เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2555 สกย.เดินหน้าเป็นต้นแบบหน่วยงานรัฐแห่งแรก
ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับ 2 ธนาคารชั้นนำทั้งกรุงไทยและทีเอ็มบี
นำนวัตกรรมการให้บริการรับชำระเงิน Cess ทางอิเล็กทรอนิกส์
เพื่อเพิ่มช่องทางการชำระเงินแก่ผู้ส่งออกยางนอกราชอาณาจักรมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม
โดยจะเปิดระบบอย่างเป็นทางการในต้นปี พ.ศ.2556 ตามโครงการพัฒนาระบบรับชำระเงินสงเคราะห์ทางอิเล็กทรอนิกส์และเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของกรมศุลกากรผ่านระบบ
National Single Window (NSW) ย้ำ มั่นใจระบบนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ
และช่วยลดต้นทุน เวลาแก่ผู้ประกอบการ ตลอดจนลดโลกร้อนจากระบบไร้กระดาษ
นายวิทย์ ประทักษ์ใจ
ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง
(สกย.) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก โดยการจัดเก็บค่าธรรมเนียมส่งยางออกนอกราชอาณาจักร
หรือที่เรียกกันว่าเงินสงเคราะห์ (Cess) ที่ผ่านมา (14 พฤษภาคม 2553) สกย.ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกับกรมศุลกากร
ในการดำเนินการจัดตั้ง National Single Window หรือ NSW
โดยให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องด้านนำเข้า-ส่งออกทั้ง 36 หน่วยงาน ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลจากแผนยุทธศาสตร์ พ.ศ.2550-2554 ในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ (e-logistics) เพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการในการทำธุรกรรม
และพัฒนาระบบให้เป็นศูนย์กลางสำหรับการให้บริการเพื่อการนำเข้า – ส่งออก และโลจิสติกส์ (Single Window Entry) ที่จะเชื่อมต่อไปยัง
ASEAN Single Window (ASW) กับประเทศสมาชิกในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
(AEC) ต่อไป
สกย.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการจัดเก็บและออกใบรับเงินสงเคราะห์
จึงเร่งผลักดันและทำโครงการพัฒนาระบบรับชำระเงินสงเคราะห์ทางอิเล็กทรอนิกส์
เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในการส่งยางออกนอกราชอาณาจักร
โดยได้รับความร่วมมือจากธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ NSW ให้บริการรับหักเงินสงเคราะห์ทางอิเล็กทรอนิกส์ในครั้งนี้ ได้แก่
ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ และ ทีเอ็มบี ซึ่งกระทรวงการคลังถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ
25 ตามระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
เข้าร่วมเป็นธนาคารรับชำระเงินสงเคราะห์ ในการเชื่อมโยงข้อมูล
และแลกเปลี่ยนข้อมูลการชำระเงินสงเคราะห์ทางอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่าง สกย. – ผู้ส่งยางออก หรือตัวแทนออกของ –
ธนาคาร ผ่านระบบ NSW ของกรมศุลกากร โดยระบบ NSW
จะช่วยลดระยะเวลาในการเดินเอกสาร ลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรม และลดจำนวนเอกสารแบบฟอร์มที่ใช้เป็นระบบไร้กระดาษ
(Paperless) ตลอดจน เป็นการเพิ่มศักยภาพในการจัดเก็บเงินสงเคราะห์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทำให้ระบบการทำงานมีความรวดเร็วและป้องกันความผิดพลาดได้มากยิ่งขึ้น ตั้งแต่กระบวนการรับชำระเงินสงเคราะห์
กระบวนการตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบการยื่นผ่านระบบ เช่น ข้อมูลผู้ประกอบการ
ข้อมูลยางพาราที่ต้องการส่งออก (ชนิดยาง น้ำหนัก พิกัดสินค้า)
จำนวนเงินสงเคราะห์ที่ผู้ประกอบการต้องชำระ
นายวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการในระยะแรก สกย.
จะสามารถเปิดให้บริการรับชำระเงินสงเคราะห์ทางอิเล็กทรอนิกส์ในเวลาราชการ
โดยคาดว่าจะเปิดใช้ระบบอย่างเป็นทางการในต้นปี พ.ศ. 2556 ในระหว่างนี้ อยู่ในช่วงการทดสอบระบบการให้บริการ
โดยมีบริษัทผู้ส่งออกยางพาราชั้นนำร่วมนำร่องทดสอบระบบ อาทิ บ.ไทยฮั้วยางพารา จำกัด
(มหาชน) บ.สหพารารับเบอร์ จำกัด บ.โอเรียลตัล รับเบอร์ โปรดักส์ จำกัด และบ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี
จำกัด (มหาชน) และในปีพ.ศ. 2557 สกย.ได้วางแผนจะเปิดให้บริการระบบตลอด 24 ชั่วโมง ทั้ง 7 วัน
ทั้งนี้ “สกย. ถือเป็นต้นแบบการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจรระหว่าง
รัฐต่อรัฐ รัฐต่อธุรกิจ และธุรกิจต่อธุรกิจ
ซึ่งเป็นองค์กรรัฐแห่งแรกที่ได้ดำเนินการตามหลักการของโครงการพัฒนาระบบรับชำระเงินสงเคราะห์ทางอิเล็กทรอนิกส์และเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
ของกรมศุลกากรผ่านระบบ National Single Window (NSW) ได้สำเร็จและเป็นรูปธรรม” นายวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย
คุณธีรินทร์ เต่าทอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารกลุ่มรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และโครงการภาครัฐ
บมจ.ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในฐานะผู้ให้บริการทางการเงินแก่องค์กรภาครัฐทั้งหน่วยงานราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ
มาเป็นระยะเวลานาน ความร่วมมือกับ สกย.ในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่ธนาคารได้รับความไว้วางใจจาก
สกย.
