ภาพสวนยางปัจจุบัน
แลดูร่มรื่นชุ่มชื้นกว่าสมัยทำไร่สับปะรด ว่ากันว่าถ้ามีการปลูกสร้างสวนยางมากๆ
จะเป็นแม่เหล็กดูดความชื้นและฝน อากาศแล้งจัดอาจจะละลายหายไปจากพื้นที่แห่งนี้ก็เป็นได้
|
“ทำไมประจวบฯ
มันแล้งจริงๆ” เจ้าของสวนยางรายหนึ่งใน จ.ประจวบคีรีขันธ์
เคยรำพึงรำพันอย่างนี้ ซึ่งเป็นกระจกสะท้อนว่าที่นี่ประสบปัญหาเรื่องแล้ง...!!!
คำถามก็คือแล้งๆ อย่างนี้แต่ทำไมสวนยางในจังหวัดที่ยาวและแคบที่สุดของประเทศจึงมีอัตราการขยายพื้นที่ปลูกอย่างรวดเร็ว...???
หรือเกษตรกรที่นี่จะมีเทคนิคพิเศษปลูกสร้างสวนยางสู้ภัยแล้ง...!!!
คำตอบก็คือ “ใช่” เกษตรกรที่นี่เขามีเทคนิคการสร้างสวนยางอย่างมีระบบเพื่อเอาชนะข้อจำกัดเรื่องภัยแล้งในพื้นที่
โดยเฉพาะในเขตสวนยางใหม่
ตัวช่วยที่ถือเป็นพระเอกก็คือ
ระบบน้ำ และสับปะรด...!!!
วิธีการเขาทำกันอย่างไร ผู้เขียนมีตัวอย่างเทคนิคสู้ภัยแล้งจากเกษตรกร ในพื้นที่
อ.สามร้อยยอดมาให้ชม
พงศกร ปัญญาสร้างสรรค์ เจ้าของสวนยาง 250 ไร่ ใน อ.สามร้อยยอด ผู้เขียนเคยนำเสนอเทคนิคการสร้างสวนยางของเขาไปแล้ว
(อ่านเทคนิคปลูกยางอินทรีย์ 250 ไร่ 4.5 ปีกรีด เตรียมโกยเงิน 75,000 บาท/วัน ฉบับ 9/1/2554) แม้จะเป็นชาวสวนยางมือใหม่
เพิ่มเปิดกรีดได้ประมาณ 2 ปีเท่านั้น
แต่ด้วยการศึกษาเรื่องยางอย่างจริงจัง
เขาจึงมีองค์ความรู้เกินประสบการณ์อย่างไม่น่าเชื่อ
พิสูจน์ได้จากสภาพต้นยางและระบบการจัดการภายในสวน
โดยเฉพาะเทคนิคเพื่อสู้กับข้อจำกัดของพื้นที่อย่างภัยแล้ง...!!!
แต่ปัจจัยในการพิจารณาพื้นที่ปลูกยาง
พงศกรให้ข้อมูลว่า ก่อนจะตัดสินใจปลูกต้องดูภาพรวมของสภาพพื้นที่ว่าดินมีความสมบูรณ์มากหรือน้อย
ถ้าสมบูรณ์น้อยแต่พอจะฟื้นฟูดินได้หรือไม่ หรือดูง่ายๆ
จากพืชหลักที่เคยปลูกอยู่ก่อนอย่าง สับปะรด ถ้าปลูกสับปะรดงาม ก็ปลูกยางได้แน่นอน
แต่หากพื้นที่ตรงไหนที่ปลูกสับปะรดได้ผลผลิตน้อยไม่งาม
ก็ไม่ควรปลูกยาง เพราะต่อให้ต้นยางรอด ผลผลิตก็ได้น้อยอยู่ดี
ระบบน้ำคือหัวใจ
สู้ภัยแล้งในสวนยาง
นับตั้งแต่พงศกรตัดสินใจโค่นสวนขนุน 200 ไร่
และพื้นที่ปลูกสับปะรดบางส่วนเพื่อสร้างสวนยางเมื่อ 5-6
ปีก่อน สิ่งแรกที่เขาทำคือการขุดสระกักเก็บน้ำขึ้นภายในพื้นที่ที่ 2 บ่อ ขนาด 1 ไร่(บ่อน้ำซึม) และ 10 ไร่ (บ่อน้ำฝน) เพื่อใช้ในสวนยางในช่องที่อากาศแล้งยาวๆ
แต่วันนี้สวนยาง 250 ไร่ ได้วางระบบน้ำไว้โดยรอบด้วยระบบสปริงเกลอร์ วิธีการคือ
สูบน้ำจากบ่อ 10 ไร่ ซึ่งอยู่ในจุดที่ต่ำที่สุดของสวน
ขึ้นมาบนเนินเขาเหนือสวนระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร
แล้วปล่อยให้น้ำไหลตามแรงโน้มถ่วง โดยไม่ต้องมีแทงก์เก็บ น้ำจะไหลลงมาด้านล่างรดต้นยางตามธรรมชาติ
เป็นเทคนิคที่ช่วยในการประหยัดน้ำมันปั่นเครื่องสูบน้ำได้อีกทางหนึ่ง ส่วนสวนยางที่อยู่ในพื้นที่ราบก็ใช้เครื่องสูบน้ำรดผ่านระบบสปริงเกลอร์ธรรมดา
แต่เขาก็ต้องลงทุนระบบน้ำไปหลักล้านบาท
เทคนิคการให้น้ำแบบประหยัดน้ำมันของพงศกรคือ
การสูบน้ำจากบ่อด้านล้างขึ้นตามท่อมาบริเวณเชิงเขา จากนั้นจะปล่อยให้น้ำไหลตามท่อน้ำลงไปลดต้นยางด้านล่าง |
ช่วงเวลาของการให้น้ำสวนยางพงศกรให้ข้อมูลว่า
จะให้ช่วงระหว่างฝนชุดที่ 1 กับชุดที่ 2 โดยพิจารณาว่าถ้าหมดฝนชุดที่ 1 แล้วความชื้นเริ่มจะน้อยลง
แต่ฝนชุดที่ 2 ไม่มาสักที
ก็ให้น้ำเพิ่มกับต้นยางเพื่อรอฝนชุดที่ 2
ทำให้น้ำปริมาณน้ำยางค่อนข้างนิ่ง แม้จะเผชิญอากาศแล้งก็ตาม
การวางระบบน้ำยังทำให้การจัดการสวนยางทำได้ง่าย
โดยเฉพาะการให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำได้ด้วยในช่วงแล้งก่อนเปิดกรีด โดยไม่ต้องใช้แรงงานมาก
และยังใช้ยาฆ่าหญ้าในขั้นตอนนี้ได้ด้วย เรียกได้ว่ารดน้ำครั้งเดียวทำให้ทั้งให้น้ำ
ให้ปุ๋ย และกำจัดวัชพืชในครั้งเดียว
เจ้าของสวนยาง 250 ไร่ อธิบายรายละเอียดเรื่องนี้ว่า
ระบบน้ำในสวนยางจะมี 2 ระบบ คือ หัวสปริงเกลอร์ยิงไกล และสปริงเกลอร์แบบปีกผีเสื้อ ระบบหลังนี่แหละที่เข้าใช้ในสวนยางเปิดกรีด
ซึ่งสปริงเกลอร์จะวางไว้ตรงกลางระหว่างแถวยาง รัศมีของน้ำจะไปไม่ถึงโคนต้นยาง ทำให้สามารถเดินทำงานได้ไม่เฉอะแฉะ
และเชื้อราจากน้ำก็ไม่เกิดกับต้นยาง
ระบบน้ำสปริงเกลอร์แบบยิงไกล 3-5 เมตร
เป็นระบบหนึ่งที่พงศกรใช้ให้น้ำในสวนยางอายุ 2-3 ปี
ในช่วงหน้าแล้งหรือฝนทิ้งช่วงยาว
|
“การให้ปุ๋ยอย่างช่วงต้นฝนเราต้องการคอนโทรลให้ต้นยางแตกใบ ไม่ออกดอก ก็ใช้ปุ๋ย 46-0-0 ผสมเข้าไปกับระบบน้ำ แต่ก่อนหน้านั้นต้องอัดน้ำให้ชุ่มให้รากฝอยเริ่มแตกสมบูรณ์ เพราะธรรมชาติของต้นยางเมื่อแล้งต้นจะคิดว่าอาจจะตายจึงพยายามจะขยายพันธุ์จึงออกดอกออกลูก บางทีไม่มีใบ แตกช่อดอกเลย เพราะฉะนั้นก่อนที่ต้นยางจะแตกดอกเราต้องรีบอัดยูเรีย ต้นยางจะแตกใบ และใบชุดนี้จะไม่เจอฝนกรดให้เสียหาย และสามารถเปิดกรีดได้ก่อน”
ในทุกครั้งที่มีการให้น้ำต้นยางเขาจะผสมปุ๋ยน้ำหมักหอยเชอรี่ที่หมักกับ
สารพด.2 ด้วยทุกครั้ง
เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ให้ต้นยางอีกทาง และยังใช้ยาฆ่าหญ่าในกลุ่มพาราคว็อต (กรัมม็อกโซน)
พร้อมกันได้
ซึ่งเขาบอกว่าปุ๋ยหมักเป็นตัวเพิ่มประสิทธิภาพให้ยาฆ่าหญ้าทำงานได้ดีขึ้น
