“อยู่ที่การบริหารจัดการ”
ผู้ถูกถามตอบสั้นๆ ก่อนจะขยายความว่า
“ตั้งแต่การเลือกซื้อยาง การผลิต บริหารตลาด
แม้กระทั่งเครื่องจักรก็สำคัญ”
นั่นหมายความว่าทุกขั้นตอน คือ “ห่วงโซ่” ความสำเร็จของการผลิตยางเครป...!!!
ฤทัยรัตน์ สาลี สาวเก่งแห่ง “บุญทวี รับเบอร์” ผู้รับซื้อยางรายใหญ่แห่ง
อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ คือ
ผู้ให้คำนิยมของแนวทางการผลิตยางเครปให้ประสบความสำเร็จข้างต้น
เพราะเธอจับธุรกิจรับซื้อยางก้อนถ้วยและแปรรูปยางเครป
จนสามารถ “เขียน” แนวทางการผลิตยางเครปได้อย่างละเอียด
ซึ่งทั้งหมดมาจากประสบการณ์การทำยางเครปมากว่า 4 ปี
ขณะเดียวกันโรงผลิตยางเครปของเธอ ยังเป็นเสมือน “ห้องเรียน”
สำหรับผู้สนใจธุรกิจแปรรูปยางชนิดนี้ ที่ถ่ายทอดทั้งแนวคิด ทฤษฎี และปฏิบัติ
จากผู้ขาย
สู่ผู้ซื้อ ยาง
บุญทวี
รับเบอร์ มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นเกษตรกรชาวสวนยางทำยางก้อนถ้วยขายพ่อค้าในพื้นที่
แต่มักจะถูกผู้ซื้อกดราคาอยู่เป็นนิจ
แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจการกำหนดราคา
ก่อนจะพลิกตัวเองมาเป็นผู้ซื้อยางเมื่อ
4 ปีที่แล้ว เพื่อขายยางจากสวนตัวเอง และรับซื้อจากเกษตรกรในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายผ่านระบบการประมูล
กลยุทธ์การซื้อยางก้อนถ้วยให้กำไร
การเป็นพ่อค้ารับซื้อยางก้อนถ้วยใช่ว่าจะนอนกอดความสำเร็จ
หรือทำผลกำไรได้เสมอไป เพราะมีคนจำนวนมากที่เข้ามาจับธุรกิจนี้
แต่ขาดประสบการณ์และการวิเคราะห์ตลาดที่ดี จึงเจ๊งไปก็มาก
เพราะยางประเภทนี้มีปัจจัยเรื่องของน้ำหรือความชื้นเข้ามาเกี่ยวข้อง
ผู้ซื้อจึงต้องวิเคราะห์คุณภาพยาง และต้องเก่งคำนวณความสูญเสียน้ำหนักระหว่างขนส่ง
และความเสี่ยงด้านการขึ้นลงของราคาในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น
ฤทัยรัตน์
ถ่ายทอดประสบการณ์เรื่องนี้ว่า พิจารณาจากจำนวนวันกรีด และคุณภาพยางเป็นปัจจัยสำคัญ
โดยเธอจะซื้อยางจาก 2 ทางคือ ซื้อจากลานประมูล
เป็นลานรวบรวมยางจากเกษตรกรในพื้นที่แล้วขายผ่านการประมูล
อีกแหล่งคือการเปิดซื้อในลานของร้าน
โดยจะมีเกษตรกรนำมาขายทุกวัน
ยางจาก
2 ทาง คุณภาพมีความแตกต่างกัน ขณะเดียวกันยางแต่ละแหล่งก็คุณภาพแตกต่างกัน
ดังนั้นผู้ซื้อยางจึงต้องพิจารณาจากคุณภาพยางเป็นสำคัญ
เธอบอกว่า พื้นฐานที่ผู้ซื้อต้องมีคือ
ต้องหัดดูลักษณะยางให้เป็น ต้องรู้ว่าลักษณะยางที่ดีและไม่ดีเป็นอย่างไร เช่น “ยางทับหน้า” คือยางที่เกษตรกรกรีดเช้าวันที่เก็บมาขาย
