ต.เกาะช้าง 270 ราย 3,760 ไร่ ต.เกาะช้างใต้ มีเกษตร 219 ราย พื้นที่ 4,680 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นยางเปิดกรีดแล้ว
ตัวเลขดังกล่าวฟังแล้วไม่อยากเชื่อว่าเกาะที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนของเกาะช้างจะมีพื้นที่ปลูกยางรวมมากกว่า 8,000 ไร่ และที่สำคัญมีการปลูกกันมานานหลายสิบปีแล้ว เกษตรกรบางรายโค่นยางปลูกใหม่ไปแล้วถึง 2 รอบ
นพเดช วัย 45 ปี ชายฉกรรจ์ลูกเกาะช้างโดยกำเนิด 
เขาบอกเกิดมาก็เห็นต้นยางแล้ว สวนยางของเขาจึงโค่งปลูกใหม่แล้ว 2 ครั้ง 
ตั้งแต่รุ่นพ่อ จนมาสู่รุ่นเขาก็ยังปลูกยาง แล้วอย่างนี้เขาเรียกว่ายั่งยืนหรือไม่...???

“ผมเกิดมาก็เห็นสวนยางแล้ว” นพเดช สิงห์วิรัตน์ ชาวเกาะช้างโดยกำเนิดให้ข้อมูล ปัจจุบันอายุอานามของเขากว่า 45 ปีแล้ว ก็น่าจะพอคาดเดาได้ไม่ยากว่ายางพาราได้ข้ามน้ำข้ามทะเลมายังเกาะแห่งนี้นานมากโขแล้ว
“ผมจำไม้ได้หรอกว่าใครปลูก มันเป็นยางป่าผสมกับสวนทุเรียน อาจจะเป็นรุ่นพ่อผม เพราะเมื่อปี 2526 ขอทุนสงเคราะห์ปลูกยางใหม่จาก สกย.ไป 10 ไร่ จนเมื่อปีที่แล้วมันหมดเปลือกก็ขอทุนสงเคราะห์ปลูกใหม่ไปอีกรอบหนึ่ง” นพเดชให้ข้อมูลเพิ่มอีก
เท่ากับว่าการปลูกยางครั้งล่าสุดเมื่อปีที่แล้วน่าจะเป็นสวนยางรุ่นที่ 3 ของครอบครัวเขาแล้ว
นพเดชนึกย้อนให้ฟังว่า ช่วงแรกๆ ที่ทำยางส่วนใหญ่กรีดแล้วเก็บน้ำยางนำมาทำยางแผ่นดิบเป็นหลัก เมื่อได้ปริมาณก็ขนขึ้นเรือไปขายบนฝั่ง เป็นอยู่อย่างนี้จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของชาวสวนยางเกาะช้าง ซึ่งเป็นอาชีพหลักสำคัญของคนบนเกาะนี้
ครั้งหนึ่งเคยจะมีการรวมกลุ่มเพื่อรับงบประมาณสร้างโรงงานรมควันบนเกาะช้าง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้โครงการ เพราะความที่อยู่บนเกาะ การรวมกลุ่มจึงไม่เกิดขึ้น เกษตรกรต่างๆ คนต่างขาย ระยะหลังมีพ่อค้าเร่เข้ามาซื้อยางประจำถึงสวน
สวนยางพันธุ์ PB 235 เป็นพันธุ์ที่นพเดชเลือกปลูกแทนพันธุ์ RRIM600 ที่เขาบอกว่าอ่อนแอต่อโรคมาก เพราะจากยาง 700 ต้น เมื่อยางหมดอายุเหลือต้นยางเพียง 400 ต้นเท่านั้น เขาบอกว่ามันค่อยๆ ตายไปเรื่อยๆ แต่ยางพันธุ์ใหม่ที่เขาปลูกต้านทางโรคดี โตไว แม้น้ำยางจะน้อยในช่วง 10 ปีแรก แต่หลังจากนั้นน้ำยางจะสูง เฉลี่ยมากกว่าพันธุ์ 600 “ยางพันธุ์ 235 ต้นมันจะใหญ่มาก เนื้อไม้จะเยอะ ผมคิดต่อจนว่ายางทุกประเทศมีแต่คนปลูก อนาคตคิดว่าถ้าราคายางตกต่ำ ตัดต้นขายไม้น่าจะคุ้มค่า” 

