ต้นยางพารารุ่นเดียวกับยางต้นแรกที่หลงเหลืออยู่ ณ สวนกะพังสุรินทร์
อายุน่าจะเป็นร้อยปี มีอยู่ในสวนแห่งนี้ประมาณ 15 ต้น
|
คาอุท์ชุค (Caoutchouc) แปลเป็นไทยว่า “ต้นไม้ร้องไห้”
เป็นชื่อที่ชาวพื้นเมืองบริเวณลุ่นน้ำอเมซอน แห่งทวีปอเมริกาใต้ เรียกต้นยางพารา
ซึ่ง ณ ที่แห่งนั้นคือ “ต้นกำเนิด” ของยางพารา
เท็จจริงไม่รู้ แต่ผู้เขียนสันนิษฐานว่าของเหลวสีขาวข้นคลักที่ไหลออกมาจากเปลือกยางพารา
คือที่มาของคำเรียกต้นไม้ร้องไห้ ก่อนที่ภายหลัง “น้ำตา” จากต้นยาง ในปี 2313 มีการคิดค้นนำมาใช้เป็น “ยางลบ”
สำหรับลบรอยดินสอโดยไม่ทำให้กระดาษเสียหาย โดย โจเซฟ พริลลี่
53 ปี ต่อมา ชาล์ล แมกกินตอซ
คิดค้นนำมาผลิตเสื้อกันฝนจำหน่ายในสก็อตแลนด์เป็นครั้งแรก จากนั้นใน
ปี พ.ศ. 2389 โทมัส แฮนค็อค ประดิษฐ์ยางตันสำหรับรถม้าทรงของพระนางเจ้าวิคตอเรีย
ซึ่งนั่นเป็นที่มาของการประดิษฐ์ล้อรถยนต์ได้สำเร็จในปี พ.ศ.
2438 เป็นการก้าวเข้าสู่ยุคการขนส่งการคมนาคมสมัยใหม่ และนำมาสู่อุตสาหกรรมยางทีมีบทบาทต่อมนุษย์โลกอย่างปัจจุบัน
สำหรับไทย ประเทศที่ยิ่งใหญ่ ของโลก ด้านอุตสาหกรรมยางระดับ “ต้นน้ำ”
ผลิตและส่งออกยางอันดับ 1 ของโลก หรือมากกว่า 3.5 ล้านตัน/ปี
หากย้อนรอยประวัติศาสตร์ก็นำต้นยางเข้ามาปลูกในเมืองไทยมีการสันนิษฐานว่าเริ่มเข้ามาในปี
2442-2444 หรือเมื่อ 113 ปีผ่านมาแล้ว โดยการนำเมล็ดยางพารามาปลูกใน
อ.กันตัง จ.ตรัง โดย คอซิมบี้ ณ ระนอง หรือ พระยารัษฎานุประดิษฐ์
มหิศรภักดี หรือ พระยาเทษาภิบาลมณฑลภูเก็ต ตำแหน่งในขณะนั้น ชาวบ้านสมัยนั้นเรียกต้นไม้ต้นนี้ว่า
“ต้นยางเทษา”
ปี 2444 พระยารัษฎาฯ
ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยางพาราทดแทนการทำเหมืองแร่ดีบุก นับจากนั้นต้นยางจึงได้ถูกขยายพันธุ์และกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ
เช่น ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และทั่ว 14 จังหวัดภาคใต้
พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี หรือ คอซิมบี้ ณ ระนอง
ผู้นำยางพาราต้นแรกเข้ามาปลูกในประเทศไทย
ก่อนจะได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งยางพาราไทย
|
ภายหลังปี 2454 หลวงราชไมตรี หรือ ปูม ปุณศรี
นำพันธุ์มาปลูกใน จ.จันทบุรี จากนั้นกระจายไปทั่วประเทศกว่า 18
ล้านไร่เยี่ยงปัจจุบัน
กลายเป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศ
ทั้งในรูปของวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ทุกชนิดมูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท/ปี
จากมูลค่ายาง 7 แสนล้าน
และเป้ารัฐบาลปัจจุบันโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของประเทศนี้จะผลักดันให้มูลค่ายางพาราสูงถึง
1 ล้านล้านบาทในปีหน้า ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าทำได้ไม่ยากหากหันไปให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์
จากเป้าอนาคตที่มีแนวโน้มเป็นจริง ผู้เขียนหวนกลับไปคิดถึงจุดเริ่มต้นของต้นยางพาราในเมืองไทย
ซึ่งข้อมูลที่รู้กันดีว่ายางต้นแรก อยู่ใน อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งน่าจะมีอายุมากกว่า
100 ปี คำถามคือ
ร่องรอยของต้นยางยุคแรกๆ นอกจากยางต้นแรกที่ถูกนำมาชูเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวฉิ่งฉับทัวร์ถ่ายรูป
มากกว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ของมัน หลงเหลืออยู่เพียงต้นเดียวจริงหรือ...???
