์News

์News

ชาวสวนยางระยอง จับมือ โรงงานไทยรับเบอร์ ตัดตอน พ่อค้าคนกลาง ซื้อขายน้ำยางสด ยุติธรรม


เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการซื้อ-ขายน้ำยาง  ระหว่างระหว่าง บริษัทไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน  หรือ “TRUBB  กับ ชุมนุมสหกรณ์ระยอง  จำกัด  หรือ ชสจ.ระยอง และเครือข่าย ที่โรงแรมโกลเด้นซิตี้ ระยอง  โดยมี  นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน   กับ นายเฉลา ฉิมพู ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์จังหวัดระยอง จำกัด เป็นผู้ลงนาม  โดยมีนายเสนอ  ชูจันทร์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  และนายสมศักดิ์   สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองร่วมเป็นสักขีพยาน
การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการซื้อ-ขายน้ำยางครั้งนี้ คือการจับมือครั้งแรกที่บริษัทฯ ซื้อขายยางโดยตรงกับเกษตรกร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาราคายางพาราอย่างยั่งยืนของเกษตรกร ชาวสวนยางในจังหวัดระยอง และจังหวัดใกล้เคียงและเพื่อเป็นการช่วยเหลือให้เกษตรกรชาวสวนยางขายยางในราคาที่เป็นธรรม และการหาเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้ง (DRC) ให้ตรงกับความเป็นจริงรวมทั้งเพื่อเป็นการรวมตัวเกษตรกรในการสร้างอำนาจต่อรองผู้ซื้อและผู้ขาย ในปริมาณน้ำยางและราคาที่เป็นธรรมกันทั้งสองฝ่ายและเพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้ในระบบตลาดล่วงหน้าของตลาดโลก และราคาที่เป็นไปตามกลไกของตลาดโลก ความร่วมมือดังกล่าวเพื่อเป็นโครงการนำร่อง หรือที่เรียกว่า Pilot Project เป็นครั้งแรกที่เกษตรกรกับโรงงานซื้อขายกันโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง
ทั้งนี้ทางชุมนุมสหกรณ์จังหวัดระยองมีหน้าที่เป็นผู้รวบรวมน้ำยางสดจากสมาชิกสหกรณ์ หรือเครือข่ายโดยการวางเป็นจุด ๆ และเป็นผู้หา DRC เพื่อยืนยัน กับ DRC ของบริษัทดังกล่าวข้างต้นให้ตรงกันทั้งสองฝ่ายรวมทั้งทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายเงินให้สมาชิกที่นำยางมาส่งให้ชุมนุมสหกรณ์ระยอง
 นอกจากนี้จะต้องเป็นผู้รวบรวมน้ำยางส่งและจัดรถขนส่งน้ำยางสด  มายังจุดรวบรวมที่ตกลงกันไว้  และจะต้องเป็นผู้ตกลงราคาน้ำยางกับบริษัทดังกล่าวโดยยึดราคาตลาดกลางทางราชการหรือราคาตลาดทั่วไปเป็นหลัก
สำหรับบริษัทไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน  นั้นจะมี บทบาทหน้าที่ในการจัดภาชนะ (ถัง 200 ลิตร) พร้อม พรีเสริฟแอมโมเนีย ให้พร้อมส่ง ชสจ.ระยอง ที่จะเป็นผู้กำหนดจุดให้วางภาชนะ (ถัง 200 ลิตร)  เมื่อ น้ำยางสดมาถึงโรงงาน “TRUBB” จะต้องตักตัวอย่าง น้ำยางเพื่อหาเปอร์เซ็นต์ เนื้อยางแห้ง (DRC) เพื่อรีเช็คกับ (DRC)ชสจ.ระยองให้ถูกต้องตรงกันและถ้า DRC ทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกัน ถ้าตกลงกันไม่ได้ จะต้องให้คณะอนุกรรมการแก้ปัญหาสินค้ายางพาราอย่างเป็นระบบครบวงจร จังหวัดระยอง แต่งตั้งกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเป็นผู้ตัดสิน โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องยอมรับ   รวมทั้งทำหน้าที่รีบจ่ายเงินให้ ชสจ.ระยองหลังจากที่รู้  DRC ควรไม่เกิน 3 วัน นับจากที่ส่งยางถึงโรงงาน  โดยการโอนเงินเข้าบัญชี  ชสจ.ระยอง ทันที รวมทั้งจะต้องจ่ายค่าบริหารจัดการทั้งหมดให้ ชสจ.ระยองตามสัญญาที่ตกลงกันเป็นครั้งคราวอีกด้วย
นายสมศักดิ์   สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง

นายสมศักดิ์   สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า ยางพารานับเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทางจังหวัดระยองให้ความสำคัญ  ถือเป็นรายได้ของเกษตรกรกลุ่มใหญ่  ที่ผ่านมาราคายกตกต่ำทั้งเป็นไปตามการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีปัจจัยมากมากที่รัฐบาลกำลังหาทางแก้ไขปัญหา
ในขณะเดียวกันจังหวัดระยองไม่ได้นิ่งนอนใจ ไม่ได้รอเพียงความช่วยเหลือภาครัฐอย่างเดียว ได้มีองค์กรที่พยายามช่วยเหลือเกษตรกรของตัวเอง เพื่อระบายผลผลิตในรูปแบบต่าง ๆ  ทั้งการแปรรูป  ยางแท่ง  ยางแผ่นรมควัน โดยอาศัยกลไกลของรัฐบาลในรูปแบบ “ประชารัฐ” ที่เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐ  รัฐวิสาหกิจ  เอกชน   ภาคประชาชน  และสถาบันเกษตรกร  ซึ่ง จ.ระยองเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านพื้นที่แหล่งวัตถุดิบ   มีโรงงานในพื้นที่กว่า 2,000 โรงที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบ รวมทั้งมีบริษัทผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางในรูปแบบต่าง ๆ  น่าจะเป็นช่องทางระบายผลผลิตยางพารา ในขณะที่จังหวัดอื่นอีกหลายจังหวัดไม่มี
นอกจากนี้ยังมีบุคคลอย่างท่านอุทัย สอนหลักทรัพย์  คุณสังข์เวิน ทวดห้วย ช่วยเป็นตัวเชื่อมระหว่างภาครัฐในระดับนโยบายกับภาคเอกชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
“ความร่วมมือในการทำ MOU  ครั้งนี้  ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหายางจะสำเร็จลงได้จำเป็นต้องอาศัยการรวมกลุ่ม  รวมตัวกันของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ พร้อม ๆ กับน้อมนับแนวทางระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่อง การรวมกันซื้อ  รวมกันขาย  รวมกันผลิต  และรวมกันจำหน่าย ในรูปแบบสหกรณ์  เกิดความสามัคคี ทำให้บริษัทมารับซื้อโดยตรงจากเกษตรกรโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เชื่อมั่นว่าน่าจะเป็นรูปแบบการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน”
นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน 

นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยรับเบอร์  กล่าวว่า ประเทศไทยถือว่าส่งออกน้ำยางข้นมากที่สุดในโลก  บริษัทได้ทำธุรกิจรับซื้อน้ำยางข้นที่ จ.ระยองมาตั้งแต่ปี 2515  มีความผูกพันกับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางอย่างมาก  และภูมิใจที่วันนี้ได้มีการทำ MOU กับเกษตรกรโดยตรง 
ในอดีตการซื้อขายโดยตรงกับเกษตรกรเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเกษตรกรไม่เข้าใจในระบบจึงไม่ขายให้โรงงานโดยตรง โดยที่ผ่านมา บริษัทฯได้พยายามไปสร้างความรู้ ความเข้าใจอย่างต่อเนื่องถึงวิธีการรับซื้อน้ำยางข้นที่ต้องอาศัยใช้หลักการวัดเป็นค่า DRC หรือ ปริมาณเนื้อยางที่มีอยู่ในน้ำยาง ซึ่งปัจจุบันทั่วประเทศซื้อกันจะวัดจากค่า DRC  ทั้งหมด
            “รู้สึกภูมิใจ  การให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์  และสร้างเครือข่าย  รวมตัวกันขายน้ำยางสดได้หารือท่านอุทัยมาเป็นเวลา สิบๆ  ปี ซึ่งบริษัทมั่นใจว่าจะเกิดผลดีกับเกษตรกรเพราะไม่มีใครมาเก็บค่าต๋ง  หรือไม่มีพ่อค้าคนกลาง  เกษตรกรได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย  รวมทั้งบริษัทฯ  เองก็สามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบโดยตรง  ไม่ต้องเอาอนาคตไปผูกติดกับพ่อค้าคนกลาง บริษัทจำให้ราคาเป็นธรรม และสามารถซื้อแบบไม่อั้นได้   และจ่ายเงินสดทันที  ซึ่งหากบริษัทอื่นให้ราคาดีกว่าเกษตรกรก็สามารถขายให้ที่อื่นได้โดยไม่ปิดกั้น ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสทางเลือกให้เกษตรกรด้วย”
นายเฉลา ฉิมพู ประธานกรรมการ
ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดระยอง จำกัด
 