ยางพันธุ์ RRIM 600 ไม่เหมาะสมกับเกาะช้าง เลือกปลูกพันธุ์ PB 235
เมื่อลองถามถึงพันธุ์ยางที่ปลูกกันบนเกาะช้าง คำตอบก็คือ RRIM 600  พันธุ์ยอดนิยมของประเทศไทย แต่ด้วยความที่ปลูกยางพันธุ์นี้มาเป็นเวลานาน จึงทำให้นพเดชเห็นปัญหา และจุดอ่อนของยางพันธุ์นี้ เขาบอกว่ามันเป็นพันธุ์อ่อนแอ เมื่อต้นยางเริ่มแก่มันจะค่อยๆ ตายไปเรื่อยๆ จนยางหมดเปลือกต้องโค่น สวนยาง 10 ไร่เหลือต้นยางเพียง 400 กว่าต้นเท่านั้น จาก 700 ต้น 
ก่อนที่เขาจะสรุปว่ามันเป็นพันธุ์ที่ต้านทานโรคไม่ดี เพราะบนเกาะช้างปริมาณฝนและความชื้นค่อนข้างสูง (ปริมาณน้ำฝนปี 3,829.9 มิลลิเมตร ข้อมูลปี2554) ทำให้เป็นโรคง่าย โดยเฉพาะโรคใบร่วง เชื้อรา เปลือกเน่า และ โคนเน่า เป็นต้น
“ผมว่ามันเป็นพันธุ์ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกบนเกาะช้าง”
ด้วยเหตุนี้การปลูกยางรอบใหม่เมื่อปีที่แล้วเขาจึงเลือกที่จะไม่ปลูกพันธุ์ RRIM 600 อีกต่อไป แต่เลือกปลูกพันธุ์ PB 235 แทน
สวนยางพันธุ์ 600 เนื้อที่ 10 กว่าไร่ ของน้องชายนพเดช อายุประมาณ 5 ปี แต่จะเห็นได้ว่าต้นยางเล็กมาก เมื่อเทียบกับการปลูกทั่วไป และปริมาณน้ำฝนสูงๆ อย่างเกาะช้าง แต่เจ้าของคิดว่าถ้าปลูกแน่น ชิดๆ จำนวนต้นมากน้ำยางก็น่าจะมาก แต่เป็นอย่างที่เห็นต้นยางสูงชะลูด และต้นเล็ก ไม่สามารถเปิดกรีดได้ 
แม้ยางพันธุ์นี้จะมีข้อจำกัดเรื่องปริมาณน้ำยางน้อยในช่วงอายุต่ำกว่า 10 ปีแรก แต่เมื่ออายุ 10 ปีขึ้นไปจะให้น้ำยางดีต่อเนื่อง เฉลี่ย 329 กิโลกรัม/ไร่/ปี สูงกว่าพันธุ์ RRIM 600 ถึง 27% ที่สำคัญมีความต้ายทานโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่นใบร่วง และเปลือกเน่า เปลือกแห้ง เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นยางพันธุ์ที่เจริญเติบโตดีเยี่ยม สามารถเปิดกรีดได้เร็ว และปลูกได้ดีในพื้นที่ลาดชันอย่างเกาะช้าง
“ยางพันธุ์ 235 ต้นมันจะใหญ่มาก เนื้อไม้จะเยอะ ผมคิดต่อจนว่ายางทุกประเทศมีแต่คนปลูก อนาคตคิดว่าถ้าราคายางตกต่ำ ตัดต้นขายไม้น่าจะคุ้มค่า”
สวนยางพันธุ์ RRIM600 อายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี 