ยางประเภทนี้ชั้นยางใหม่จะหลุดออกจากก้อนทันที เวลาจะซื้อจึง ต้องตัดราคาความสูญเสียน้ำหนักที่จะหายจากส่วนนี้ให้มาก
ส่วนใหญ่จะพบกับเกษตรกรที่นำยางมาขายหน้าลาน
“ถ้านำไปส่งโรงงานก็เละ เพราะน้ำเยอะ
อาจขาดทุนได้”
นอกจากนั้นยังมียางอีกประเภท เป็นยางไม่พอน้ำกรด
หรือผสมน้ำกรดอ่อนเกินไป ทำให้เนื้อยางจะยุ่ย ไม่ได้คุณภาพ
ลักษณะยางที่ดีต้องหยอดน้ำกรดให้แข็งทุกครั้งที่กรีด
การตรวจวัดคุณภาพทำได้โดยใช้มีดผ่าก้อนยางก็จะเห็นเนื้อยางเป็นชั้นๆ
ซึ่งแต่ละชั้นก็คือจำนวนวันกรีด
“ถ้าเป็นยางที่รวบรวมเป็นกลุ่มเราจะนับวันกรีดดู
ถ้ากรีด 2 พัก 1 วัน เราก็เอา 12 วัน หาร 3 คูณ 2 ก็จะได้ว่าต้องเป็นยางกรีด 8 มีด
แต่ถ้าเป็นยางที่เกษตรกรนำมาขายที่ลานจะใช้มีดผ่าดูชั้นยาง เพื่อความแน่นอน
ถ้าเป็นยางดี เราก็จะบวกราคาเพิ่มจากหน้าร้านให้ แต่ถ้าเป็นยางอ่อนเราก็ตัดราคาเช่นกัน”
แต่เธอให้ข้อมูลสำคัญว่า ยางของกลุ่มสหกรณ์ภายใต้การดูแลของ
สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หรือ
สกย. มีคุณภาพดีที่สุด เพราะยางที่รวบรวมมีการควบคุมคุณภาพยางเข้มงวด เช่น
ต้องไม่มีสิ่งปลอมปน เป็นยางกรีด 8 มีดขึ้นไป และเป็นยางค้างคืน
น้ำหนักจะลดลงไม่มากนัก
“ถ้าอยากทำธุรกิจลองซื้อยางจาก
สหกรณ์ สกย. โอกาสขาดทุนน้อยมาก ถ้าเรายังไม่มีสถิติ ก็ให้ลองซื้อ
แต่ราคายางจะสูงกว่าลานทั่วไป
“แต่อย่างไรก็ตามผู้ซื้อต้องอาศัยความชำนาญเรื่องลักษณะยาง
ซึ่งจะต้องค่อยๆ เรียนรู้ไป”
ปัจจุบันบุญทวีรับเบอร์ซื้อขายยางปริมาณวันละ
300-400 ตัน แต่ถ้าวันที่ไม่มีการประมูลรับซื้อหน้าลาน ประมาณ 100 ตัน/วัน
ปัจจัยราคาซื้อขายยาง
มีผลต่อกำไรและขาดทุน
ปัจจัยที่จะทำให้ธุรกิจซื้อขายยางก้อนถ้วยประสบความสำเร็จ
นอกจากจะต้องพิจารณาคุณภาพยางเป็นแล้ว ปัจจัยรองลงมาก็คือ “ราคายาง”
เธอแนะนำว่าเมื่อซื้อยางมาแล้ว
ควรหาแหล่งขายหรือโรงงานประจำ ไม่ควรวิ่งขายยางตามราคาโรงงานที่ให้ราคาสูงๆ มากนัก
เพราะจะทำให้น้ำหนักระหว่างการขนส่งยางลดลง และต้นทุนก็สูงขึ้น สุดท้ายก็จะขาดทุน
นอกจากนั้นยังต้องรู้ความต้องการคุณภาพยาง
และวิธีการวัดเปอร์เซ็นต์ยาง และวิธีรับซื้อของโรงงานที่จะขายยางด้วย
“แต่วิธีการคร่าวๆ การซื้อจะดูจากฤดูกาล
เพราะแต่ละฤดูกาลเปอร์เซ็นต์ยางไม่เท่ากัน เราจึงต้องมีการทำสถิติไว้
ช่วงที่เปอร์เซ็นต์ยางอ่อนที่สุดคือ หน้าหนาว เพราะน้ำยางออกเยอะ ยางสดเปอร์เซ็นต์แค่
54-56% เท่านั้น
เวลาเราคำนวณราคาซื้อก็ต้องดูราคาโรงงาน ถ้าซื้อหน้าโรงงาน 65
ก็นำมาลบกับเปอร์เซ็นต์ยาง 54% และลบน้ำหายระหว่างขนส่ง
และค่าใช้จ่าย จะได้ราคาประมาณ 33 บาท/กก.