ลุงขำ นุชิตศิริภัทรา |
“ต้นยางพาราต้นใหญ่กว่าต้นยางต้นแรกที่กันตัง
มีอยู่หลายแห่งใน จ.ตรัง ไม่ใช่มีต้นนั้นต้นเดียว มันสูงใหญ่และสมบูรณ์กว่าอีก
เขาสนใจแต่ต้นยางต้นแรกที่อุปโลกน์ขึ้น แต่มันยังมีอยู่อีกแต่ไม่มีใครสนใจ”
นายขำ นุชิตศิริภัทรา หรือ “ลุงขำ”
ที่คนในอาชีพสวนยางรู้จักกันดี เขาคือคนตรัง ประกอบอาชีพสวนยางมามากกว่าครึ่งชีวิต
มากแค่ไหนนะหรือ อายุ 73 ปี ของลุงขำ คือคำตอบ...!!!
ด้วยความที่เป็นคนตรัง
และยังทำสวนยางบนผืนแผ่นดินที่เป็นต้นกำเนิดของยางพาราไทย การอนุรักษ์และหวงแหนในคุณค่าของต้นยางจึงมีค่อนข้างสูงกว่าคนในจังหวัดอื่น
“ต้นยางต้นแรกตอนนี้มันไม่มีใครดูแล หักโค่น
จนเหลือต้นนิดเดียว มีเพียงป้ายที่เทศบาลนำมาติดว่าเป็นยางต้นแรก ยืนอยู่ริมถนน
คนผ่านไปผ่านมาเขาก็ไม่ค่อยสนใจ มีคนมาพูดผมก็อายแทน ต้องนำปุ๋ยไปใส่ทุกปี
ผมเคยบอกผู้ว่าฯ หลายคนว่ามันมีต้นยางรุ่นเดียวกันอีกหลายต้น ใน อ.กันตัง และ
อ.เมือง ที่สูงใหญ่กว่า และสถานที่เหมาะแก่การเป็นที่ท่องเที่ยวมากกว่า
แต่ผู้ว่าบอกว่ามันเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว จะแก้อะไรตอนนี้มันก็ยาก”
ด้วยความสนใจผู้เขียนจึงขอให้ลุงขำนำไปดูต้นยางต้นใหญ่รุ่นเดียวกับยางต้นแรก
พร้อมๆ กับการศึกษาร่องรอยของสวนยางในเมืองตรัง
ลุงขำตกปากรับคำเป็น “มักคุเทศก์” อย่างเต็มใจ เพราะนี่คือเรื่องที่ลุงอยากนำเสนอและประกาศให้คนทั้งประเทศรู้ว่าต้นยางรุ่นแรกไม่ใช่มีต้นเดียว และไม่ได้อยู่ที่ อ.กันตัง เท่านั้น
ลุงขำตกปากรับคำเป็น “มักคุเทศก์” อย่างเต็มใจ เพราะนี่คือเรื่องที่ลุงอยากนำเสนอและประกาศให้คนทั้งประเทศรู้ว่าต้นยางรุ่นแรกไม่ใช่มีต้นเดียว และไม่ได้อยู่ที่ อ.กันตัง เท่านั้น
สวนสาธารณะพระยารัษฎานุประดิษฐ์
มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)
สถานที่เริ่มต้น สวนพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี สวนสาธารณะกลางเมืองตรัง
เพื่อเคารพอนุสาวรีย์ พระยารัษฎาฯ
|
ลุงขำเริ่มต้นด้วยการนำผู้เขียนไปทานอาหารเช้ายอดฮิตขึ้นชื่อของเมืองตรัง
ไม่ว่าจะเป็น หมูย่างรสเด็ดจาก “ร้านพงษ์โอชา1” พร้อมข้าวต้ม ติ่มซำ และกาแฟโบราณ
แบบอิ่มแปล้ เพิ่มพลังงานก่อนเดินทางทัวร์
รายการอาหารเช้า บนโต๊ะจากร้านพงษ์โอชา
ก่อนเริ่มต้นตะลุยเมืองตรังตามรอยยางต้นแรก
