์News

์News

ค.เรียกน้ำยาง ฉบับที่ 12 มีนาคม แอบขโมยมาให้อ่านก่อนใคร



            นิตยสารยางเศรษฐยางเศรษฐกิจ ฉบับที่ 12 ฉลองครบรอบ 1 ปี


***ก้าวล่วงเข้าปี “มังกรทอง” มา 2 เดือนแล้ว “อินทรีทนง” มีความกังวลใจอยู่หลายเรื่อง...???
แต่เพื่อไม่ให้รบกวนหน้ากระดาษจนเกินไป จึงขอเล่าแค่เรื่องเดียวก่อน
มันเป็นเรื่องเก่าเล่าใหม่...โครงการปลูกยาง 800,000 ไร่ ที่กำหนดระยะดำเนินงาน 3 ปี พ.ศ. 2554-2556 วงเงินงบประมาณ 3,974.6 ล้านบาท
แต่แค่ปีแรกก็เป็นไปแบบถูลู่ถูกัง เพราะถูกสารพัดปัญหาโหมกระหน่ำทุกเหลี่ยมมุม โดยเฉพาะราคากล้ายางปีที่แล้วสูงปรี๊ด 50-60 บาท แต่โครงการกำหนดต้นทุนแค่ 18 บาท/ต้น กลายเป็น “ลูกตุ้มยักษ์” ถ่วงให้โครงการต้องสะดุด
ก่อนจะหา “ยาหล่อลื่น” โครงการด้วยการผลักภาระให้เกษตรกรที่ต้องการปลูกยางจ่ายส่วนต่างราคากล้ายาง 32-42 บาท/ต้นเอง
แต่หากไม่มีทุนจ่ายส่วนต่างก็สละสิทธิ์ แล้วรอปลูกปีนี้ ผลปรากฏว่าปีที่แล้วปลูกได้แค่ 61,000 ไร่ จากเป้าที่วางไว้ 200,000 ไร่ หรือปลูกได้แค่ 30% เท่านั้น และกว่าจะเริ่มปลูกกันก็ปลายฤดูเข้าไปแล้ว ทำให้มีโอกาสสูงเหลือเกินที่ต้นยางจะตายช่วงหน้าแล้ง
นายวิทย์ ประทักษ์ใจ ผอ.สกย.ให้สัมภาษณ์ผ่านหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจว่า ในกรณีต้นกล้ายางตาย จะ “เครม” ให้แค่ไร่ละ 10 ต้นเท่านั้น แต่ไม่เกิน 90 ต้น/ราย
หากเสียหายมากกว่านี้เกษตรกรจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง...!!!
ส่วนที่ยังเหลือค้างอีก 70% หรือ 139,000 ไร่ เท่ากับต้องลากมาปลูก
ปี2555 นี้ ซึ่งโครงการกำหนดปลูกอยู่เดิมแล้ว 300,000 ไร่ แบ่งเป็นภาคอีสาน 191,250 ไร่ ภาคเหนือ 55,000 ไร่ ภาคใต้ 22,520 ไร่ และภาคตะวันออกและภาคกลาง 31,230 ไร่ 
เท่ากับว่าปีนี้ต้องปลูกยาง 439,000 ไร่ในปีนี้...??? มากกว่าปีที่แล้วหลายเท่าตัว
