์News

์News

ชาวด่านช้าง สุพรรณบุรี แห่ปลูกยางหลายพันไร่


สวนยางแปลงใหม่ในด่างช้าง ถือกำเนิดจำนวนมากตามกระแสของราคายางโลก แต่ด้วยข้อจำกัดด้านความแล้งที่ค่อนข้างยาวนานบางปี ทำให้สุพรรณบุรีถูกมองว่าไม่เหมาะสมแก่การปลูกยาง แต่เกษตรกรจำนวนมากได้ทำลายข้อจำกัดนั้นแล้ว

 ชาวด่านช้าง สุพรรณบุรี แห่ปลูกยางหลายพันไร่ 
เร่งรวมกลุ่มรวบรวมยาง
เรื่อง : พิมพ์ใจ พิสุทธิ์จริยานันท์
          
          ล้วน แซ่จิ้ว คือ แกะดำ ตัวหนึ่งในพื้นที่ อ.ด่านช้าง เมื่อ 25 ปีก่อน เพราะเขาดันไปนำเอาต้นยางจาก จ.สุราษฎร์ธานี มาปลูกในพื้นที่ ต.องค์พระ ติดกับ จ.กาญจนบุรี ขณะที่เกษตรกรในพื้นที่ล้วนทำพืชไร่ล้มลุก อย่างมันสำปะหลัง ข้าวโพด และฝ้าย เป็นต้น
นายล้วน แซ่จิ้ว เกษตรกรรายแรกๆ ที่บุกเบิกปลูกยางใน อ.ด่านช้าง 
เขาเริ่มต้นจากการถอนกล้ายางโคนต้นในสุราษฎร์ธานีขึ้นมาปลูก
 แล้วนำตายางมาติด ปัจจุบันต้นยางของเขาอายุกว่า 25 ปี
 แต่ยังกรีดได้เป็นปกติ พร้อมกับยืนยันว่าสุพรรณบุรีก็ปลูกยางได้
            ไอ้ล้วนเอ้ยมึงเอายางมาปลูกแถวนี้มันไม่มีน้ำยางหรอกผู้ใหญ่บ้านพูดเชิงปรามาส ซึ่งเป็นคำบอกเล่าที่นายล้วนจำได้ขึ้นใจ
            แต่ใครจะล่วงรู้ว่าห้วงขณะนั้นในหัวของนายล้วนคิดอะไรอยู่...???
           ผมทำพืชมาแล้วทุกตัว แต่ทำอะไรก็ไม่เคยถาวร ทำข้าวโพด 10 ไร่ ได้กำไรปีละสองหมื่น ปลูกนุ่นหนอนก็กินต้นตายหมด ขนุน มะม่วง ถึงหน้าขายราคาก็ร่วง คนซื้อก็ไม่มีต้องปล่อยเน่าคาต้นนายล้วนพูดเพื่อฉายภาพอดีตอันขรุขระของอาชีพเกษตร
            จนเมื่อเขาตัดสินใจปลูกยางในที่สุด เพราะเป็นพืชที่เขาเคยทำมาช่วงวัยหนุ่มใน จ.สุราษฎร์ โดยอาศัยรับจ้างกรีดยาง ความรู้จึงพอจะมีติดตัวบ้าง
            แต่การปลูกยางใน อ.ด่านช้าง มันเป็นคนละเรื่องกับการปลูกยางทางภาคใต้ ซึ่งนายล้วนก็เข้าใจความสำคัญนี้ดี แต่เขาบอกว่านี่คือพืชความหวังสุดท้าย
