กลายเป็นไฟลามทุ่งไปแล้ว สำหรับ นโยบาย “ถนนยางพารา”
เมื่อหน่วยงานรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เดินหน้าหนุนนโยบายนี้ อย่างเต็มตัว หวังเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณยางในตลาด เพิ่มการใช้ประโยชน์ในประเทศ
ผลลัพธ์สุดปลายทางคือ จะเพิ่มมูลค่ายางในตลาด
ภาพที่เห็นชัดเจนก็คือ พื้นที่ภาคใต้ นโยบายถนนยางพารากำลังถูกขยายผลในพื้นที่ภาพใต้ผ่านหน่วยงานรัฐอย่าง
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดทำถนนผสมยางพาราในพื้นที่
3 จังหวัดชายแดนใต้
หรือแม้กระทั่ง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ก็หยิบจับนโยบายนี้มาเล่น
ดังตัวอย่างชัดเจนของ อบจ.ตรัง ซึ่งยางเศรษฐกิจนำเสนอไปเมื่อฉบับเดือนกุมภาพันธ์
2559 และ อบจ.สงขลา เมื่อปีที่แล้ว
ล่าสุด อบจ.สุราษฎร์ธานี ออกแอคชั่นดันนโยบายถนนยางพาราเต็มสตรีม
ทุ่มงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เนรมิตถนนผสมยางพารา 22
สายในปี 2559 หวังมีส่วนช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่
ซึ่งเป็นแหล่งปลูกยางพาราอันดับหนึ่งของประเทศ
แต่ อบจ.ตรัง มีความโดดเด่นและทำอย่างต่อเนื่อง
ยางเศรษฐกิจฉบับนี้ยังตามต่อนโยบายถนนยางพารา
แต่เราจะเปลี่ยนไปพูดคุยกับ ผู้รับเหมางานก่อสร้างถนนยางพารา
ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการทำถนนให้มีคุณภาพ รวมถึงประเด็นที่ได้ข้อมูลมาว่า
ยางพาราผสมยางมะตอยยังมีผู้ผลิตเพียง 2 ราย และรายใหญ่เจ้าตลาด ขายราคาสูง
เท็จจริงเป็นอย่างไร ติดตามได้ในคอลัมน์นี้
“ราคายางพาราแอสฟัลต์ 24,000 บาท/ตัน
และถ้าเป็นยางแอสฟัลต์ปกติราคา 16,000 – 17,000 บาท ราคาจะยางพาราผสมยางมะตอยจึงสูงกว่ายางมะตอนธรรมดา
แต่ผู้ผลิตรายใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาด ขายราคาสูงกว่า อีกรายตันละเกือบ 10,000
บาท/ตัน”
นายสวัสดิ์
โอทอง เจ้าของ หจก.วงศ์สวัสดิ์ก่อสร้าง เปิดเผยข้อมูลสำคัญแก่ทีมงาน
แต่เมื่อเราถามว่าเหตุใดจึงเป็นอย่างนั้น
แน่นอนว่าคำตอบย่อมเป็นเรื่องธุรกิจพิเศษที่มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน
จนไม่อาจจะเปิดเผยกลางอากาศได้ จึงต้องปล่อยให้เป็นเรื่อง “OFF RECORD”
หจก.วงศ์สวัสดิ์ก่อสร้าง
เป็นบริษัทก่อสร้างเริ่มจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนตั้งแต่ปี 2522 รับงานก่อสร้างทั่วไป
แต่ระยะหลังมุ่งเน้นงานก่อสร้างโยธา เช่น สะพาน เขื่อน ท่าเรือ และถนน เป็นต้น โดยส่วนใหญ่เป็นรับงานของราชการ
เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ อบต.และอบจ. เป็นต้น
จึงมีประสบการณ์ด้านงานถนนและงานโยธามาอย่างช่ำชอง กว่า 37 ปี
ถนนยางพารา
กระบวนการสร้างถนนมีความพิเศษมากน้อยแค่ไหน
ความละเอียดซับซ้อน
อยู่ที่ขั้นตอนการทำ “ฮอตมิกซ์” (Hot Mix) ระหว่าง “พาราแอสฟัลต์” กับหิน