แต่ถ้าตอนนั้นเป็นช่วงที่เราอยากได้ของก็จะดันราคาซื้อ 34 บาท นั่นหมายความว่าเราขาดทุนแล้ว
1 บาท” ฤทัยรัตน์ให้ข้อมูล
เพิ่มช่องทางกำไร
จากยางก้อน ด้วยการผลิตยางเครป
จากข้อมูลที่ได้จากบุญทวีรับเบอร์ จะเห็นไว้ว่าการซื้อขายยางก้อนถ้วยต้องอาศัยความชำนาญด้านการคัดเลือกยาง
และวิเคราะห์ราคายาง ทั้งสองปัจจัยสำคัญพอๆ กัน
แต่อย่างไรก็ไม่ได้หมายความว่า
ถ้ามีความชำนาญทั้ง 2 ทาง จะเป็น “ตรายาง” การันตีความสำเร็จในธุรกิจนี้ เพราะพ่อค้ายางเองก็อาจจะถูกกดราคายางจากโรงงานด้วยเช่นกัน
โดยเฉพาะความผันผวนเรื่องน้ำหนักยาง ที่สูญเสียไประหว่างการขนส่ง และการตรวจวัดเนื้อยางแห้ง
(DRC) แต่ละโรงงานไม่เหมือนกัน
เพราะอย่างไรโรงงานก็ต้องการซื้อวัตถุดิบราคาถูกที่สุดเพื่อนำไปทำกำไรสูงสุด
แนวทางการขจัดจุดอ่อนเรื่องการถูกกดราคาจากโรงงานของบุญทวีรับเบอร์
คือ การแปรรูปเพิ่มมูลค่ายางก้อนถ้วยเป็น “ยางเครป” นั่นเอง
“เห็นตัวอย่างจากการทำหลายๆ แห่งใน จ.บึงกาฬ
ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่ายาง และนำไปทำยางแท่ง STR จึงเกิดแนวคิดอยากทำ
เพราะมียางอยู่ในมือแล้ว” ฤทัยรัตน์เล่า
การลงทุนผลิตยางเครป สำคัญคือ
เครื่องจักรรีดยางเครป ซึ่งในช่วงแรก หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เครื่องมือ 2
จากประเทศมาเลเซียราคาเครื่องละ 450,000 บาท จำนวน 2 ตัว
และหลังจากนั้นซื้อเครื่องมือ 2 ในประเทศอีก 2 ตัว
ด้วยเป็นเครื่องรีดเครปมือ
2 กำลังการผลิตจึงทำได้ช้า และเครื่องจักรค่อนข้าง “ชราภาพ” เต็มที
โดยเฉพาะความแข็งแรงมั่นคง มีกำลังการผลิตรวมเพียง 8 ตัน/วัน หรือเครื่องละ 2
ตัน/วันเท่านั้น
ส่วนโรงเรือนมีอยู่แล้ว เพียงแค่ปรับพื้นที่
เทพื้น เท่านั้น
จากการทำยางเครปในช่วงแรกๆ
ทำให้ได้กำไรหลังหักต้นทุนการผลิตแล้ว กิโลกรัมละ 2-3 บาท
ภายหลังบุญทวีรับเบอร์มีการเปลี่ยนเครื่องรีดยางเครปใหม่ทั้งหมด
โดยเลือกเครื่องจักรที่ออกแบบโดยคนไทย แต่อะไหล่และวัสดุเป็นของนำเข้าจากต่างประเทศ
มีความมั่นคง เพราะขาเป็นเหล็กตัน กำลังการผลิตสูงชั่วโมงละ 1 ตัน จำนวน 3 เครื่อง
ราคาเครื่องละ 690,000 บาท (มอเตอร์ 50 แรง)
“กำลังการผลิตเครื่องรีดยางเครปใหม่จึงทำให้การผลิตสูงขึ้น
แต่ที่สำคัญก็คือ มีการบริการหลังการขาย เช่น มีการรับประกันมอเตอร์ 2 ปี และการซ่อมบำรุงเมื่อมีปัญหา”