แต่ปีนี้เวลาผุกร่อนไปแล้ว 2 เดือน “อินทรีทนง” ยังไม่เห็นว่าโครงการปลูกยางปีนี้จำทำได้ตามเป้า ทั้งๆ ที่เหลือเวลาให้ใช้จ่ายอีกแค่ไม่ถึง 3 เดือนเท่านั้น ก็จะเข้าฤดูปลูกในช่วงฤดูฝนแล้ว
ผอ.สกย. ให้ข้อมูลผ่านหนังสือพิมพ์เล่มเดิมว่า ตอนนี้โครงการอยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ หรือ กนย. เพื่อพิจารณาเห็นชอบในการปรับราคากล้ายางจากเดิมต้นละ 18 บาท เป็น 36 บาท และให้ ครม.อนุมัติ เพื่อ “ปลดล็อค” โครงการให้ไหลลื่นทันฤดูปลูกยางเดือนพฤษภาคมนี้
แต่ราคากล้ายางใหม่ที่ขอเพิ่มงบประมาณก็ยังต่ำกว่าราคาในตลาด 9-14 บาท อยู่ดี...!!!
เชื่อขนมร้านค้ามากินก่อนได้เลยว่า ส่วนต่างตรงนี้เกษตรกรต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง เหมือนเดิม
โครงการดังกล่าวรัฐจะช่วยเหลือการปลูกยางแบบให้เปล่าในรูปของปัจจัยการผลิต ประกอบด้วย พันธุ์ยาง ปุ๋ย และเมล็ดพันธุ์พืชคลุมดิน รวมเป็นเงิน 3,529 บาท/ไร่ ระยะเวลา 3 ปี จะแบ่งจ่ายเป็นงวด ส่วนที่เหลือ 4-7 ปีเกษตรกรต้องใช้ทุนตัวเอง
            ถึงบรรทัดนี้ “อินทรีทนง” อยากจะ “กระตุกเตือน” ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้กันตั้งแต่เนิ่นๆ ให้เร่งสตาร์ทเครื่องโครงการปลูกยาง 800,000 ไร่ โดยด่วน เพื่อให้ทันกับฤดูปลูกต้นฝนนี้  และคาดการณ์ว่าปีนี้ฝนจะมาไวกว่าปกติ ปีที่ผ่านมาเกษตรกรเสียโอกาสกับปีนี้มาแล้ว 1 ปี และไม่รู้ว่าปีนี้จะลูกผีหรือลูกคน
แต่ประสบการณ์จากหลายโครงการก็ประจานแล้วว่า ถ้าโครงการคลานช้าเป็นเต่า จนล่วงไปปลูกช่วงปลายฤดูฝน ต้นยางยากจะทนข้ามแล้งได้ ต้องวางระบบน้ำช่วย ซึ่งหมายถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แต่เกษตรกรที่ไม่มีทุนต้นยางมีสิทธิ์ตาย
            “อินทรีทนง” อยากจะเอาผ้าขาวปูแล้วกราบงามๆ สักสามทีเสียจริง...???