            “ผมนั่งรถลงไปสุราษฎร์ถอนเอาต้นกล้าจากโคนต้นยางมาพันกว่าต้น แล้วใช้กระสอบป่านชุบน้ำห่อให้ต้นยางมันชุ่มชื้น กลับมาสุพรรณก็เอามาปลูก ตอนนั้นป่ายังสมบูรณ์อยู่ ได้น้ำฝนยางมันก็โตดี ต้นกล้ารอด ทีนี้ก็ลงกลับไปอีกทีเอากิ่งตายางพันธุ์ 600 มาติดตาเขาเล่าย้อนความยากลำบากในการปลูกยางต่างถิ่นอย่างเห็นภาพ
            ระหว่างที่ปลูกยางนายล้วนก็ยังต้องทนกัดฟันทำพืชตัวอื่น อย่างขนุนและมะม่วงไปพราง จนเมื่อครบอายุยางใกล้กรีดเขาจึงต้องหาแหล่งขายเพราะละแวกใกล้เคียง ไม่มีตลาดหรือร้านรับซื้อยางเลย ก่อนจะได้ยินว่าเมืองกาญจน์มีตลาดรับซื้อยาง
           สมัยนั้นรถราก็ไม่มีต้องปั่นจักรยานไปขึ้นรถประจำทางไปเมืองกาญจน์ แต่ไม่เจอแหล่งซื้อ แต่มีคนแนะนำให้ไปลาดหญ้าก็ไม่เจอ จนไปเจอร้านรับซื้อเล็กๆ ที่ท่าพะเนียดแต่เขาซื้อไม่เยอะ เขาบอกต้องไปทองผาภูมิจึงเจอแหล่งซื้อเป็นสหกรณ์
สวนยางวัยชราอายุกว่า 25 ปี ของนายล้วนดูจากสภาพต้นยางไม่เป็นระเบียบ
 และบางต้นลำต้นแตกเป็น 2-3 ลำต้น เพราะสมัยก่อนยังไม่มีความรู้ ติดตาไม่สมบูรณ์ 
การปลูกซ่อมก็ทำได้ยาก เป็นสวนยางรุ่นบุกเบิกของ อ.ด่านช้าง แต่ปัจจุบันต้นยาง
ยังให้น้ำยางปกติ เขาบอกว่าถ้ากรีดดีๆ อาจจะอยู่ได้ 45 ปี หรือกรีด 3 รอบ
            .กาญจนบุรี มีการทำสวนยางมาค่อนข้างนาน มีการรวมกลุ่มในรูปของสหกรณ์ รวบรวมยางเพื่อประมูล ซึ่งเป็นตลาดที่ใกล้สวนของนายล้วนมากที่สุด แต่ระยะทางรวมไปกลับก็กว่า 400 กิโล(อ่าน ยาง 1,000 ล้านบาท/ปี พืชเศรษฐกิจขับเคลื่อนทองผาภูมิ ยางเศรษฐกิจ ฉบับที่ 7)
            อาชีพสวนยางของนายล้วนในยุคบุกเบิกจึงค่อนข้างทุรกันดาร เพราะต้องขนยางไปขายทองผาภูมิเดือนละ 1 ครั้ง ตอนหลังมีสวนใกล้ๆ เขาปลูกหลังผม 2 ปี ก็รวมยางกันไปขาย 2 เจ้ารวมกัน ประมาณเดือนละตันกว่าๆ ราคากิโลละแค่ 18 บาท” 