นอกจากการลงทุนเครื่องจักร
โรงเรือนแล้ว
ยังต้องเผื่อเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการซื้อยางก้อนถ้วยป้อนการผลิตด้วย
อย่างบุญทวีรับเบอร์ผลิตยางเครปวันละ 40 ตัน
ต้องใช้เงินทุนซื้อยางวันละ 1.3-1.4 ล้านกว่าบาทแล้ว แต่การผลิตยางเครปจะได้เงินช้ากว่าขายยางก้อนอย่างน้อย
1 วัน
แนวทางการผลิตยางเครปให้ประสบความสำเร็จ
หญิงเก่งแห่งบุญทวีรับเบอร์
ให้แนวทางการทำยางเครปว่า ปัจจัยสำคัญคือ การควบคุมคุณภาพการผลิตยางเครปให้สม่ำเสมอ
โดยเฉพาะเรื่องสิ่งเจือปนและความสะอาดเป็นหลัก เพราะอาจจะเป็นจุดอ่อนให้กดราคาซื้อยาง โดยอ้างว่าเป็นยางไม่มีคุณภาพ
“ความสะอาดดูตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกยางก้อนถ้วย ต้องไม่มีสิ่งปลอมปน
เศษไม้ หรือโลหะ การผลิตต้องใช้เยอะ ในการทำความสะอาดยางก่อนรีด ระหว่างรีด
และหลังรีด”
นอกจากนั้นยังต้องมีบ่อบำบัดน้ำเสีย
และมีมลพิษเรื่องกลิ่น จึงต้องอยู่ห่างจากชุมชนอย่างน้อย 3 กม.
เมื่อสามารถควบคุมการผลิตให้มีคุณภาพได้
แนวทางต่อมาคือ การบริหารด้านการซื้อขาย เพราะยางเครปสามารถขายได้หลายช่องทาง
ตั้งแต่การขาย “ยางเครปสด” คือ รีดเสร็จแล้วขายทันที และระยะการตากตั้งแต่
3-7 วัน และนานกว่านั้น เพื่อให้ยางแห้งไว
ดังนั้นการจะพิจารณาว่าจะขายยางเครปช่วงไหนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
โดยมีหลักว่าถ้าจะทำ “ยางเครปตาก” ควรต้องล็อกราคาซื้อขายกับโรงงานล่วงหน้าก่อนการตาก
เพราะการตากยางส่วนใหญ่เพื่อให้ยางมีคุณภาพสูงขึ้น ปริมาณความชื้นน้อย และเก็งกำไร
แต่ถ้าราคายางผันผวนก็อาจจะขาดทุนได้
“เมื่อเก็งกำไรแล้วว่ายางจะขึ้นราคา
ก็เครปแล้วเครปตาก แต่ปรากฏว่าถ้ายางราคาตกในช่วงที่เราตากไปแล้ว จะขาดทุน
ยิ่งถ้าคุณภาพและความสะอาดไม่ได้ก็ทำได้ยาก” ฤทัยรัตน์บอก
แต่แนวทางหนึ่งที่ช่วยได้ก็คือ
การขายยางเครปสด เธอบอกว่าเป็นประเภทยางเครปที่บริหารจัดการได้ง่าย
เพราะสามารถคำนวณได้ว่า ยางที่ซื้อมาแต่ละวันน้ำหนักจะหายหลังการรีดเท่าไหร่ จะได้เปอร์เซ็นต์ยางเท่าไหร่
และจะได้กำไรจากการผลิตวันนั้นเท่าไหร่
“การคัดเลือกซื้อยางก้อนถ้วยมาทำยางมาเครปก็เหมือนกับการซื้อยางก้อน
ถ้าซื้อก้อนขาดทุน ถ้านำมาเครปก็จะขาดทุนเพิ่มเช่นกัน แต่ถ้าเราซื้อยางดีมาเครป
ก็จะขายได้กำไร”
เธอแนะนำอีกว่า