ด้าน นายเฉลา ฉิมพู ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์จังหวัดระยอง จำกัด กล่าว่า จากราคายางในปีนี้ไม่ต่างกว่าปีที่แล้ว  ผมว่าหากราคายางแพงก็จำไม่มีเวที MOU นี้ขึ้นมา  หากพิจารณาข้อมูลแล้วพบว่ามีการใช้ยางในโลกนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ ปี    ทางออกที่จะช่วยเกษตรกรได้ในวันนี้ในการซื้อขายยางในประเทศไทยจำเป็น ต้องยึดหลักการรวมกันซื้อ  รวมกันขาย  มานั่งพูดคุยกับผู้ประกอบการ  ทุกคนทุกฝ่ายต้องมาจับมือช่วยกันทุกฝ่าย   กระบวนการสหกรณ์  นับเป็นก้าวแรกของการรวบรวมผลผลิตโดยเฉพาะในเรื่องยาง  ต้องขอขอบคุณทุกคนทุกฝ่ายที่ได้มาช่วยกันในวันนี้







นายอุทัย  สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า การทำ MOU วันนี้นับเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในการซื้อขายยางที่บริษัทได้มาซื้อขายยางโดยตรงกับเกษตรกร  ซึ่ง จ.ระยองมีพื้นที่ปลูกยางมาก  มีโรงงานรับซื้อ  โรงงานแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางส่งออกมากมาย  ถือว่าเป็นโอกาสดีของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง จ.ระยอง  ที่ได้มีการรวมตัวกัน    และการทำข้อตกลงในรูปแบบประชารัฐซึ่งในอนาคตรัฐบาลน่าจะได้มีการวางยุทธศาสตร์ยางเพื่อให้เกิดเป็นนโยบายยางในการแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อไป 
นายอุทัย  สอนหลักทรัพย์
ประธานสภาเครือข่ายยางและ
สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย
 

“ต้องขอบคุณบริษัทไทยรับเบอร์ฯ  ซึ่งเป็นบริษัทแรกที่ได้ให้ความร่วมมือดังกล่าวเพื่อเป็นโครงการนำร่อง หรือที่เรียกว่า Pilot Projectถือเป็นครั้งแรกที่เกษตรกรกับโรงงานซื้อขายกันโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางเกิดความเป็นธรรมสามารถสร้างเสถียรภาพด้านราคายางอย่างยั่งยืนตรงกับความเป็นจริงในตลาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากโครงการดังกล่าวสามารถเกิดผลดีเป็นที่พึงพอใจของทั้ง 2 ฝ่ายอย่างเป็นรูปธรรมแล้วน่าจะนำรูปแบบดังกล่าวไปพัฒนาปรับให้ให้เหมาะสมสอดคล้องกับเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยต่อไป”




นายเสนอ  ชูจันทร์  รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ความร่วมมือในวันนี้นับเป็นเรื่องสำคัญ  เป็นเรื่องที่เป็นตัวอย่างที่ดีของจังหวัดระยอง ที่ได้ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และผู้นำเกษตรกรของจังหวัด   ส่วนกรมส่งเสริมสหกรณ์จะให้การสนับสนุนหน่วยงานในระดับบน  แต่ความสำเร็จหรือไม่สำเร็จจะขึ้นอยู่กับพื้นที่เป็นสำคัญ   เกษตรกรในแต่ละจังหวัดมีพืชเศรษฐกิจไม่เหมือนกัน  เช่น  ยางพารา ข้าว  มันสำปะหลัง  อ้อย  และข้าวโพด   สำหรับภาคตะวันออกนั้นมียางพาราเป็นจำนวนมากรอง ๆ จากภาคใต้ภาคเหนือ  และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
       
นายเสนอ  ชูจันทร์ 
รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
    


          “กรมฯ อยากให้เกิดโครงการความร่วมมือในลักษณะเช่นนี้และสนับสนุนส่งเสริมไปในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ  ทำด้วย  เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำอย่างนี้เพื่อให้เกิดความยั่งยืน”

1 ความคิดเห็น

  1. ผมอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมครับ ขั้นตอนแรกผมต้องไปติดต่อที่ไหนก่อนครับ ผมขอเบอร์โทรเพื่อสอบถามข้อมูลได้ไหมครับ

    ตอบลบ

Random Posts

randomposts