ทำสวนยาง น้ำยางคือดอกเบี้ย ไม้ยางคือเงินฝาก
ข้อมูลการปลูกยาง 10 ไร่ ของนพเดช เขาเลือกปลูกไร่ละ 76 ต้น ระยะ 6x3.5 เมตร ตามที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ อีกทั้งยางพันธุ์ PB 235 มีทรงพุ่มใหญ่ การปลูกระยะห่างระหว่างต้นจึงต้องมากกว่า 3 เมตร ซึ่งคาดว่ายางแปลงปลูกใหม่ของเขาน่าจะเปิดกรีดไปในอีก 4 ปีข้างหน้า
ผมถามย้อนไปถึงการขอเงินสงเคราะห์ปลูกยางใหม่เมื่อปีที่แล้ว เจ้าของสวนให้ข้อมูลว่าได้เงินสงเคราะห์จาก สกย.ไร่ละ 11,000 บาท ซึ่งเป็นระบบเก่า ปัจจุบัน 17,000 บาท/ไร่แล้ว
“ได้ไร่ละ 11,000 ไม่พอกับการลงทุนปลูกใหม่หรอก พันธุ์ยางเขาให้ต้นทุนต้นละ 18 บาท แต่ยางปีที่แล้ว 40-50 บาท แต่เราก็อย่าไปคิดอะไรมากมายเพราะลงทุนปลูกไปแล้วก็ยังเป็นของเราอยู่แล้ว ถ้าเขาไม่ให้เงินเราก็ต้องลงทุนปลูกเองอยู่ดี แต่นี่ดีที่เขาช่วยเราไม่ต้องลงทุนมาก ถือว่าเป็นอาชีพที่ดี เพราะหลังจากเราได้น้ำยางแล้ว เมื่อหมดอายุยังขายไม้ได้อีก”
สวนยางปลูกใหม่อยู่ริมถนนฝั่งตะวันออกของเกาะ ซึ่งเป็นฝั่งที่มีการปลูกยางมากที่สุด สภาพพื้นที่ไม่ต้องพูดถึงเพราะเกาะช้างมีแต่ภูเขาทั้งเกาะจึงต้องปลูกกับตามที่ลาดชันและเนินเขา เป็นต้น

ว่ากันว่าการปลูกยางก็เหมือนนำเงินไปฝากธนาคาร ได้น้ำยางเป็น “ดอกเบี้ย” ส่วนไม้ยางเป็น “เงินฝาก” ที่สามารถเบิกถอนคืนได้เมื่อต้นยางหมดอายุ ซึ่งสวนยาง 400 ต้นของนพเดชขายไม้ได้ไป 300,000 กว่าบาท
เขาเพิ่มเติมว่า สมัยตอนโค่นยางครั้งแรกเมื่อปี 2526 ตอนนั้นโค่นต้นยางแล้วก็ต้องเผาทิ้งหมด ขายไม่ได้ เพราะสมัยนั้น เรือเฟอร์รี่ แพ ขนไม้ไปขายบนฝั่งยังไม่มี ก็ต้องเผาทิ้ง เพราะไปมีที่ขาย แต่ปัจจุบันมีพ่อค้ามาประเมินมูลค่าไม้ยางถึงสวน ก่อนจะตัด และนำรถมาขนถึงสวน
“ตอนแรกเขาให้เราเสนอราคาก่อน ถ้าคนไม่รู้ราคาขายถูกก็เสียไป แต่เราต้องรู้ว่าราคาไม้ที่อื่นเท่าไหร่ และคำนวณความยากง่ายในการตัด การขนย้าย และสภาพต้นยาง เรื่องอย่างนี้เราต้องรู้ ไม่อย่างนั้นก็ถูกเอาเปรียบ”
ใครกล้าท้าฝนกรีดยางในช่วงฝนตก หรือกรีดแล้วฝนตกก็จะเป็นอย่างนี้ 
น้ำยางหายละลายไปกับน้ำฝน ขณะที่แผลที่กรีดเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อราสูง
 ซึ่งเป็น “หัวเชื้อ” ของสารพัดโรคที่จะทำลายต้นยางในระยะยาว