ควรต้องจดบันทึกประวัติคุณภาพยางแต่ละแหล่งไว้
จะเป็นประโยชน์ต่อการคำนวณความคุ้มค่าการผลิตยางเครป
“ยางหน้าลานส่วนใหญ่เป็นยาง 4-6 มีด
ถ้านำมารีดแล้วน้ำจะออกเยอะ น้ำหนักก็จะลดลงเยอะเช่นกัน แต่ถ้าเป็นยาง 8 มีดเป็นยางที่นำมารีดเครปดีสุด”
ทั้งนี้ยางก้อนถ้วยที่บุญทวีซื้อ วันละ 300-400 ตัน จะนำมารีดเครป
เพียงแค่ 40 ตัน/วันเท่านั้น ตามกำลังการผลิตของเครื่องจักร ส่วนยางก้อนถ้วยส่วนใหญ่จะส่งขายเข้าโรงงานยางแท่งใน
จ.บึงกาฬ
ตลาดยางเครปเริ่มขยายในบึงกาฬ
ด้านแหล่งรับซื้อยางเครปในอดีตเคยมีปัญหาเพราะโรงงานยางแท่งไม่รับซื้อยางเครป
โดยให้เหตุผลว่าการผลิตไม่มีมาตรฐาน คุณภาพ และปริมาณค่อนข้างน้อย จึงไม่มีโรงงานเปิดซื้อยางเครปมากนัก
จนดูเหมือนว่าการทำยางเครปจะ “เป็นหมัน” เสียแล้ว
แต่ภายหลังเกิดกระแสการแปรรูปยางเครปมากยิ่งขั้น
จึงมีปริมาณขึ้นมา และการผลิตค่อนข้างมีคุณภาพ โรงงานยางเกือบทุกแห่งใน จ.บึงกาฬ
จึงรับซื้อยางเครปทุกโรง ได้แก่ โรงงานรับเบอร์แลนด์ (ในเครือศรีตรัง)
โรงงานไทยฮั้ว และโรงงานเซาท์แลนด์ เป็นต้น
แต่แหล่งส่งขายยางเครปของบุญทวีรับเบอร์
ส่ง 2 โรงงาน คือ ยางเครปสด ขายโรงงานถาวร จ.หนองคาย
ส่วนยางเครปตาก ส่งขายโรงงานรับเบอร์แลนด์ และโรงงานไทยฮั้ว
ทั้ง 2 โรงงานมีการซื้อและวัดหาค่าเนื้อยางด้วยห้องแล็บมาตรฐาน จะทราบผลยางอีกวันและรับเงินตอนเย็นวันนั้น
อีกทั้งยังสามารถตกลงราคาซื้อขายล่วงหน้าได้ แต่ต้องส่งยางอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อถามถึงตัวเลขความคุ้มค่าของการนำยางก้อนถ้วยมาแปรรูปเป็นยางเครป ฤทัยรัตน์เปิดเผยว่า “ยางเครปขายได้กำไรกว่าขายยางก้อน
2 เท่า”
ถ้าซื้อยางก้อนถ้วยแล้วขายเข้าโรงงานได้กำไร
5,000 บาท เมื่อนำมาแปรรูปเป็นยางเครปจะได้กำไรเพิ่มเป็น 10,000 บาท
คุณภาพยางเครป
ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการผลิต
คุณภาพของยางเครป
นอกจากความสะอาดแล้ว ความชื้นก็เป็นอีกส่วนที่มีความสำคัญ ซึ่งความชื้นของแผ่นเครป
จะมีความสัมพันธ์กับความหนาบางของยางเครป และโรงเรือนตากยาง
หากแผ่นเครปหนามากๆ จะทำให้ยางแห้งยาก
ยิ่งถ้าสถานที่ตากไม่ดีพอ ลมไม่ระบายพัดผ่าน ความชื้นจะสูง
และยากต่อการคำนวณเปอร์เซ็นต์เนื้อยาง จนอาจทำให้ยางชุดนั้นขายขาดทุนได้
ดังนั้นจึงควรรีดเครปให้บางประมาณ 6 มม.