ต้องใช้ความร้อนสูงกว่าปกติ หรือประมาณ 180 องศา จากปกติใช้ความร้อนเพียง 150 -170
องศา ขึ้นอยู่กับระยะทางหน้างานกับแพลนท์ (แท่นผสม)
กระบวนการมิกซ์
จะใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงเผาหิน กระบวนการนี้จะเกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย จึงต้องทำระบบปิด
โดยมีเครื่องดูดฝุ่นและแยกออกเพื่อลดการฟุ้งกระจาย
อีกส่วนหนึ่งต้องทำการต้มพาราแอสฟัลท์ให้ร้อนตามอุณหภูมิที่กำหนด
จากนั้น นำหินร้อนและพาราแอสฟัลต์ต้มมาผสมหรือมิกซ์ให้เข้ากัน
โดยควบคุมอุณหภูมิให้ได้ 170 - 180 องศา เมื่อขนส่งไปถึงหน้างาน อุณหภูมิต้องได้ไม่ต่ำกว่า
160 องศา
เพราะพาราแอสฟัลต์จะแข็งตัวไว ความร้อนจึงต้องสูง
เพื่อให้การปูและบดทำได้ง่ายขึ้น
เมื่อยางพาราแอสฟัลต์ แข็งตัวไว จึงต้องใช้แรงงานมากกว่า
อย่างปูถนนแอสฟัลต์ ต้องใช้คนงาน 10 คน แต่ พารา
แอสฟัลต์ใช้ เพิ่มเป็น 12 คน
ทั้งนี้ ยาง พาราแอสฟัลต์ หรือยางพาราผสมยางมะตอย หจก.วงศ์สวัสดิ์ จะซื้อจาก บริษัท
โซลาแอสฟัลต์ จำกัด ซึ่งราคายางแอสฟัลต์ กับพาราแอสฟัลต์มีราคาต่างกัน
นายสวัสดิ์บอกว่า
ปัจจุบันมีผู้ผลิตพาราแอสฟัลต์เพียง 2 ราย
เพียงแต่รายใหญ่เจ้าตลาดยังจำหน่ายราคาสูง จึงเลือกใช้ของ บริษัท โซลาแอสฟัลต์
เพราะราคาต่างกัน 10,000 บาท/ตัน ซึ่งเป็นความซับซ้อนทางธุรกิจที่คุณสวัสดิ์บอกว่าไปสามารถเปิดเผยออกอากาศได้
รูปแบบถนนยางพารามีอะไรบ้าง
นายสวัสดิ์ให้ความรู้ว่า
ถนนยางพารามีด้วยกัน 3 รูปแบบคือ พาราเคพ ซีล
พาราสเลอรี ซีล และ พาราแอสฟัลติกคอนกรีต
โดยเข้ารับการอบรมการสร้างถนนยางพารา จากบริษัท ทิปโก้แอสฟัลต์ และโซลาแอสฟัลต์ อย่างต่อเนื่อง
ความแตกต่างของถนนยางพาราทั้ง 3 ประเภท คือ
พาราเคพซีล
(Para Cape Seal) ถนนประเภท เคพซีล
เป็นถนนที่มีการสร้างมากที่สุดในทางสายชนบท เพราะทำได้สะดวก งบประมาณไม่สูง
ซ่อมบำรุงง่าย ใช้งบประมาณต่ำ
การสร้างถนนประเภทนี้ จะมีการเตรียมชั้นฐานล่าง จากนั้นราดยางชั้นไพร์มโค้ท
(Prime Coat)
เพื่อเพิ่มการยึดเกาะชั้นฐานล่าง ต่อมาจะมีการราดยางชั้นซิงเกิ้ล และลงหินย่อย (Single
Surface Treatment) จากนั้นราดยางฟ็อกซ์สเปรย์ (Fog Spray) หลังจากนั้น จึงราดยางชั้น สเลอรี ซีล (Slurry Seal) ซึ่งจะมีส่วนผสมของยางพารา หรือเรียกว่า พาราสเลอรีซีล บาง 1 ซม.
พาราสเลอรีซีล
หรือ พาราซีล คือ การฉาบผิวหน้าถนนแอสฟัลต์ติกเดิม ซึ่งจะทำเพื่อรักษาและปรับปรุงพื้นผิวจราจรที่แตก
ป้องกันน้ำกัดเซาะชั้นฐาน การฉาบพื้นผิวมีความหนา 1 ซม.
พาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีต
คือการทำถนนประเภทแอสฟัลติกคอนกรีต เริ่มจาก ทำชั้นฐานล่าง ทำไพร์มโค้ท
จากนั้นปูพื้นผิวหน้าด้วย พาราแอสฟัลต์ ผสมหินร้อน เรียก ฮอตมิกซ์ โดยควบคุมอุณหภูมิระหว่างผสม
170-180 องศา และอุณหภูมิ หน้างาน ไม่น้อยกว่า 160 องศา โดยปูพื้นผิวหนาประมาณ 5
ซ.ม.