             แต่ก็เป็นพืชที่ แกะดำ แห่งด่านช้าง บอกว่าไม่เสี่ยงและลำบากเท่ากับการทำพืชตัวอื่น
            ใครเขาก็ว่าผมบ้า เขายังจำความรู้สึกนี้ได้ดี
            แต่ช่วงระหว่างปี 47-48 เกษตรกรใน อ.ด่านช้าง หลายราย กลับมาขอสมัครเป็น "คนบ้า" อย่างนายล้วน
ครรชิต แฝงแย้ เจ้าของสวนยางใน ต.องค์พระ จ.สุพรรณบุรี
 พ่อตาของเขาเป็นผู้ปลูกยางจำนวน 50 ไร่ เมื่อ 23 ปีก่อน
 และทยอยปลูกเพิ่มจนปัจจุบันมียาง 100 ไร่ 
ได้ยางแผ่นเดือนละ 2 ตัน และขนไปขายที่ทองผาภูมิ
            เพราะหลังจากที่ยางราคาพุ่งสูงเป็นปรอท 70-80 บาท ช่วงปี 2547 ปรากฏว่าเกษตรกรในพื้นที่แห่ปลูกยางมโหฬาร ประกอบกับมีนักลงทุนต่างถิ่นเข้ามาซื้อที่ดินเพื่อปลูกยาง ด้วยเพราะระยะทางที่ไม่ไกลจากกรุงเทพและปริมณฑลมากนัก
            แน่นอนว่าสวนยางขนาด 20 ไร่ ของนายล้วนย่อมจะเป็น ห้องเรียน ของชาวสวนยางในพื้นที่ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี และใกล้เคียง
           ผมแนะนำผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งเขานำที่ดินไปจำนองเอาเงินมาปลูกยาง เขาถามผมว่าพี่มันได้แน่นะ ผมถือไพ่ใบสุดท้ายแล้ว ผมบอกมันจะเป็นใบสุดท้ายหรืออะไรให้คว่ำไว้ก่อน ไม่ต้องไปดูมัน มีข้อเดียวคือทำยางให้เป็นสวน อย่าให้ไฟไหม้ ถ้าไฟไม่ไหม้ 7 ปี เปิดไพ่มาป๊อก 21 แน่นอน พอเขาเปิดกรีดปีที่ 2 ยางกิโลละ 190 บาท ทำยาง 40 ไร่ ที่ดินจำนองไว้ได้หมดเลย พลิกสถานการณ์ขึ้นมาได้นายล้วนเล่าเปรียบเทียบพร้อมกับเผยข้อมูลว่า
            ปัจจุบันพื้นที่ ต.องค์พระ และ ต.วังยาว อ.ด่านช้าง เท่าที่เคยเก็บข้อมูลมีชาวสวนยาง 64 ราย 2,000 กว่าไร่ ยังไม่นับพื้นที่ทั้งอำเภอและอำเภอใกล้เคียงยังมีปลูกอีกมหาศาล
สวนยางพันธุ์ 600 ในภาพนี้ เป็นของเจ้าของธุรกิจรับซื้อสับปะรด 
และส่วนหนึ่งก็มีไร่สับปะรด แต่เมื่อ 3-4 ปีก่อน ไปเห็นตัวอย่างสวนยางที่ อ.บ้านไร่ 
ก่อนจะหันมาปลูกตามหลายร้อยไร่ 
            ในส่วนของนายล้วนเองมีพื้นที่สวนยางรวม 35 ไร่ เปิดกรีดแล้ว 20 ไร่ ซึ่งเป็นยางอายุ 25 ปี อีก 10 ไร่ เป็นยางเปิดกรีดใหม่ 1 ปี ที่เหลืออีก 5 ไร่ เป็นยางเล็ก
            ข้อมูลด้านปริมาณน้ำยางเขาเผยว่าช่วงเดือนพฤษภาคมน้ำยางค่อนข้างน้อยเพราะเป็นช่วงหน้าร้อน ช่วงที่น้ำยางสูงที่สุด คือ ตั้งแต่ตุลาคมเป็นต้นไปน้ำยางจะมากขึ้น 1-2 เท่าตัว แต่ข้อดีของการกรีดยางในพื้นที่ คือ มีวันกรีดมากกว่า
            ถ้าไม่แล้งกรีดได้ถึง 6 เดือน แต่ถ้าแล้งก็ได้แค่ 5 เดือน
ป้ายโฆษณาหน้าสหกรณ์การเกษตรด่านช้าง ที่ติดประกาศเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
 ซึ่งเป็นธุรกิจที่ช่วยเหลือสมาชิกไม่ต้องขนยางไปขายไกลถึง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี 
และ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี และแม้ปริมาณจะยังมีเพียง 3-5 ตัน 
และยังต้องฝากขายกับสหกรณ์ที่บ้านไร่ก็ตาม แต่มีแนวโน้มว่าปริมาณจะเพิ่มขึ้น