จะทำให้แผ่นยางแห้งง่าย เพราะการระบายความชื้นในแผ่นดีกว่าเครปที่แผ่นหนา
การคำนวณเปอร์เซ็นต์จากสายตาจะทำได้ง่ายด้วยเช่นกัน ยางเครปชุดนั้นจะได้เปอร์เซ็นต์สูงกว่า
และส่งขายได้เร็วกว่า
ทั้งนี้โรงตากยางเครปจึงต้องสูงโปร่ง โล่ง
เพื่อให้ลมพัดผ่านได้สะดวก
เธอเปิดเผยว่าอนาคตจะลงทุนเครื่องอบยางเครประบบไฟฟ้า
เพื่อเพิ่มคุณภาพยางเครปให้สูงขึ้น เพราะมองว่ายางเครปคุณภาพสูงจะเป็นที่ต้องการ
โดยเฉพาะโรงงานผลิตพื้นรองเท้าจะใช้ยางเครปที่มี DRC 80% ขึ้นไป
ซึ่งยางคุณภาพอย่างนี้กำลังขาด เพราะทำได้ยากมาก
“กว่าจะตากยางตามธรรมชาติเพื่อให้ค่า DRC สูงๆ
อย่างนั้นทำได้ยากและเสี่ยงขาดทุนจากราคาขึ้นลง คนทำต้องมีทุนเก็บยางไว้เยอะ
“แต่การอบยางเครปจะทำให้ยางแห้งเร็ว จาก 1
เดือนเหลือไม่ถึง 1 สัปดาห์ และแก้ปัญหาเรื่องฝน อากาศ ถ้าตากยางไม่ดี
ลมระบายไม่ทั่วถึง ยางจะมีความชื้นสูง การลงทุนเตาอบยางเครปจึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและมูลค่าให้ยางเครป”
แต่เร็วๆ
นี้ บุญทวีรับเบอร์ กำลังจะขยายกำลังการผลิตยางเครป โดยวางไลน์การผลิตแบบอัตโนมัติ
มีเครื่องสับยาง เครื่องล้างยาง และเครื่องเครป เช่นเดียวกับโรงงาน กำลังการผลิต
100 ตัน/วัน ซึ่งจะสามารถผลิตยางเครปได้สูงขึ้นและใช้แรงงานน้อยลง
ทิศทางยางเครปอีสานโต
เธอมองว่าอนาคตยางเครปในอีสานมีทิศทางที่ดี
โดยดูจากโรงงานใหญ่ใน จ.บึงกาฬเริ่มเปิดรับซื้อแล้ว เพราะอนาคตภาคอีสานเกษตรกรผลิตยางก้อนถ้วยจะสูงขึ้นเรื่อยๆ
การผลิตยางแผ่นจะค่อยๆ ลดลง
ที่สำคัญยางเครปราคาถูกว่ายางแผ่น
ถ้าผึ่งลมตากแห้ง DRC จะสูง ก็สามารถใช้ทดแทนยางแผ่นในการผสมทำยางแท่ง
STR ได้ ต้นทุนการผลิตจึงถูกกว่ายางแผ่น
แต่ว่าต้องให้ความสำคัญเรื่องความสะอาด
นอกจากนั้นยังมีตลาดต่างประเทศ
อย่างตลาดจีน ที่มีความต้องการยางเครป บุญทวีรับเบอร์ ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมามีออเดอร์จากพ่อค้าจีนเป็นระยะ
เคยมีความต้องการสูงถึง 2,000 ตัน แต่กลับหายางเครปไม่ได้
แต่จะรับเพียงแค่การผลิตของตัวเองและในกลุ่ม 50-100 ตัน
“ถ้ามีการสั่งออเดอร์มา จะมัดจำล่วงหน้า 20% แต่ต้องตกลงกันเรื่องคุณภาพยาง
และกำหนดราคาล่วงหน้า”
ขอขอบคุณ
ฤทัยรัตน์ สาลี
บุญทวี รับเบอร์
113/1 หมู่ 1 บ้านศรีวิไล ต.ศรีวิไล อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ โทรศัพท์ 08-0618-8638
ID-Line ruetairat.salee
ไม่มีความคิดเห็น