ประสบการณ์การก่อสร้างถนนยางพาราของวงศ์สวัสดิ์ก่อสร้าง
เจ้าของวงศ์สวัสดิ์ก่อสร้าง
เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา รับงานก่อสร้างถนนยางพารามาหลายสายทาง ได้แก่ ถนนพาราสเลอรี ซีล ประมาณ 10 สาย
พาราแอสฟัลติกคอนกรีต 3 สาย และพาราเคพ ซีล 2 สาย ในพื้นที่ จ.พัทลุง และ จ.ตรัง
งานที่สำคัญคือ
รับงานสร้างถนนยางพาราของ กรมทางหลวงชนบท และ อบจ.ตรัง หลายสายในปีงบประมาณ 2558
และในปี 2559
นอกจากประมูลงานแล้ว
หจก.วงศ์สวัสดิ์ ยังรับจ้างงานถนนยางพารา โดยเฉพาะงานฉาบผิวถนน
โดยผู้ว่าจ้างทำพื้นชั้นล่างแล้ว จากนั้นจ้างให้ฉาบผิวถนนชั้นสเลอรีซีล อีกจำนวนมาก
“ผู้ที่จะทำการปูชั้นสเลอรีได้
ต้องมีรถสเลอรีโดยเฉพาะ ซึ่งมีราคาอย่างต่ำ 8 ล้านบาท ผมเป็นผู้รับเหมาแรกที่ลงทุนรถซีล
คันแรกของ จ.ตรัง”
คุณสมบัติของถนนยางพารา
“ยางมะตอยหรือยางแอสฟัลต์เมื่อผสมยางพาราเข้าไปจะช่วยให้พื้นผิวถนนมีความยืดหยุ่นดี
ช่วยในการยึดเกาะถนน รถวิ่งแล้วรู้สึกถึงความแตกต่าง เพราะจะรู้สึกว่าแน่นและมั่นคง
จึงลดอุบัติเหตุได้ระดับหนึ่ง” นายสวัสดิ์ บอก
ข้อดีอย่างหนึ่งที่ไม่มีใครรู้ก็คือ
ผู้รับเหมางานถนนยางพารา โกงไม่ได้ เมื่อก่อนการทำชั้นสเลอรี ซีล
ผู้รับเหมาอาจจะใส่น้ำผสมแทน แต่พอเป็น พาราสเลอรี หากเพิ่มน้ำเข้าไป มันจะเละเหลว
เพราะเป็นสูตรที่พอดีอยู่แล้ว
ข้อดีอีกอย่างของพาราสเลอรี
ซีล คือ แห้งเร็ว เปิดการจราจรได้ไว และสะดวกในช่วงหน้าฝน หลังปูหรือฉาบประมาณ
1ชั่วโมง เปิดการจราจรได้ แต่ถ้าเป็นยางมะตอยธรรมดา ใช้เวลา 5-6
ชั่วโมงกว่าจะเปิดจราจรได้
“ความทนทานของถนนยางพาราสูงกว่าถนนปกติ
อย่างมีถนนสายหนึ่งมีคันไถรถไถนาครูดผิวถนน ไม่เสียหายมากเท่าถนนธรรมดา
เพราะมันแข็งและทนกว่า”
อย่างไรก็ตาม
คุณสวัสดิ์บอกว่าถนนยางพาราจะทนหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ผิวจราจร หรือ
ผิวถนนที่ผสมยางพารา แต่หัวใจอยู่ที่ฐานล่าง แม้จะปูดีอย่างไร ยางยึดเกาะถนนดีเท่าไร
ถ้าทำฐานไม่ดี ถนนจะพังง่าย เพราะการทำผิวสเลอรี ซีล ผิวจราจรหนาเพียงแค่ 1 ซ.ม.
เท่านั้น ฉะนั้นฐานล่างต้องแน่นมาก ส่วนแอสฟัลติกคอนกรีตขนาดหนาๆ
ก็พังได้ถ้าฐานล่างไม่ดี
“แต่ชื่อเสียงของ
หจก.วงศ์สวัสดิ์ ยังไม่เคยเสีย เพราะโดยสัญญาจะมีการรับประกัน 2 ปี ยิ่งงานของ
อบจ.มีการตรวจสอบเข้มข้นมาก ผู้จะรับงานได้ต้องมีความละเอียด
“โดยเฉพาะความหนาของผิวแอสฟัลต์
ต้องเป็นไปตามกำหนด มีการเจาะตรวจความหนา อย่าลืมว่าถ้าปูบางไป 1 ซม.