***ถือว่าเข้ามาช่วงจังหวะทองพอดีสำหรับ “รมต.เต้น” อดีต “ไพร่ตัวพ่อ” ที่เพิ่งรับบทบาท “อำมาตย์มือใหม่” เพราะตรงกับช่วงหอมหวานของยาง ที่มีราคาทะลุร้อย พร้อมเดินงานเชิงรุกโชว์วิสัยทัศน์เพียบ ประหนึ่งว่าเตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดี
            แอคชั่นแรกคือ การเดินเครื่องดันราคายางให้ได้ 120 บาท ราคามาตรฐานที่เกษตรกรเรียกร้อง ต่อด้วยการเตรียมผลักดันองค์กรการยางแห่งประเทศไทย โดยการยุบรวม 3 องค์กรยาง สกย. อสย.และสถาบันวิจัยยาง เป็นหนึ่งเดียว เพื่อความคล่องตัว เพราะงานหลายด้าน “ทับสัมปทาน” กันอยู่
            แต่เรื่องนี้คนในวงการรู้ดีว่าเป็น “หนังม้วนเก่า” ที่แสดงยังไม่จบเรื่อง เพราะยังไม่มี “ผู้กำกับ” คนไหนเอาจริงเอาจังสักราย ค้างเติ่งโดยมี นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นั่งเก้าอี้ลอยเป็นประธานอยู่หลายปีแล้ว
            ไหนจะโครงการอนุมัติเงิน 15,000 ล้านบาท ผ่าน ธ.ก.ส.เพื่อให้สถาบันเกษตรกรกู้เพื่อพยุงราคายางระยะสั้น ซึ่งรู้กันดีว่าโครงการนี้เกษตรกรตัวจริงไม่ได้ประโยชน์เลย เพราะดันทำตอนเกษตรกรปิดหน้ายาง กลายเป็นว่าพ่อค้าปากมันชุบมือเปิดไป
ต่อด้วยเรื่องมาตรการแทรกแซงราคา ได้ตั้งคณะอนุกรรมการจำนวน 5 ชุด เพื่อช่วยบริหารโครงการ ได้แก่ คณะอนุกรรมการบริหารโครงการ ระดับจังหวัด โดยเลือกจากทุกจังหวัดที่มีผลผลิตยางและมีสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ, คณะอนุกรรมการเก็บรักษายางพารา, คณะอนุกรรมการตลาดยางพารา, คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการ และคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์
“อินทรีทนง” ไม่รู้ว่าตั้งคณะทำงานมากขนาดนี้เพื่อให้คล่องตัว หรือให้อืดเอื่อยกว่าเดิมกันแน่
พร้อมแสดงความมั่นใจว่าจะสามารถผลักดันให้ราคายางในประเทศเป็นไปตามเป้าหมายกิโลกรัมไม่ต่ำกว่า 120 บาท ภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้
ถ้า “อินทรีทนง” จำไม่ผิดมันเป็นช่วงปิดหน้ายางไม่ใช่หรือ ยางจากมือเกษตรกรแทบจะไม่มีเลย โดยปกติเป็นช่วงที่ยางราคาสูงอยู่แล้ว เกษตรกรจึงไม่ได้ “มรรค” ได้ “ผล” จากการแทรกแซงยางช่วงนี้เลย มีแต่พ่อค้าเท่านั้นที่ได้ไปเต็มๆ...!!!
            *** หลังจาก “เทคแอ็คชั่น” จนฉุดราคายางจาก 80 กว่าบาทดีดกระเด้งมาอยู่ที่ 110 กว่าๆ ชาวสวนยางใจชุ่มโชคนั่งนับเงินกันมันมืออย่างเดิม
            แต่ก็อย่าปล่อยให้ “โรคความจำสั้น” กำเริบ เพราะอย่าลืมว่านี่เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น ระยะยาวยังไม่ถูกแตะเลย
นายบุญส่ง ทับทอง นายกสมาพันธ์สมาคมชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จึงเตรียมเข้าพบ “รัฐมนตรีป้ายแดง” ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยฯ เกษตรกร และเตรียมอ้อนขอชาวสวนยาง “เลือดแท้” เข้าไปนั่งในบอร์ด กสย. เพื่อมีส่วนในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรโดยตรง เป็น “ตัวเชื่อม” ระหว่างเกษตรกรกับภาครัฐ เขาเชื่อว่าถ้ามีเกษตรกรอยู่ในนั้นจะช่วยเป็นปากเป็นเสียงในการแก้ปัญหาระยะยาวได้
เพราะบอร์ด กสย.ปัจจุบันถูกมองว่าไม่มีตัวแทนเกษตรกรตัวจริงอยู่เลย...!!!