“การผสมยาฆ่าหญ้าโดยทั่วไปจะใส่ 3-4 ลิตร/น้ำ 1,000 ลิตร แต่ของผมจะใส่แค่ลิตรครึ่ง แต่เราบวกหอยเชอรี่หมักไป 1 แกลลอน ตัวหอยเชอรี่หมักจะไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาฆ่าหญ้ามากยิ่งขึ้น เหมือนหญ้าเปิดปากใบที่จะรับปุ๋ยหมัก แต่ดันไปโดนยาฆ่าหญ้า ซึ่งยาฆ่าหญ้าจะไม่มีปัญหากับรากยาง เพราะพาราควอต พอตกลงดินก็หมดฤทธิ์ เพราะเป็นยาประเภทเผาไหม้ ไม่ใช่ยาดูดซึม”
“การผสมยาฆ่าหญ้าโดยทั่วไปจะใส่ 3-4 ลิตร/น้ำ 1,000 ลิตร แต่ของผมจะใส่แค่ลิตรครึ่ง แต่เราบวกหอยเชอรี่หมักไป 1 แกลลอน ตัวหอยเชอรี่หมักจะไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาฆ่าหญ้ามากยิ่งขึ้น เหมือนหญ้าเปิดปากใบที่จะรับปุ๋ยหมัก แต่ดันไปโดนยาฆ่าหญ้า ซึ่งยาฆ่าหญ้าจะไม่มีปัญหากับรากยาง เพราะพาราควอต พอตกลงดินก็หมดฤทธิ์ เพราะเป็นยาประเภทเผาไหม้ ไม่ใช่ยาดูดซึม”
สับปะรด
พืชตัวเด่น ช่วยควบคุมความชื้น และเป็นปุ๋ยให้สวนยาง
เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วกันแล้วว่าสับปะรดเป็นพืชแซมที่ดีในสวนยางในช่วงปลูกยางใหม่
แต่อายุของสับปะรดจะอยู่ได้ประมาณ 3-4 ปี ต้นก็จะเริ่มหมดอายุ ขณะเดียวกันต้นยางก็เริ่มโตจนสับปะรดถูกบดบังแสง
ช่วงนี้เกษตรกรส่วนใหญ่จะไม่สนใจจะปล่อยทิ้งเพราะสับปะรดไม่ได้ผลผลิต
อาจจะปั่นทิ้งให้เป็นปุ๋ยในสวนยาง
ภาพนี้เป็นเทคนิคการปลูกสับปะรดรุ่น
2 ในสวนยางอายุ 3-4 ปี จะเห็นว่าสับปะรดเป็นตัวรักษาความชื้นในดิน
ขณะที่ซากสับปะรดก็ย่อยเป็นอินทรียวัตถุบำรุงดินและเป็นอาหารต้นยางไปในตัว
|
“ช่วงรอยต่อนี้สำคัญ” พงศกรบอกอย่างนั้น พร้อมขยายความว่า
เมื่อสับปะรดหมดอายุต้นยางจะอายุประมาณ 3-4 ปี เหลือ 2-3 ปี
จึงจะเปิดกรีดได้
ช่วงนี้เกษตรกรมักจะปล่อยทิ้งไม่ได้มาดูแลพัฒนาสวนยางเหมือนตอนที่มีสับปะรดอยู่
วัชพืชขึ้น ต้นยางทรุดโทรม ดินตาย ยิ่งถ้าเจออากาศแล้งด้วยแล้ว ต้นยางก็อาจตายได้
วิธีการของสวนแห่งนี้คือ ต่อยอดช่องว่างนี้ด้วยวิธีปลูกสับปะรดใหม่อีกรุ่น
แต่ปลูกให้ห่างขึ้น จาก 5 แถว เหลือเพียง 3 แถว เพื่อคลุมความชื้นหน้าดินในสวนยาง ส่วนซากสับปะรดที่เหลือก็ปล่อยให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยบริเวณรอบๆ
ต้น แต่ต้องไม่ทับถมกันแน่นจนเกิดกรดแก๊ส ต้นสับปะรดก็จะค่อยๆ ย่อยสลายไปเอง ในขณะเดียวกันยังสามารถเก็บความชื้นให้กับหน้าดินได้
และไม่มีวัชพืชขึ้น
“ตรงนี้เราไม่ได้หวังเอาผลผลิตจากสับปะรด
แต่ต้องการรักษาความชื้น บำรุงดินและเพิ่มอาหารให้ต้นยาง ซากสับปะรดเราก็เร่งการย่อยโดยใช้ปุ๋ยน้ำจุลินทรีย์รด