จะประหยัดไปได้มาก อย่างถนน 1 กม.กว้าง 8 เมตร ถ้าปูบางไป 1 ซม. จะประหยัดยางแอสฟัลต์ติกคอนกรีตไปได้อย่างน้อย
80 คิว”
ทั้งนี้ในทางเทคนิค ถนนยางพารา
มีความคงทนต่อการเสื่อมสภาพและเพิ่มความต้านทานการเสียรูปอย่างถาวรได้ดี
มีความยืดหยุ่นตัวเพิ่มขึ้นและยึดเกาะหินได้ดีกว่า
จึงยืดอายุการใช้งานของผิวทางให้ยานานขึ้น
เวลาจะรับงานประมูลถนนพิจารณาอะไรบ้าง
ดูระยะทาง
ถนนที่จะรับงานต้องอยู่ไม่ห่างจากแพลนท์ไม่เกิน 100 กม.
เพราะความร้อนของยางมะตอยไม่ได้ตามที่กำหนด จึงรับได้ทั้งจังหวัดตรัง และพัทลุง
เวลาทำงานถึงหน้างานอุณหภูมิต้องไม่น้อยกว่า 120 องศา แต่แม้จะไกลกว่า 100
กม.ก็หาวิธีการได้ มีเทคนิคอยู่
ส่วนต้นทุนอื่นๆ
มีการจัดสร้างถนนจะมีราคากลางกำหนดอยู่แล้ว
ทั้งนี้
กรมบัญชีกลาง
ได้ออกหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างทางที่เกี่ยวข้องกับการนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างทาง
จำนวน 2 สูตร ได้แก่ พาราแอสฟัลติกคอนกรีต และ พาราสเลอรีซีล
เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐนำไป ปฏิบัติ และคำนวณต้นทุนราคากลางก่อสร้าง
โดยกำหนดราคากลางต้นทุนเฉลี่ย
337.31 บาท/ตารางเมตร จากเดิม 245.77 บาท/ตารางเมตร หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 37%
การกำหนดราคากลางถนนผสมยางพารา
จะช่วยให้สามารถคำนวณราคากลางถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว และเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด
ทำให้ช่วยลดข้อผิดพลาด รวมถึงควบคุมตรวจสอบ ลดการรั่วไหล ของงบประมาณ
โดยจะเริ่มใช้ในเดือน กรกฎาคมนี้
นโยบายถนนยางพาราดีมาก
แต่ ยางพาราผสมยางมะตอยยังราคาสูง
ปัญหาที่อยากฝากคือ
โรงงานผู้ผลิตยางมะตอยอย่าเอาเปรียบลูกค้ามากเกินไป ราคายางมะตอยจะสูงเท่าไหร่
ผมในฐานะผู้รับเหมาทำได้หมด เพราะมีราคากลางอยู่ ถ้ายางมะตอยราคาสูง
เราก็สูงตามต้นทุน
แต่ผู้ที่จะเสียงบประมาณส่วนนี้คือ ประเทศชาติ จึงอยากให้มีผู้ผลิตมากรายขึ้นเพื่อให้เกิดการแข่งขัน
เป็นปัญหาที่พูดกันมานาน และแก้ยาก
นายสวัสดิ์ เปิดใจทิ้งท้าย
ประเด็นสำคัญที่นายสวัสดิ์ ฝากไว้
ตรงกับความคิดเห็นของหลายหน่วยงานที่ดำเนินนโยบายถนนยางพารา อย่างนายกิจ หลีกภัย
นายก อบจ.ตรัง
ที่มีการโครงการสร้างถนนยางพารามากกว่าครึ่งหนึ่งของการสร้างถนนทั้งปีงบประมาณ
เขาบอกว่า เมื่อรัฐบาลออกนโยบายให้สร้างถนนผสมยางพารา
ผู้ผลิตยางมะตอยรายใหญ่ขึ้นราคาทันที ขณะที่ผู้ผลิตในประเทศมีน้อย
จนแทบไม่มีการแข่งขัน
ในฐานะของผู้ปฏิบัติ ผู้ใช้งบประมาณ และผู้รับเหมา
ย่อมไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ยางพาราแอสฟัลต์ราคาสูง เท่าใดนัก แต่ส่วนที่ได้รับผลกระทบตามความเห็นของนายสวัสดิ์คือ
งบประมาณชาติที่เพิ่มขึ้นจากการเอากำไรของผู้ผลิตยางมะตอยนั่นเอง
ขอขอบคุณ
สวัสดิ์ โอทอง
หจก.วงศ์สวัสดิ์ก่อสร้าง
20 ถ.พิศาลสีมารักษ์ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง โทรศัพท์ 08-14770550,
0-7527-1021, 0-7523-5324 โทรสาร 0-7527-2273
อยากจะสอบถามคะ เหตุยางรองตรงบล็อกหางรถ มันดุ้ง
ตอบลบแก้เเล้วยังเหมือนเดิม จะเเก้ยังไงบ้าง