|
สวนสาธารณะ
เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ปกคลุมทั่วทั้งบริเวณคือสวนสาธารณะกลางเมืองอันเป็นที่พักผ่อน
และออกกำลังกายยามเช้าเย็นของคนรักษ์สุขภาพในเมืองตรัง สวนสาธารณะแห่งนี้คือ
สวนสาธารณะ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)
ณ
ใจกลางสวนแห่งนี้ปรากฏรูปปั้นอนุสาวรีย์ชื่อเดียวกับสวนสาธารณะ รู้จักกันว่าท่านคือพ่อเมืองตรังในอดีตที่คนตรังเคารพบูชา
แต่น้อยรายนักที่จะรู้ว่าท่านคือ บิดาแห่งยางพาราไทย
“มาเมืองตรังต้องมาสักการะกราบไหว้พระยารัษฎาฯ
ก่อน” ลุงขำบอกก่อนจะนำผู้เขียนที่เป็นอาคันตุกะ ก่อนจะชี้ให้ดูต้นยางอายุราว 14-15 ปี ยืนตัวอยู่หลังอนุสาวรีย์ อันเป็นสัญลักษณ์ ของท่านและของเมืองตรัง
ยางพันธุ์ดี K.T. 311 ที่ลุงขำนำมาปลูกไว้
รอบอนุสาวรีย์พระยารัษฎาฯ จำนวน 9 ต้น อายุประมาณ 1 ปี
|
แต่เมื่อไม่นานมานี้ ลุงขำ ได้นำต้นยางพันธุ์ KT.311 อายุประมาณ 1 ปี ซึ่งเป็นพันธุ์ยางคุณภาพของลุงขำ มาปลูกไว้ด้านหลังอนุสาวรีย์ จำนวน 9 ต้น
“ผมคุยกับทางนายกเทศมนตรีนครตรังคนก่อน (ชาลี
กางอิ่ม) ว่าจะนำยางพันธุ์ดี พันธุ์ใหม่มาปลูก 9 ต้น เพื่อให้ดูเป็นตัวอย่าง
และอยากให้ผู้ว่า จ.ตรัง แต่ละคนปลูกต้นยางไว้เป็นที่ระลึกในสวนนี้” ลุงขำเผยความตั้งใจออกมา
ก่อนจะนำผู้เขียนไปดูต้นยางเก่าแก่อายุอานามรุ่นเดียวกับต้นยางต้นแรก และอยู่ห่างจากสวนสาธารณะแห่งนี้
800-900 เมตรเท่านั้น
สวนสาธารณะพระยารัษฎาฯ ลุงขำนำผู้เขียนมายังสวนสาธารณะอีกแห่ง
ซึ่งอยู่ใกล้กับวัดกะพังสุรินทร์ (พระอารามหลวง) วัดดังแห่งเมืองตรัง
และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของพุทธศาสนิกชน จากวัดเพียง
200 เมตร
ผู้เขียนและลุงขำก็ถึงสวนกะพังสุรินทร์ “ปอด” อีกแห่งของคนเมืองตรัง
เพราะที่นี่มีทั้งบึงขนาดใหญ่ และต้นไม้ขนาดใหญ่อายุหลายสิบปีแน่นอน
วัดกะพังสุรินทร์ (พระอารามหลวง) วัดดังแห่งเมืองตรัง
และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของพุทธศาสนิกชน
อยู่ก่อนถึงสวนกะพังสุรินทร์เพียง 200 เมตร
|
“สมัยก่อนที่นี่เป็นสวนของราษฎรทำสวนผลไม้แบบผสมผสาน
ตอนหลังกลายเป็นสวนสาธารณะ ต้นไม้ใหญ่ๆ เขาก็เก็บไว้ มีต้นไม้หลายชนิด มะม่วงป่า
จำปาดะ ปาล์มน้ำมัน มะขาม มะพร้าว ดูต้นมะพร้าวนี่ซิต้นไม้สูงปรี๊ดเป็นสิบๆ เมตร