พฤติกรรมเกษตรกรเปลี่ยน เลือกผลิตยางก้อนถ้วยเกือบ 100%
การเปลี่ยนแปลงของการทำสวนยางบนเกาะช้างที่นพเดชสะท้อนคือ พฤติกรรมการแปรรูปน้ำยางสดเป็นยางแผ่นดิบเริ่มน้อยลง เพราะระยะหลังเกษตรกรเปลี่ยนมาทำยางก้อนถ้วยกันเกือบ 100% จนเกือบจะสูญพันธุ์
ปัจจัยหลักมาจากช่วงหลายปีที่ผ่านมายางราคายางดีดตัวสูงขึ้นหลายเท่าตัว เกษตรกรส่วนใหญ่ซึ่งไม่ใช่เจ้าของสวนจึงเลือกที่จะทำยางก้อนถ้วย ทำง่าย ใช้เวลาน้อย สะดวก งานเบากว่าการทำยางแผ่นดิบ
เพราะต้องยอมรับว่าแรงงานทำสวนยางส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า และการทำสวนยางอาศัยความสะดวกของแรงงานเป็นหลัก ประกอบกับสภาพพื้นที่ปลูกเป็นที่ราบเชิงเขา การจัดการจึงค่อนข้างยาก ด้วยเหตุนี้การแบ่งผลประโยชน์ระหว่างเจ้าของสวนและแรงงานจึงแบ่งสูง 50 : 50
แม้จะรู้ดีว่าราคายางก้อนถ้วยจะถูกกว่ายางแผ่นดิบ แต่เมื่อราคายางสูง เกษตรกรส่วนใหญ่จึงมองว่ายังได้เงินเยอะกว่าอดีตอยู่ดี การทำยางถ้วยจึงระบาดเช่นนี้แล และไม่ใช่เฉพาะสวนยางของนพเดชเท่านั้นที่ทำยางก้อนถ้วย แต่ทำกันทั้งเกาะ
“การขายก็ขายให้กับพ่อค้าเร่ในเกาะช้าง เขาจะตระเวนไปตามสวนต่างๆ เพื่อซื้อยางแล้วขนไปส่งตามร้านบนฝั่ง”
สวนผลไม้ที่ขึ้นชื่อของเกาะช้าง คือ ทุเรียน เป็นต้น แต่ไหนแต่ไรมาแล้วเจ้าของสวนผลไม้ก็มักจะปลูกยางแซมไว้ในสวน  และด้วยราคาของยางและผลไม้ที่เดินสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง สวนผลไม้จึงถูกยึดด้วยสวนยาง แต่ภาพสวนผสมระหว่างยางกับทุเรียนก็ยังมีให้เห็นในปัจจุบัน

 ยางพารา พืชเศรษฐกิจอันดับ 1 ของเกาะช้าง
“ตอนนี้สวนยางน่าจะมีการปลูกอันดับหนึ่งบนเกาะช้าง สวนผลไม้ มะพร้าวในอดีต ตอนนี้เปลี่ยนเป็นสวนยางหมดแล้ว มะพร้าวต้นนี้ไม่มีใครเก็บเพราะราคาถูกลูกละ 3-4 บาท” นพเดชคนเกาะช้างโดยกำเนิดให้ข้อมูลจากการคำนวณโดยสายตาอย่างนั้น ซึ่งในความคิดของเขาสวนยางคือพืชเศรษฐกิจที่ดีที่สุดขณะนี้ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับพืชตัวอื่นยังเทียบกันไม่ติด แม้จะมีพื้นที่ปลูกยางน้อยเพียงแค่ 10 ไร่ และยังจ้างแรงงานทำก็ตาม แต่เขาบอกว่าถ้ารู้จักใช้ก็อยู่ได้อย่างสบาย
“พื้นที่ 10 ไร่ กรีดแบบแบ่ง 50:50 ถ้ายางราคา 100 บาท ก็น่าจะอยู่ได้ แต่ก็ไม่ถึงกับรวย ทั้งที่จริงๆ แล้วเราต้องแบ่งเงินน้อยกว่านี้ แต่สวนยางบนเกาะช้างเป็นที่เชิงเขา เขาทำงานยากจึงต้องแบ่งสูงหน่อย แต่เจ้าของสวนไม่ต้องทำเองให้มอญตัด แต่เงินก็เหลือน้อย ถ้าใช้จ่ายเยอะก็ไม่พอ”
แม้ว่าปริมาณฝนตกชุกขนเกาะช้างจะเป็นผลดีต่อสวนยาง ปริมาณน้ำยางจึงค่อนข้างสูง แต่ในขณะเดียวกัน ฝนที่ตกเยอะจนเกิดไปก็ทำให้กรีดยางไม่ได้เช่นกัน “หน้าฝนเกษตรกรส่วนใหญ่ก็ไม่กรีดยาง ไปทำประมงกัน พักหน้ายางเลย”
มะพร้าวเคยเป็นพืชสำคัญตัวหนึ่งของเกาะช้าง แต่ค่อยหดหายไปเพราะสวนผลไม้และยางพารา จนปัจจุบันสวนมะพร้าวแทบหาได้ยาก เจ้าของสวนปล่อยทิ้งเพราะราคาตกต่ำ ไม่คุ่มค่ากับค่าแรงเก็บ