 นอกจากนั้นยังมีการขายอุปกรณ์สวนยางครบวงจร
            ด้านตลาดซื้อขายยางหลังจากที่มีการก่อตั้งสหกรณ์กองทุนสวนยางใน อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ชาวสวนยาง อ.ด่านช้าง ส่วนหนึ่งก็นำยางไปขายที่นั่นเพราะระยะทางใกล้กว่าทองผาภูมิเพียงแค่ไป-กลับ 100 กิโล เท่านั้น เสียค่าบริการและขนส่ง กก.ละ 2 บาท แต่ก็ยังดีกว่า
            แต่เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2554 นายล้วนและสหกรณ์การเกษตรด่านช้าง จำกัด ทำการเปิดตลาดรวบรวมยางในพื้นที่ อ.ด่านช้าง และใกล้เคียง เพราะวิเคราะห์แล้วว่าเกษตรกรหันมาปลูกยางเพิ่มมากขึ้น
            สหกรณ์การเกษตรด่านช้างมีสมาชิก 1,900 ราย มีธุรกิจหลัก คือ ให้สินเชื่อ จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและผลิตน้ำดื่มธุรกิจใหม่ของสหกรณ์ คือ รวบรวมยาง
นพดล เอมบัณฑิตย์ ประธานสหกรณ์การเกษตรด่านช้าง 
คาดหวังว่าธุรกิจรวบรวมยางจะเป็นอีกธุรกิจหลักตัวใหม่ของสหกรณ์
ในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะปริมาณยางที่มากขึ้นเรื่อยๆ ตามพื้นที่กรีด
 อนาคตมีสิทธิ์เป็นศูนย์กลางตลาดยางของสุพรรณบุรี
           เราเห็นว่าอนาคตปริมาณยางจะเพิ่มมากขึ้นเพราะเกษตรกรจะเปิดกรีดเยอะขึ้น การที่เราเปิดรวบรวมยางจะเป็นการช่วยเหลือสมาชิกไม่ต้องเดินทางไปขายยางไกล วันนี้เขาต้องไปบ้านไร่ ไปทองผาภูมินพดล เอมบัณฑิตย์ ประธานสหกรณ์เปิดเผย
            แต่ก็ยอมรับว่าปริมาณการรวบรวมยางยังน้อยเพียงครั้งละ 3-5 ตัน/ครั้ง เท่านั้น และยังต้องนำไปฝากขายกับสหกรณ์กองทุนสวนยางปฏิรูปที่ดินน้ำดีใน อ.บ้านไร่ อยู่ด้วยเพราะปริมาณยางยังน้อยนั่นเอง
สับปะรดยังคงเป็นพืชแซมสวนยางตัวหลักของด่านช้าง เพราะสามารถรักษาความชื้นหน้าดินได้ดี 
กาบใบสามารถกักเก็บน้ำได้ และซากยังเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดี 
ส่วนพืชแซมตัวอื่นอย่าง ตระกูลถั่วปลูกไม่ได้เพราะความแล้งนั่นเอง
           ใหม่ๆ เราต้องยอมไม่มีกำไรหรืออาจจะขาดทุนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่สมาชิก แต่คาดว่าอีก 2-3 ปี ยางจะเปิดกรีดได้เยอะขึ้นเพราะตอนนี้ยางของเกษตรกรส่วนใหญ่อายุ 3-4 ปี
            อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องปริมาณยางไม่ใช่ตัวหลักของสหกรณ์ฯ ด่านช้าง แต่กลับเป็นเรื่องการคัดคุณภาพยาง เพราะยังไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือให้ความรู้ แต่ก็แก้ปัญหาด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ไปดูงานที่สหกรณ์ฯ น้ำดี
สวนยางรุ่นแรกๆ ในด่านช้าง เป็นเครื่องยืนยันว่าสามารถปลูกยางได้ดี ซึ่งเกษตรกรจำนวนหนึ่งกำลังเก็บข้อมูลเกษตรกรและจำนวนสวนยางเพื่อนำไปยืนยันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความช่วยเหลือเกษตรกรในด้านต่างๆ ตั้งแต่องค์ความรู้เรื่องยาง การกรีดยาง และเรื่องตลาด ที่สำคัญคือ เงินทุน
