สวนยาง อ.บ้านคา 200 ไร่
เจอปัญหาแล้งยาว ยางเล็กเสี่ยง
แต่ยางใหญ่รุ่ง
“เรื่องแล้งมีปัญหามาก” ชนะ ดีสกุล ผู้จัดการสวนยาง 200 ไร่ ในพื้นที่ อ.บ้านคา จ.ราชบุรี หลุดปากออกมาระหว่างที่ทีมงานยางเศรษฐกิจลงพื้นที่สอบถามปัญหาและอุปสรรคของการปลูกยางในพื้นที่ อ.บ้านคา
“หนักใจปัญหาเรื่องนี้มาก เพราะที่นี่มันไม่เหมือนทางใต้ฝนแล้งที 2-3 เดือน แปลงนอกยางเพิ่งปลูกใหม่ร้อนๆ 150 ไร่ มันเป็นดินทราย ถ้าฝนไม่ตกอาจจะเสียหายเยอะน่าจะเป็นพันต้น และกล้าชุดนี้ก็แพงด้วยต้นละ
45 บาท”
อย่างไรก็ตามการทำสวนยางในพื้นที่ดังกล่าวก็ไม่ได้แล้งรุนแรงจนถึงขนาดปลูกยางไม่ได้เลย
เพราะหากมีการให้น้ำยางเล็กในช่วงหน้าแล้งก็สามารถปลูกยางได้ประสบความสำเร็จ และสวนยางอีก
50 ไร่ ที่ปลูกเมื่อ 7-8 ปีที่แล้วก็เป็นเครื่องยืนยันได้
“ชุดแรกผมปลูกก่อน
40 ไร่ ตอนนี้เปิดกรีดแล้วเมื่อไม่กี่เดือนนี้เอง น้ำยางถือว่าพอใช้เพราะยังเป็นยางเพิ่งเปิดกรีดใหม่และต้องทำขี้ยางก่อน”
สวนยาง
50 ไร่ เกือบทั้งหมดเป็นยางพันธุ์ RRIM 600 และมีพันธุ์
RRIT251 ปลูกทดสอบอยู่จำนวนหนึ่ง อายุต้นยางอยู่ระหว่าง 5-7 ปี เพราะการปลูกเป็นการทยอยปลูกยางจึงอายุไม่เท่ากัน แต่เฉลี่ยยางอายุ
5-6 ปี มีพื้นที่มากที่สุด
แต่ชนะให้ข้อสังเกตว่าต้นยางที่ปลูกตามแนวชายเขาต้นค่อนข้างสมบูรณ์
อาจเป็นเพราะดินมีลักษณะดินปนทรายที่ยังไม่เคยทำพืชเกษตรมาก่อน ซึ่งคาดว่าประมาณปี
55-56 น่าจะเปิดกรีดยางได้เต็มพื้นที่
“ตอนนี้ต้นยางเพิ่ง แตกใบอ่อน แต่พอใบแก่เปิดกรีดรอบนี้จะเริ่มทำยางแผ่นแล้วเพราะเตรียมเครื่องจักร
โรงเรือน ไว้หมดแล้ว”
เมื่อถามย้อนกลับไปเมื่อครั้งตัดสินใจมาปลูกยางในพื้นที่นี้
ชนะบอกว่ามันใกล้กรุงเทพสะดวกต่อการเดินทางมาดูแล
“ปลูกยางถ้าเจ้าของไม่มีเวลาดูแลไม่ควรทำนะ โอกาสขาดทุนสูง
หากปล่อยทิ้งจนต้นแกร็นแล้วค่อยบำรุงทำยังไงก็ไม่โต ยิ่งถ้าหญ้าท่วมสูงยากจะฟื้นฟู