           
***โรงงานยางแห่ปักเสาเข็มในอีสานตอนบน เม็ดเงินลงทุน 2,821 ล้านบาท...???
ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ปี 54 ที่ผ่านมาพื้นที่อีสานตอนบนมีโครงการขอยื่นการส่งเสริมการลงทุน 59 โครงการ มูลค่าการลงทุน 19,267.70 ล้านบาท มีการจ้างงาน 8,554 คน ธุรกิจที่เนื้อหอมที่สุดคือเกษตรกรแปรรูป จำนวน 18 โครงการ 4,488.30 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตยางแท่งและยางผสม STR
โครงการระดับเมกะโปเจกต์ มูลค่าการลงทุนเกิน 500 ล้านบาท มี 4 โครงการ 3 ใน 4 คือโครงการโรงงานผลิตยางพารา ได้แก่ โครงการผลิตยางแท่งและยางผสม จ.นครพนม ของ Mr.Lu Linhan เงินลงทุน 800 ล้านบาท โครงการผลิตยางแท่งของ บริษัท รับเบอร์แลนด์ โปรดักส์ จำกัด จ.มุกดาหาร ในเครือศรีตรัง เงินลงทุน 1,025 ล้านบาท โครงการผลิตยางแท่งและยางผสม ของบริษัท เซาท์แลนด์รีซอร์ซ จำกัด จ.บึงกาฬ เงินลงทุน 996 ล้านบาท
เห็นได้ชัดว่าอุตสาหกรรมแปรรูปยางกำลังขยายตัวไปยังภาคอีสานเป็นหลัก
สอดคล้องกับแบงค์ชาติออกมาเปิดเผยข่าวดีว่าเศรษฐกิจอีสานปีที่แล้วโต 2% แต่เมื่อเทียบกับปี 53 ถือว่าถดถอยถูกฉุดจากราคามันสำปะหลัง ยาง และสะเก็ดไฟจากมหาอุทกภัยนั่นเอง
            ภาพที่ชี้ว่าเศรษฐกิจขยายตัวมาจากตัวเลขการอุปโภคบริโภคภาคครัวเรือนของชาวอีสานขยายตัว พูดง่ายๆ ว่าการจับจ่ายใช้สอยคล่องมือมากขึ้น ดัชนีชี้วัดก็คือห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ เข้าไปตั้งในจังหวัดใหญ่ อย่างขอนแก่น อุดรธานี เป็นต้น อย่างเซ็นทรัล เดอะมอลล์ บิ๊กซีและโลตัส งานนี้ถ้าไม่มั่นใจจริงคงไม่กล้าไปตั้งให้เจ๊งเล่นแน่
            ดร.พิชิต ภัทราวิมลพร ผู้อำนวยการอาวุโสแบงค์ชาติเผยว่าปี 55 เศรษฐกิจอีสานมีโอกาสโตถึง 2-3% โดยนำการขยายตัวของธุรกิจก่อสร้างมาเป็นตัวชี้วัด  และการส่งออกตลาดอินเดีย อาเซียนและจีนขยายตัว
            แต่การจะขยายตัวมากน้อยแค่ไหนหลักๆ อยู่ที่ส่วนกลางว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตมามากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าดูชัยภูมิแล้วอนาคตสดใส เพราะเป็นภาคที่มีระบบการคมนาคมที่สะดวกกว่าภาคอื่นๆ และยังเป็นเส้นทางข้ามไปยังกลุ่มประเทศอินโดจีน
             ถ้าเป็นอย่างนี้มีหวัง “ความยากจน” จนถูกตะเพิดออกจากพื้นที่เสียที หลังจากที่ถูกความทุรกันดารกัดกินในทุกมิติมาอย่างยาวนาน จนเป็นภูมิภาคที่น่าสงสารที่สุด “อินทรีทนง” ขอ “อนุโมทนา” ถ้าภาคอีสานจะหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้
           