ในขณะเดียวกันก็ไม่มีวัชพืชเกิด ดินดีขึ้น ดินนุ่มขึ้น มีที่อยู่อาศัยของรากฝอย
“ประเด็นหลักคือทำอย่างไรก็แล้วแต่ ให้มีพืชคลุมดินให้เยอะที่สุดเพราะบ้านเรามันแล้ง
ความชื้นน้อย พอฝนตกหรือรดน้ำก็จะเก็บความชื้นไว้ได้นาน แต่ถ้าเราปล่อยโล่งๆ
รดวันนี้พรุ่งนี้ก็แห้ง ไม่มีประโยชน์ กลับกับทางภาคใต้ต้องปล่อยให้โล่งเตียน
เพื่อไม่ให้มีความชื้นจนเกิดไป เพราะมีความชื้นตลอด แต่ของเราต้องช่วยสะสมความชื้น”
ระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์วางตรงกลางร่องยาง
ใช้ให้น้ำในช่วงรอยต่อระหว่างฝนชุดแรกกับชุดสอง ข้อดีนอกจากจะทำให้ต้นยางให้น้ำยางคงที่แล้ว
เขายังให้ปุ๋ยทั้งเคมีและอินทรีย์ รวมทั้งยาฆ่าหญ้าไปพร้อมๆ กันเลย
|
เปิดกรีดต้นยางไม่ถึง
50
ซ.ม.แต่มีเทคนิคไม่ให้กระทบต้นยาง
ส่วนการเริ่มต้นเปิดกรีดพงศกรย้อนให้ฟังว่า
การเปิดกรีดของพื้นที่นี้จะยึดเอาตามหลักของกรมวิชาการไม่ได้...!!!
เพราะหากจะรอให้ต้นยางเส้นรอบวง 50 ซ.ม. สภาพอากาศแล้งๆ
ในโซนนี้ทำให้ต้นยางโตช้า “ถ้าทำตามกรมวิชาการเกษตร รอ 8 ปีก็ไม่ได้ ที่นี่ฝนตก 4-6 เดือน ที่เหลือไม่มีฝนเลย
ถ้าดูแลไม่ดีรากก็ไม่เดิน โตก็ไม่โต
“เมื่ออายุมันถึงแล้วท่อน้ำยางเปิดแล้ว
แต่ขนาดลำต้นมันไม่ใหญ่เท่าที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด เราก็กรีดได้ วิธีการคือ
แบ่งเป็น 3 ส่วน
ช่วงที่กรีดหน้าแรก หน้าที่เหลือก็ได้เจริญเติบโตไปด้วย”
เมื่อเริ่มเปิดกรีดต้องพิจารณาว่าปริมาณน้ำยางขนาดไหน
จึงจะเริ่มทำยางแผ่นได้ เขาแนะนำว่าน้ำยางต้องได้ค่าเฉลี่ย 50
ซีซี/ถ้วยจึงจะทำยางแผ่นได้ ซึ่งคำนวณจาก 70
ต้น/ไร่ ถ้าได้ต้นละ 50 ซีซี ก็จะได้น้ำยาง 3.5 ลิตร/ไร่ สามารถทำยางแผ่นได้ 1 แผ่น
พัฒนาฝีมือแรงงาน
สร้างสวนยางเชิงคุณภาพ
ปัญหาแรงงานเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่มีสำคัญในพื้นที่สวนยางใหม่
เพราะสวนยางใหม่น้ำยางย่อมน้อย ยิ่งมาเจออากาศแล้งน้ำยางจะลด เมื่อแบ่งผลประโยชน์แล้วปรากฏว่าคนงานอาจจะได้ผลตอบแทนน้อย
และอยู่ไม่ได้ต้องไปหาพื้นที่อื่น
แต่ในส่วนของพงศกรเขาใช้วิธีปั้นแรงงานฝีมือของเขาเอง
“ผมพยายามให้ลูกน้องกรีดยางฝีมือ เพราะต้องการสร้างแรงงานรองรับในสวน
เพราะสวนยางมีปัญหาเรื่องแรงงานมาก เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นสวนยางใหม่
ต้นยางอายุยังน้อย เฉลี่ยได้น้ำยาง 1 แผ่น หรือ 1.5 แผ่น/ไร่
น้ำยางยังน้อยเพราะสภาพอากาศและความชื้นน้อย ระยะเวลากรีดอยู่ที่ 6-8 เดือน ถ้าเราไม่เตรียมการวางแผนที่ดีจำทำให้เสียโอกาส
เมื่อน้ำยางน้อยแรงงานก็จะอยู่ไม่ได้ ไม่เหมือนอยู่ทางใต้ที่ทุกอย่างเอื้ออำนวย