ทำอย่างไรก็เอาไม่อยู่ ไม้ก็ขายไม่ได้ เจ๊งสถานเดียว” ชนะบอกหัวใจสำคัญของการทำสวนยาง
สภาพดินของสวนยางแห่งนี้เป็นดินปนทรายและดินเหนียว
มีความสามารถในการอุ้มน้ำได้นาน อีกทั้งยังมีสระน้ำขนาด 5 ไร่
สำรองไว้ให้ต้นยางในช่วงหน้าแล้ง ระยะการปลูก คือ 3x7 เมตร แต่มีบางแปลงที่ต้นค่อนข้างห่างเพราะปลูกในสวนมะม่วงช่วงแรกๆ
ช่วงยางเล็กยังมีการปลูกสับปะรดแซมเพราะเป็นพืชคลุมดินรักษาความชื้นได้ดีและใบยังมีกาบใบที่เก็บกักน้ำได้ดี
ซากสับปะรดยังเป็นอินทรีย์ชั้นดีอีกด้วย
“เมื่อยางโต 3-4 ปี ก็ต้องโละสับปะรดทิ้ง ปล่อยให้ซากย่อยสลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ไป ยางโตดีทีเดียว”
ด้านการดูแลสวนยางหลักๆ
คือ การใส่ปุ๋ย ก่อนหน้านี้สวนยางแห่งนี้เลือกใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 20-10-12 เน้นการบำรุงต้น ซึ่งเป็นสูตรที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำสวนยางพื้นที่ใหม่ แต่ปีนี้เขาเตรียมสูตร
15-15-15 เพื่อใส่ช่วงหน้าฝนนี้เพื่อบำรุงทุกส่วนของต้น
วิธีการใส่ทำแบบขุดหลุมฝังช่องกลางระหว่างต้นหลุมละประมาณครึ่งกิโล/ครั้ง ใส่ปีละ 2 ครั้ง เหตุที่ต้องขุดหลุมฝังปุ๋ยเป็นเพราะฝนจะไม่ชะล้างปุ๋ย
“แต่ปีนี้กะจะใส่ 3
ครั้ง ปริมาณน้อยลงแต่ถี่ขึ้น เพราะพยากรณ์อากาศบอกว่าปีนี้ฝนจะมาเร็วและกำลังสั่งปุ๋ยอินทรีย์มาใส่เพื่อบำรุงดินอีก
3 ตัน”
ชนะยังสะท้อนว่าต้นทุนปุ๋ยถือเป็นตัวหลักเฉพาะค่าปุ๋ยอย่างเดียวก็ตกปีละ
360,000 บาท แต่ก็จำเป็นต้องลงทุน เพราะหากขาดการใส่ปุ๋ยอย่างต่อเนื่องต้นยางจะไม่โต
หรือถ้าใส่ผิดวิธีอย่างการหว่านรอบต้นความคุ้มค่าของปุ๋ยที่ต้นยางจะได้รับก็ลดน้อยลง
“ผมไปอบรมเรื่องยางพาราบ่อยเพราะมีเจ้าหน้าที่สกย.มาจัดอบรมอย่างต่อเนื่อง”
ทั้งนี้เพราะพื้นที่
จ.ราชบุรี โดยเฉพาะ อ.บ้านคา อ.สวนผึ้ง และ อ.จอมบึง ได้ถูกประกาศเป็นพื้นที่ส่งเสริมปลูกยางและอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของสกย.