แล้วก็มีต้นยางพาราขนาดใหญ่อายุนับร้อยปี” ลุงขำอธิบายปูพื้นอย่างละเอียด
ก่อนจะนำผู้เขียนไปดูต้นยางพาราขนาดใหญ่นั้น
ต้นยางขนาดสูงใหญ่ทำเอาผู้เขียนตกตะลึง
เพราะต้นมันใหญ่กว่าต้นยางต้นแรกที่อยู่ใน อ.กันตังมาก เมื่อเทียบกับชายชราวัย 73 ปี
ทำเอาลุงขำตัวเล็กกะจิ๊ดริดเลย ใหญ่ขนาด 2 คนโอบไม่มิดแน่ วัดเส้นรอบวงได้
3.30 เมตร
ดูความสูงใหญ่ของต้นยางพารา
ในสวนกะพังสุรินทร์ เมื่อเทียบกับลุงขำ
|
“เมื่อก่อนไม่มีใครรู้หรอกว่าเป็นต้นยาง
เพราะไม่มีใครสังเกต นึกว่าเป็นต้นไม้ป่าธรรมดา ต้นมันก็สูงมาก แต่พอมาดูจริงๆ
เอ้านี่มันต้นยางนี่ เพราะมีรอยกรีดยางเดิมให้เห็นร่อยรอยอยู่ แต่เมื่อก่อนเขากรีดกันแบบขวาไปซ้าย
พอรู้ว่าเป็นต้นยางก็มีคนมาลองกรีดดู ผมเดินดูทั่วสวนแล้วมีต้นยางอยู่ 15 ต้น”
ลุงขำสันนิษฐานว่าเป็นต้นยางพาราในสวนกะพังสุรินทร์แห่งนี้
เป็นยางอายุใกล้เคียงกับต้นยางที่พระยารัษฎาฯ นำเข้ามาปลูกครั้งแรก
โดยดูจากขนาดและความสูงใหญ่ของต้นยางนั่นเอง
“เมื่อก่อนพระยารัษฎาแนะนำให้ปลูกยางแบบสวนผสม
ไม่ใช่ปลูกยางอย่างเดียว มีทั้งมะพร้าว ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ จำปาดะ ละมุด
มะม่วงป่า แต่รุ่นหลังๆ ปลูกยางอย่างเดียว”
ลุงขำเล่าให้ฟังว่า คนเมืองตรังเองยังไม่รู้เลยว่ากลางเมืองมีต้นยางเก่าแก่รุ่นบุกเบิกของประเทศอยู่
เพราะส่วนใหญ่จะมุ่งเป้าไปที่ต้นยางต้นแรกที่อยู่ใน อ.กันตัง
ทั้งที่สวนสาธารณะกลางเมืองมีต้นยางขนาดสูงใหญ่ สมบูรณ์กว่า
และยังอยู่ในสวนสาธารณะที่เหมาะแก่การศึกษาต้นยาง เพราะมีความร่มรื่น น่าพักผ่อนกว่า
ต้นยางที่อยู่ในสวนกะพังสุรินทร์
ลุงขำกำลังผลักดันให้เป็นสถานที่ศึกษาประวัติยางพาราในประเทศ
เพราะมีความสมบูรณ์กว่ายางต้นแรกที่ อ.กันตัง และสถานที่สะดวกสบายกว่า
|
ต้นมะพร้าวสูงปรี๊ด ในสวนกะพังสุรินทร์
|
“ผมจะนำป้ายมาติด ร่มยาง ร่มเย็น” ลุงขำเผยความตั้งใจอีกครั้ง
ย้อนอดีตเมืองท่ากันตัง
แกะรอยต้นยางสวนในบ้านพักพระยารัษฎาฯ
ตึกแถวสถาปัตยกรรมโปรตุเกส ที่ยังพอมีหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง ใน กันตัง
|
จากตัวเมืองตรังลุงขำบอกว่าถ้าจะให้ครบสูตร
เราต้องไป อ.กันตัง เพราะที่นั่นมีต้นยางต้นแรกของประเทศไทย
และบ้านพักของพระยารัษฎาฯ ที่นั่นมีร่องรอยของต้นกำเนิดยางพาราที่น่าศึกษา...???