“แต่มีอยู่ที่นี่น้ำยางได้น้อย ส่วนแบ่งก็ได้น้อย
ไหนจะต้องลงทุนปุ๋ยและอุปกรณ์ต่างๆ ร่วมกับเถ้าแก่ ต้นทุนเขาสูงขึ้นแรงงานก็จะหนี
ผมก็คิดว่าตราบใดที่ไม่ได้ยาง 3 แผ่น/ไร่ ผมจะไม่จ้างแรงงาน เพราะถ้าจ้างก็จะเจอสภาพแบบนี้
คนงานอยู่ไม่ได้ ที่อยู่ได้จริงๆ คือพวกมือใหม่ ตอนนี้เราจึงต้องสร้างคนของเราเอง
ให้อายุต้นยางสัก 10 ปี ก็น่าจะจ้างได้”
พงศกรจะนำคนงานเก่าที่เคยทำงานในสวนขนุนและสับปะรดของเขามาฝึกและพัฒนาฝีมืองานสวนยาง
จากเดิมคนงานเหล่านี้สับปะรดได้วันละ 200 บาท เมื่อนำมาฝึกก็คัดเลือกว่าคนไหนที่มีทักษะมากรีดยางและให้เขากรีดอย่างเดียว
ส่วนคนที่ไม่มีฝีมือให้ทำงานเก็บน้ำยางและทำยางแผ่น ตอนบ่ายจัดการสวนยาง
“เพราะงานกรีดยางหาคนมีฝีมือยาก
เราต้องให้เขากรีดยางโดยเฉพาะ ถ้ากรีดเก่งๆ ให้ 400 บาท/วัน
ส่วนแรงงานเก็บและทำยางแผ่นวันละ 300 บาท 1 ครอบครัวก็ 700 บาท/วัน
และเมื่อถึงวันที่น้ำยางมีปริมาณมากพอที่จะจ้างแรงงานถาวรเราก็ให้โอกาสเขาว่าจะทำระบบสัดส่วนหรือรายวัน”
ทำสวนยางให้ประสบความสำเร็จ
เจ้าของสวนต้องลงมาลุยเอง
“เจ้าของสวนต้องทำตัวเหมือนเจ้าของไร่สับปะรด” เจ้าของสวนยาง 250 ไร่ แนะนำ ก่อนจะขยายความหมาย
ว่า เจ้าของสวนยางจะประสบความสำเร็จได้ต้องรู้วิธีการทุกอย่าง และต้องเป็นคนวางงานในสวนยาง
“เวลานี้เจ้าของสวนเหนื่อยท้อที่จะหาคนงานจึงใช้วิธีผูกมัดคนงาน
ให้เขารับเหมาจัดการสวนยางไปเต็ม แต่แบ่งผลตอบแทนระบบสัดส่วน
ขออย่างเดียวรู้ว่าได้กี่แผ่นเท่านั้นเอง ระบบนี้เป็นความคิดที่ผิด
เพราะแรงงานที่มากรีดยางให้เราเขาจะเก็บแต่ผลประโยชน์อย่างเดียว
ไม่มีการบำรุงดูแลสวนยาง เพราะเราไม่ได้วางแผนงานให้เขา
“แต่ของผมมีคนงานที่เขาปลูกมากับมือ
เห็นคุณค่าของต้นยาง เราจ้างเขาตั้งแต่ปลูกถึงตอนกรีดและเราก็สอนเขา
เขาจะรักต้นยางมากกว่าคนงานที่มาจากที่อื่น
และถ้าการบริหารจัดการไม่ดีไม่มีการแบ่งคนงานทำหน้าที่ ให้เขารับผิดชอบทั้งหมด
กรีดยาง เก็บน้ำยาง ทำยางแผ่น เสร็จก็เหนื่อยไม่มีแรงจะไปดูแลจัดการสวนยาง
เมื่อธรรมชาติไม่เติมสวนยางก็เสียหายเพราะไม่ได้ดูแล”
“ถ้าให้ประสบความสำเร็จเจ้าของสวนต้องเข้ามาควบคุมดูแลจัดการอย่างมีระบบ
ไม่ใช้ให้คนงานรับผิดชอบทั้งหมด สุดท้ายผลผลิตไม่ดีเขาก็ย้ายสวน ยิ่งถ้าเจ้าของสวนก็ทำไม่เป็นก็จบ” พงศกรย้ำ
สรุปเทคนิคการสร้างสวนยางในพื้นที่แล้ง
1. ก่อนปลูกตัดสินใจปลูกต้องพิจารณาความสมบูรณ์ของพื้นที่ว่ามากหรือน้อย
และพอฟื้นฟูดินได้หรือไม่ โดยดูจากพืชหลักที่เคยปลูกเช่น สับปะรด เป็นต้น
2.