จ.กาญจนบุรี
มีหลายคนมองว่าการที่
อ.บ้านคา มีฝนน้อยกว่าทางภาคใต้จะเป็นข้อได้เปรียบเรื่องวันกรีดมากกว่า
ปริมาณน้ำยางเฉลี่ยอาจจะเท่าหรือมากกว่าภาคใต้นั้น ชนะซึ่งก็เป็นคนใต้เช่นกันกลับมองว่ามันไม่ใช่ข้อดีเพราะการกรีดยางอย่างไรก็ต้องกรีด
2 วัน เว้น 1 วัน ฝนน้อยวันกรีดมากกว่าก็จริงแต่ฝนน้อยก็ทำให้น้ำยางน่าจะน้อยกว่าเพราะขาดน้ำ
ดังนั้นการกรีดจึงต้องวางระบบและบำรุงต้นยางให้ดี
เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของอาชีพสวนยาง
คือ ตลาด เพราะตอนนี้ตลาดที่ใกล้ที่สุด และมีเกษตรกรนำไปขายกันแล้ว คือ สหกรณ์กองทุนสวนยางทองผาภูมิ
จำกัด ซึ่งเป็นตลาดขายระบบประมูลจึงได้ราคาสูงกว่าการขายผ่านพ่อค้าท้องถิ่นแม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีก็ตาม
“ต่อไปราชบุรีก็น่าจะมีการรวมกลุ่มกันขายหรือมีพ่อค้ามาเปิดร้านรับซื้อ
ผมเองก็ยังวางโครงการจะเปิดร้านรับซื้อยาง” ดังนั้นเรื่องแหล่งขายยางไม่น่าจะใช่ปัญหาของ จ.ราชบุรี
เมื่อเจาะลึกลงไปถึงที่ดิน
ชนะเปิดเผยว่าเป็นที่ดิน ภบท.5 ซื้อมาเมื่อ 10 ปีก่อน ราคาไร่ละไม่ถึง 20,000 บาท แต่ปัจจุบันราคาสูง
40,000-50,000 บาท แล้ว
“ช่วงยางราคาแพง
3-4 ปีมานี้ คนนอกพื้นที่มาซื้อปลูกยางกันมากแต่คนในพื้นที่ยังปลูกสับปะรดกันเป็นหลัก
แต่คนที่ทำสับปะรดแล้วอยู่ตัวก็มีหันมาปลูกยางบ้าง”
จากการสำรวจและเก็บข้อมูลสวนยางของชนะพบจุดอ่อนสำคัญของสภาพพื้นที่ตัวสำคัญ
คือ ปัญหาแล้งยาวในบางปีซึ่งจะส่งผลตรงกับต้นยางโดยเฉพาะยางเล็ก ผู้ปลูกจึงต้องเตรียมป้องกันปัญหาเรื่องนี้ด้วย
โดยต้องสร้างแหล่งน้ำเพื่อให้ต้นยางหน้าแล้ง แต่ถ้าต้นยางอายุ 3 ปีขึ้นไป ชนะบอกว่าพ้นขีดอันตรายไม่น่าเป็นห่วง
“ผมคิดว่าต่อไปบ้านคาน่าจะดีถ้ามียางระดับแสนไร่ ฝนน่าจะดีขึ้น
ป่ายางจะเรียกความชุ่มชื้น ดูอีสานซิเดี๋ยวนี้ฝนเริ่มตกมากขึ้นเพราะมีพื้นที่ปลูกยางมากขึ้น” เขามองว่าสวนยางก็มีคุณสมบัติไม่ ต่างอะไรกับป่านั่นเอง
ขอขอบคุณ
ชนะ ดีสกุล
67/2 หมู่ 3 ต.บ้านคา อ.บ้านคา จ.ราชบุรี
โทรศัพท์
08-7043-0068
ผมก็อยู่บ้านคาครับปลูกยางเหมือนกันตอนแรกให้เช่าที่ดินปลูกสัปรดได้4ปีพร้อมปลูกยางไปด้วยหมดสัญญาอยากได้ความรู้ว่าหลังจากนี้ควรใส่ปุ๋ยอะไรอย่างไรให้ต้นยางเติบโตดีครับรบกวนด้วยครับขอบคุณ
ตอบลบลองอ่านลิงค์นี้ดูครับ http://rubbereconomics.blogspot.com/2012/09/blog-post.html
ลบยางที่สวนเริ่มเปิดกรีดปีนี้ครับ ไม่รู้ว่าเอาไปขายที่ไหนกันบ้างครับ
ตอบลบ