ด้วยความมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการส่งออกยางตามวัตถุประสงค์ของ
สกย. ด้วยการพัฒนาช่องทางรับชำระเงินสงเคราะห์ ผ่านช่องทาง Electronic Banking บนระบบหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ ซึ่งเป็นบริการที่มีความปลอดภ้ยตามมาตรฐานสากล
สามารถทำธุรกรรมได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนั้นธนาคารกรุงไทยได้พัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของการเชื่อมต่อข้อมูลการชำระเงินสงเคราะห์กับ
NSW ของกรมศุลกากร
เพื่อให้กระบวนการดำเนินธุรกรรมชำระเงินสงเคราะห์ของผู้ส่งออกยางตั้งแต่เริ่มต้นจนจบขั้นตอนอยู่ในรูปแบบไร้เอกสารอย่างสมบูรณ์
ตั้งแต่การยื่นคำขอชำระเงิน การคำนวณเงินสงเคราะห์
การหักบัญชีผู้ส่งออกยางเพื่อชำระเงินสงเคราะห์
ตลอดจนการออกเลขที่ใบรับเงินสงเคราะห์เพื่อบันทึกลงในใบขนสินค้าเพื่อดำเนินการพิธีการศุลกากรของผู้ส่งออกยาง
ช่วยลดกระบวนการทำงานทั้งระบบเพื่อแก้ปัญหาการทำงานซับซ้อนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี
และช่องทางดังกล่าวจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ธนาคารมุ่งมั่นในการพัฒนาเพื่อให้สามารถสนองตอบการเชื่อมต่อระบบเศรษฐกิจในระดับอาเซียน
นอกจากนั้น
ธนาคารกรุงไทยได้เปิดให้บริการรับชำระเงินสงเคราะห์ผ่านช่องทางอื่นๆ คือ เคาน์เตอร์ธนาคาร
และ Internet Banking (บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล)
รวมถึงให้บริการรับชำระเงินสงเคราะห์ด้วยบัตร KTB e-Logistics Card ผ่านเครื่อง EDC ที่สำนักงานของ สกย. อีกด้วย ซึ่งทั้ง 3 ช่องทางในการให้บริการ
สกย. มีความประสงค์ให้เป็นทางเลือกแก่ผู้ประกอบการในการชำระเงินสงเคราะห์แก่ สกย.
เพื่ออำนวยความสะดวก และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยปัจจุบัน สกย.
ใช้บริการกับธนาคารกรุงไทยเป็นแห่งแรกและแห่งเดียว ธนาคารกรุงไทยขอให้คำมั่นว่า
จะมุ่งมั่นพัฒนาระบบงานการทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของ สกย.
และ ผู้ประกอบการส่งออกยางให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องตลอดไป คุณศรีประภา กล่าวทิ้งท้าย
ด้านคุณวีระชัย อมรรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่
ธุรกิจการค้าต่างประเทศ และธุรกิจหลักทรัพย์ ทีเอ็มบี กล่าวว่า จากแนวคิด Make THE Difference ที่เป็นหลักในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินของทีเอ็มบี
เพื่อตอบโจทย์ให้กับลูกค้าทั้งลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจ ปัจจุบัน
ธนาคารได้ก้าวมาสู่จุดของการมอบอำนาจทางการเงินให้กับลูกค้า (Empowering
Business Customers) ซึ่งหมายถึงธนาคารได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าได้รับความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
โดยที่ลูกค้าสามารถเลือกผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ให้ธุรกิจของตนได้ด้วยตัวเอง
ไม่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ทั่วไป
เช่นเดียวกับบริการรับชำระเงินค่าธรรมเนียมการส่งยางออกนอกราชอาณาจักรทางอิเล็กทรอนิกส์
หรือ E-Cess ซึ่งทีเอ็มบีเป็นแห่งแรกที่ได้ทำการศึกษาและพัฒนาโดยความร่วมมืออย่างดียิ่งของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง
และกรมศุลากากร เพื่อให้บริการ E-Cess ผ่านระบบ NSW ซึ่งทีเอ็มบีมีความมั่นใจว่าจะสามารถเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย
เป็นต้นไป บริการดังกล่าวนี้เป็นประโยชน์มากสำหรับผู้ส่งออกยางนอกราชอาณาจักร
เพราะจะทำให้ผู้ส่งออกยางได้รับความสะดวก
รวดเร็ว ช่วยลดการจัดการด้านเอกสารและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำป็นลง
ธนาคารจะรับชำระค่าธรรมเนียมหรือที่เรียกว่าเงินสงเคราะห์โดยการหักเงินจากบัญชีของผู้ส่งออกยางผ่านระบบหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติของธนาคารในเวลาทำการปกติ
หรือทำรายการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน
และระบบจะนำเข้าบัญชีของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางต่อไป
ความร่วมมือในครั้งนี้
นับว่าเป็นการพัฒนาด้านการบริการแบบบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้นำเข้า-ส่งออกยาง
ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศให้มีความสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการวางรากฐานทั้งเทคโนโลยี
ระบบโลจิสติกส์ และการบริหาร เพื่อรองรับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคตอันใกล้
ไม่มีความคิดเห็น