ต้องมีแหล่งน้ำ ในช่วงหน้าแล้ง “เราไม่ได้หวังว่าจะรถให้ชุ่มเหมือนฝนตก
อาศัยแค่ประคองในช่วงที่แล้งจัดๆ หรือในช่วงที่เราต้องการความชื้นเพื่อให้ปุ๋ย
เพื่อให้ต้นยางดูดปุ๋ยไปเลี้ยงต้นได้ หรือในช่วงเปิดกรีดแล้วเกิดแล้ว
ปริมาณน้ำยางเริ่มลด ถ้าเราปล่อยไว้เดี๋ยวใบร่วง เราก็ต้องมีน้ำให้ช่วงนี้เพื่อรอฝนชุดใหม่
ปริมาณผลผลิตจะคงที่”
น้ำยังช่วยให้ต้นยางแตกใบอ่อนก่อน สามารถเปิดกรีดได้ก่อน
และยืดเวลาการกรีดจาก 8 เดือน เป็น 10
เดือน/ปีได้
3. หาเทคนิควิธีรักษาความชื้นในสวนยางให้นานที่สุด
ทีเด็ดก็คือสับปะรด
ขอขอบคุณ
พงศกร ปัญญาสร้างสรรค์
ต.ไร่เก่า อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ โทรศัพท์
08-6168-3939
จาก "ยางเศรษฐกิจ" ฉบับที่ 17 ประจำเดือนสิงหาคม 2555
วางระบบน้ำแบบน้ำหยดในช่วงยางเล็ก
|
สภาพความสมบูรณ์ของดินในสวนยางของพงศกร
ที่เกิดจาการดูแลเป็นอย่างดี โดยมีปุ๋ยพืชสดจากสับปะรดที่เกิดการย่อยสลาย
ใส่ปุ๋ยคอก ดินจึ่งนุ่มรากฝอยยางเดินสะดวก ต้นยองของเขาจึงสมบูรณ์แม้อากาศจะแล้งก็ตาม
|
ภาพนี้เป็นเทคนิคการปลูกสับปะรดรุ่น
2 ในสวนยางอายุ 3-4 ปี จะเห็นว่าสับปะรดเป็นตัวรักษาความชื้นในดิน
ขณะที่ซากสับปะรดก็ย่อยเป็นอินทรียวัตถุบำรุงดินและเป็นอาหารต้นยางไปในตัว
|
เครื่องยนต์สำหรับสูบน้ำจากบ่อพื้นที่
10 ไร่
เพื่อนำไปใช้รดน้ำสวนยางในช่วงอากาศร้อน และฝนทิ้งช่วง
|
ภาพสวนยางในช่วงที่เพิ่งปลูกยางใหม่
เขาบอกว่าถ้าลองปล่อยให้เป็นพื้นที่ว่างๆ อย่างนี้ ถ้าเจอภาวะแล้งยาวๆ มีหวังต้นยางไม่รอดแน่
ทางแก้ก็คือ ปลูกสับปะรดเป็นพืชคลุมดิน
|
บ่อน้ำขนาด 10 ไร่
มีน้ำตลอดทั้งปี
|
ไม่มีความคิดเห็น