           บางครั้งเรายังไม่ถนัด บางทีเราเห็นว่ายางควรเป็นเกรดนี้แต่พอไปขายเขาให้อีกเกรดหนึ่งเราก็ขาดทุนแล้วนพดล สะท้อนปัญหา
            จะเห็นได้ทันทีว่าเหตุที่ จ.สุพรรณบุรี ไม่อยู่ในเขตส่งเสริมปลูกยางของกรมวิชาการเกษตร จึงไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบเข้ามาดูแลและให้ความรู้เรื่องการปลูกยางอย่างเป็นระบบโดยเฉพาะด้านการตลาด เป็นต้น
           แต่เรากำลังจะเปิดให้สมาชิกที่มีสวนยางมาลงทะเบียนผู้ปลูกยางที่สหกรณ์ เพื่อนำข้อมูลไปเสนอให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือให้ความรู้ และถ้าเป็นไปได้ก็เรื่องการลงทุนเพราะยางเป็นพืชตัวใหม่ของที่นี่ลงทุนสูง ถ้ามีหน่วยงาน เช่น สกย. ช่วยเหลือกล้ายาง เงินทุน และตลาด ก็จะเป็นผลดีแก่สมาชิก"
            ในมุมนี้นายล้วนให้ข้อมูลตรงกันว่าการปลูกยางตอนนี้ยังขาดการส่งเสริมและช่วยเหลือจากรัฐ ยังอาศัย ทุนใครทุนมัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพื้นที่สุพรรณบุรีไม่เหมาะสมแก่การปลูกยางในสายตาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
            ถ้าที่ผมปลูกยางไม่ได้ อีสานก็ปลูกยางไม่ได้ เพราะที่นี่ดีกว่าอีสานเยอะ
            ตัวอย่างสวนยางของนายล้วนเขาบอกว่าน้ำยางออกได้ดีแม้อายุยางจะอายุ 25 ปี แต่ยังให้น้ำยางได้เป็นปกติถ้าเราไม่ทำร้ายต้นยาง เร่งน้ำยางเกิน กรีดบ่อย กรีดดี ไม่เข้าเนื้อ แบ่งหน้ายาง 3 หน้า อาจจะกรีดได้ 3 รอบ หรือ 45 ปี และยังกรีดยางหน้าสูงได้อีก
จ.ส.อ.ดำรงค์ สามารถ อดีตตำรวจวัยใกล้เกษียณ เขาทิ้งอาชีพตำรวจใน 
จ.นครศรีธรรมราช มาหาพื้นที่ปลูกยางใน อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี 200 ไร่
 ติดกับ ต.องค์พระ จ.สุพรรณบุรี ปัจจุบันต้นยางพันธุ์ 600 อายุ 2 ปี แซมด้วยสับปะรด
 เขายืนยันว่าปลูกยางได้ ถ้ามีการจัดการสวนที่ดี สภาพดินและอากาศไม่ใช่อุปสรรค 
และกำลังจะขยายให้เต็ม 200 ไร่ โดยส่วนหนึ่งจะเจียดไว้ปลูกปาลฺมน้ำมันด้วย
            แม้พื้นที่จะยังถูก ล่ามโซ่จากหน่วยงานราชการ แต่เกษตรกรก็แห่ปลูกยางกันจำนวนมากแล้ว โดยไม่นำเรื่องดังกล่าวมาเป็นอุปสรรคให้ตัวเองเลย
            ผมไปแนะนำให้มีการปลูกยาง เขาบอกจะเอาพันธุ์ที่ไหนปลูก เอาทุนที่ไหน รัฐบาลเขาช่วยไหม ผมพูดเลยถ้ารอรัฐบาลป่านนี้ผมก็คงไม่ได้กรีดยาง ไม่ต้องรอ เรามีเท่าไหร่ เราพึ่งตัวเอง ถ้ารอ อดตาย ถ้ากลัวไม่ได้ผลให้มาดูที่ผมนายล้วนเกษตรกรผู้ปลูกยางยุคบุกเบิกของ จ.สุพรรณบุรี กล้ายืนยันอย่างนั้น
ขอขอบคุณ
ล้วน แซ่จิ้ว
505 หมู่ 8 .องค์พระ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี
โทรศัพท์ 08-6172-4763
นพดล เอมบัณฑิตย์
สหกรณ์การเกษตรด่านช้าง จำกัด
1078 หมู่ 5 .ด่านช้าง-สามชุก อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี
โทรศัพท์ 08-1192-8683, 0-3559-5230

ไม่มีความคิดเห็น

Random Posts

randomposts