*** “อินทรีทนง” บังเอิญพลัดหลงไปอ่านบทวิเคราะห์เรื่อง “จับตาทิศทางราคายางพาราปี 2012...รุ่งหรือร่วง” วิเคราะห์โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ เนื้อหนังของการวิเคราะห์ชี้ว่าราคายางพาราในปี 2012 มีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ตัวแปรที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดคือวิกฤติหนี้สาธารณะในกลุ่มยุโรป และเจ้าพ่ออย่างสหรัฐอเมริกา จะลุกเป็นไฟลามทุ่งฉุดให้เศรษฐกิจโลกดิ่งลงเหว ซึ่งเศรษฐกิจจีน ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมยางอันดับ 1 ของโลกมีสัดส่วนการใช้ยางธรรมชาติ 1 ใน 3 ของโลกย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย และเป็นผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ถูก “บอนไซ” มีผลให้ความต้องการยางธรรมชาติน้อยลง และจะส่งผลด้านลบต่อราคายางในประเทศและตลาดโลก
สรุปแบบรวบรัดราคายางปีนี้อาจอยู่ระดับใกล้เคียงกับปีที่แล้ว...!!!
ส่วนภาคการผลิตบทวิเคราะห์ดังกล่าวมองว่าสวนทางกับความต้องการของตลาดโลก เพราะการผลิตขยายตัวอย่างรวดเร็ว องค์การศึกษาเรื่องยางระหว่างประเทศ (IRSG) เดาว่าปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติในปี 2012 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นใกล้แตะปริมาณความต้องการใช้ยางของโลก หรือ 11.5 ล้านตัน 
เห็นได้จากบรรดาประเทศยักษ์ใหญ่ยาง อย่าง ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซียและจีน มีพื้นที่ปลูกยางขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งยังข้ามไปลงทุนปลูกยางนอกประเทศ เนื้อหอมที่สุดคือ ลาว เขมร พม่า และเวียดนาม อีกทั้งยังมีการใช้เทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น
ผลจากการลงทุนอย่างมโหฬารในกลุ่มประเทศอาเซียน จะช่วยเพิ่มผลผลิตยางธรรมชาติอีก 1 ล้านตันในอีก 10 ปีข้างหน้า
ประเทศที่ต้องเขียนติดข้างฝาไว้คือ เวียดนาม อนาคตน่ากลัว แม้วันนี้จะยังไม่มาก แต่ในมิติของการเติบโตต่อปีสูงที่สุดในบรรดาประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ในตลาดโลก ทั้งในแง่ผลผลิตเฉลี่ย/ไร่และการเพิ่มขึ้นของเนื้อที่ปลูกยาง ปัจจุบัน
เวียดนามจึงอยู่ใน ท็อป 5 ของผู้ผลิตยางธรรมชาติ
อ่านบทวิเคราะห์แล้วยังต้องขีดเส้นใต้หนาๆ ไว้ที่แนวทางการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำของภาครัฐ อย่างการอนุมัติงบประมาณวงเงิน 15,000 ล้านบาท ให้องค์การสวนยาง (อสย.) และสถาบันเกษตรกรซื้อยางจากเกษตรกรจำนวน 200,000 ตันเข้าสต็อก เป็น “ซัพพลายเทียม” ที่สร้างขึ้นเพื่อดึงยางออกจากตลาด รักษาเสถียรภาพด้านราคา และเพื่อผลักดันให้ราคายางไม่ต่ำกว่า 120 บาทต่อกิโลกรัม มาตรการแทรกแซงตลาดอย่างนี้จะมีผลต่อทิศทางราคายางทั้งในประเทศและต่างประเทศในระยะยาวอย่างแน่นอน
ตอนท้ายของบทวิเคราะห์ยังแนะนำว่ารัฐบาลควรให้การสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมยางครบวงจร อย่างการแปรรูปขั้นปลายน้ำ เป็นต้น มากกว่าการมุ่งพยุงราคา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และจะทำให้ยางพารา “ติดกับดัก” เหมือน ข้าว และมัน เป็นต้น
            เป็นบทวิเคราะห์ที่คนในวงการไม่น่ามองข้าม...!!!

*** 9-13 มีนาคมนี้ ถ้ายังไม่มีโปรแกรมงานไปไหน ขอให้หาเวลาว่างสักวันสองวันเข้าไปเที่ยวงานมหกรรมสินค้าและเทคโนโลยียางพารา ครั้งที่ 2 ณ ศูนย์ประชุมนานชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเป็นงานยิ่งใหญ่แห่งปีที่จะสร้างอนาคตให้แก่ชาวสวนยางและอุตสาหกรรมยาง นิทรรศการ สัมมนา ผลงานวิจัย เครื่องไม้เครื่องมือ และกิจกรรมเกี่ยวกับยางพาราครบวงจรรอให้ท่านไปเก็บเกี่ยว สอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-7421-1906-8 ต่อ 420
      

ไม่มีความคิดเห็น

Random Posts

randomposts