ระหว่างทางจากตัวเมืองตรังไป
อ.กันตัง ผู้เขียนสนทนากับลุงขำเรื่องยางในพื้นที่เพื่อฆ่าเวลา
พร้อมด้วยภาพประกอบที่มีใช้ชมอยู่สองข้างทาง
“สวนยางที่ตรังมันไม่ค่อยสวยเท่าไหร่
ต้นจะเอนโย้ไปเย้มา ไม่ตรงสวยเหมือนที่อื่น เพราะเกษตรกรเขาดูแลไม่ค่อยดีเท่าไหร่
โน่นแหนะเห็นไหม หรือไม่ก็ปลูกกันบนเขาเลย ยางมันชอบโตไวจริง ทาง จ.เลยที่เขาปลูกกันบนภูเขานั่นแหละคนใต้ทั้งนั้น
ที่เขาที่เนินยางมันชอบ” ลุงขำเล่าพร้อมเกร็ดความรู้
ก่อนจะหยุดรถโดยไม่บอกกล่าว
“นั่นแหละลงไปถ่ายรูปเลย”
ลุงขำโบ้ยปาก
“ดูอะไรครับลุง
มีแต่บ้านคน กับร้านค้า” ผู้เขียนสงสัย
“ก็ยางต้นแรกไง
นั่นไง”
“นี่หรือครับยางต้นแรก”
ผู้เขียนตะลึง เพราะสภาพของต้นยางผิดกับต้นยางที่อยู่ในสวนสาธารณะกะพังสุรินทร์อย่างสิ้นเชิง
เพราะแลดูจะตายมิตายแหล่ ขณะที่ต้นยางพาราต้นแรกก็อยู่ริมถนน
ขาดการดูแลในฐานะยางต้นแรก มีเพียงป้ายติดว่ายางต้นแรกเท่านั้น
การจะไปดูชมต้องจอดรถบนถนน ร้อนแดด เสี่ยงอันตราย
จะถ่ายรู้ต้องวิ่งข้ามถนนไปเกาะกลาง เสี่ยงอุบัติเหตุ และสภาพต้นยางก็ขาดการดูแล
“คนที่ผ่านไปมาก็ไม่ให้ความสำคัญ
พืชเกษตรสร้างเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของไทยมาอยู่ตรงนี้
มีคนเคยบอกกับผมว่าเหมือนเป็นการไม่ให้เกียรติต้นยางต้นแรก ผมฟังก็อายแทน
ผมต้องให้ลูกชาย (ภราดร นุชิตศิริภัทรา) เอาปุ๋ยมาใส่ทุกปี ผมเคยคุยกับผู้ว่าหลายคน
เขาบอกว่ามันเป็นประวัติศาสตร์แล้วโกขำเอ้ย ไปแก้ไม่ได้หรอก”
ผู้เขียนและลุงขำผ่านต้นยางต้นแรกของประเทศไปอย่างหดหู่...!!!
เต๋าเต้ยนึ่งบ๊วย เมนูเด็ด
มื้อกลางวัน
ที่ห้องอาหารริมน้ำ เมืองกันตัง
|
“ในอดีตกันตังเป็นเมืองท่าสำคัญ มีการค้าขายขนส่งสินค้ากันทางทะเล เตี่ยผมเมื่อก่อนก็ขนสินค้าไปขายเกาะหมาก หรือเกาะปีนัง ในแหลมมลายูหรือมาเลเซีย เมื่อก่อนมีรถไฟมาถึงท่าเรือเลย แต่เดี๋ยวนี้มีถนนหนทางรถไฟก็รื้อไป ท่าเรือก็เงียบเหงา มีแต่การขนส่งสินค้าแบบใช้เรือขนส่งสินค้า เดือนละ 1-2 ครั้ง สินค้าที่จะเป็นยางพาราและไม้ยางพาราแปรรูป หรือไม่ก็พวกแร่ถ่านหิน” ลุงขำนั่งเล่าย้อนอดีตความรุ่งเรือง
ภาพการคมนาคมทางน้ำ ณ ท่าเรือกันตัง
เห็นแล้วยังขลัง สะท้อนภาพอดีตยิ่งนัก
|
แต่ก็เป็นที่น่ายินดีที่วันนี้
จ.ตรังได้สร้างท่าเรือขนส่งสินค้าน้ำลึกชื่อว่าท่าเรือนาเกลือขนส่งสินค้าไปต่างประเทศห่างจากท่าเรือเก่าประมาณ
7 กิโลเมตร
และท่าเรือบ้านคลองสน เป็นท่าเรือท่องเที่ยว จอดเรือได้ 8 ลำ
รถ 300 คัน พร้อมจะเปิดอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้
แม้ว่าวันนี้ภาพเหล่านั้นจะหายไปแล้ว
แต่ก็ยังมีกลิ่นจางๆ ให้เห็นผ่านตึกรามบ้านช่องสถาปัตยกรรมโปรตุเกส
ที่ยังพอมีหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง และจากสถานีรถไฟกันตัง สถานีรถไฟเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ที่มีกลิ่นอายอดีตคละคลุ้ง ตัวอาคารเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวทรงปั้นหยาสีเหลืองมัสตาร์ด
ด้านหน้ามีมุขยื่น ตกแต่งมุมเสาด้วยลวดลายไม้ฉลุ
ประตูเป็นประตูไม้บานเฟี้ยมแบบเก่า ภายในมีเครื่องมือเครื่องใช้เก่าแก่ให้ชม
นายประพัฒน์ ไหมขาว
นายสถานีบอกว่าที่นี่มีอายุกว่า 100 ปี
กักเก็บเรื่องราวด้านโลจิสติกต์ในอดีตไว้มากมาย
แต่ปัจจุบันมีขบวนรถไฟจากกรุงเทพมายังสถานีเก่าแก่นี้เพียง 1 เที่ยวต่อวันเท่านั้น...!!!