ประเด็นหนึ่งที่น่าจะมีคนถามถึงกันมาก คือเรื่องของ “ที่ดิน” บนเกาะช้างที่เกษตรกรปลูก รุกและรังแกป่าหรือไม่ นพเดชยอมรับว่าสวนยางและที่ดินทำกินของเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีโฉนด แต่ก็ไม่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแต่อย่างใด แต่เป็นที่ดีที่จัดสรรเพื่อทำการเกษตร แต่เขาก็ไม่วายพูดเหน็บเรื่องนี้ว่า “เขตอุทยานประกาศทีหลัง มาถึงก็ตีเส้นกันบนโต๊ะ บางคนอยู่มาเป็นร้อยปี ปรากฏว่าบ้านเขาอุทยานอยู่ทับบ้านเขาเลย อุทยานมาตอน 2525 สมัยนั้นไม่มีใครคัดค้าน ตัวอำเภอก็อยู่ไกล อยู่บนฝั่งแหลมงอบ สมัยนั้นเกาะช้างเป็นตำบลขึ้นกับ อ.แหลมงอบ”
ปริมาณฝนเป็น “จุดแข็ง” ของเกาะช้าง เพราะมันช่วยให้ต้นยางเจริญเติบโตดี 5 ปีก็เปิดกรีดได้ และน้ำยางยังสูง แต่ขณะเดียวปริมาณฝนที่มากจนเกิดไปก็เป็น "จุดอ่อน” ของพื้นที่เช่นกัน ก็เมื่อฝนตกก็กรีดยางไม่ได้ รายได้ก็ขาดหาย เขาฤดูฝนสวนยางจึงแทบจะปิดหน้ายางกันเลยทีเดียว

แม้พื้นที่เกาะใหญ่อันดับ 3 ของประเทศอย่างเกาะช้าง ส่วนใหญ่จะเป็นเทือกเขาสูง แต่ก็ยังพอมีพื้นที่มากกว่า 8,000 ไร่ เป็นสวนยาง และเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีพื้นที่มากที่สุด และน่าจะมีมูลค่ามากที่สุดของเกาะช้าง จนอาจจะพูดได้ว่าถ้าไม่รวมเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของเกาะช้าง ยางพาราน่าจะเป็นพืชสร้างรายได้อันดับ 1 ของเกาะช้าง
ต้นยางป่าขนาดใหญ่ 2 คนโอบ น่าจะเป็นยางรุ่นแรกๆ ที่มีการปลูกบนเกาะช้าง




ขอขอบคุณ
นพเดช สิงห์วิรัตน์
ต.เกาะช้าง อ.เกาะช้าง จ.ตราด โทรศัพท์ 08-1863-9764







ไม่มีความคิดเห็น

Random Posts

randomposts