ปัจจุบันมีรถไฟจากกรุงเทพมา
สถานีกันตังวันละ 1 เที่ยว
|
สถานที่อีกแห่งใน อ.กันตัง
ที่ลุงขำนำเสนอและย้ำว่าต้องไปให้ได้ ที่นั่นก็คือ พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์
มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) อดีตคือ บ้านพักของพระยารัษฎาฯ
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ห่างจากเทศบาลกันตังประมาณ 200 เมตร ตั้งอยู่ในถนนค่ายพิทักษ์
เป็นที่ตั้งของสถานที่ประวัติศาสตร์ที่สำคัญ คือ “จวนเก่าเจ้าเมืองตรัง”
หรือบ้านพักอดีตเจ้าเมืองตรังพระยารัษฎานุประดิษฐ์ เป็นเรือนไม้ 2
ชั้น
มีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งและเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของท่านอย่างครบถ้วน
โดยทายาทตระกูล ณ ระนอง เป็นผู้ดูแลรักษาเปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์
(ถ้าตรงกับวันหยุดราชการเปิดตามปกติ และหยุดชดเชยในวันต่อไป) เวลา 8.00
-16.30 น.
ภายในพิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯ
เก็บเครื่องมือเครื่องใช้ส่วนตัวของพระยารัษฎาฯ
ไว้อย่างครบถ้วนให้ศึกษากัน
|
ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯ
ซึ่งเป็นอีกสถานที่ที่ถูกลืม ไม่อยู่ในตารางของนักท่องเที่ยว
สังเกตได้จากนักท่องเที่ยวในแต่ละวันน้อยนิด
และคนเข้ามาบางครั้งก็ไม่รู้ว่าพระยารัษฎาฯ เป็นบุคคลสำคัญอย่างไร เพียงแค่รู้ว่าเป็นพ่อเมืองตรังเท่านั้น
ที่สำคัญภายในยังมีต้นยางพาราขนาดใหญ่ที่พระยารัษฎาฯ
ปลูกไว้อยู่หลายต้นควรค่าแก่การอนุรักษ์ยิ่ง
หุ่นขี้ผึ้งพระยารัษฎาฯ
|
แต่ถ้าต้องการให้ครบสูตรก็ต้องมากันตังด้วย
มาดูต้นยางต้นแรกให้เห็นสภาพกับตา และดูบรรยากาศความเก่าแก่ของเมืองท่ากันตัง
ที่สะท้อนออกมาทางสถาปัตยกรรม เช่น บ้านเรือน และสถานีรถไฟกันตัง
และก็อย่าลืมตบท้ายด้วยเข้าชมพิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯ บิดาแห่งยางพาราไทย
ว่ากันว่าอุตสาหกรรมยางพาราไทยกว่า 7 แสนล้านบาท/ ปี ท่านคือผู้สร้างจุดเริ่มต้น
นอกจากนั้นลุงขำในฐานะคนตรังยังแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวโด่งดังระดับโลกของเมืองตรังคือ
งานวิวาห์ใต้สมุทร ที่เกาะมุก จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งมีนายสุรินทร์
โตทับเที่ยง รองประธานหอการค้าไทยเป็นผู้บุกเบิก และยังมีงานเทศกาลอาหารให้ได้เที่ยวกันตลอดทั้งปี
เช่น เทศกาลกินหมูย่างเมืองตรัง เทศกาลกินเจ เทศกาลหอยตะเภา และเทศกาลขนมเค้ก
เป็นต้น
ขอขอบคุณ
นายขำ นุชิตศิริภัทรา โทรศัพท์ 08-1979-9999
ไม่มีความคิดเห็น