์News

์News

สกู๊ปเด่นจากปก "ยางเศรษฐกิจ" ฉบับ 17 เดือนสิงหาคม 55



เรื่อง : กองบรรณาธิการ

            “ยางเศรษฐกิจ” ขึ้นพาดหัวใหญ่เป็นสกู๊ปพิเศษหน้าปกแบบแรงๆ เพื่อให้สะท้อนให้เห็น “ภาพ” และ “อารมณ์” รวมทั้งความทุกข์ร้อนของชาวประจวบคีรีขันธ์ใน 3 อำเภอให้ชัดเจนที่สุด...!!!
            กับคำถามที่ว่าเพราะอะไร พื้นที่ อ.ปราณบุรี อ.สามร้อยยอด และอ.กุยบุรี จึงถูกกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศให้เป็นเขตพื้นที่นอกการส่งเสริมปลูกยาง...???
            ทั้งๆ ที่สภาพพื้นที่ของ 3 อำเภอนี้ไม่ได้แตกต่างจาก อ.เมือง ไม่แตกต่างจาก อ.หัวหิน...และไม่แตกต่างจากภาคอีสาน ...!!!
            ทั้งๆ ที่ปัจจุบันเกษตรกรใน 3 อำเภอมีพื้นที่ปลูกยางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  สวนทางกับประกาศของกรมวิชาการเกษตร...!!!
            ทั้งๆ ที่เกษตรกรใน 3 อำเภอนี้ผลิตยางแผ่นดิบคุณภาพออกมาป้อนตลาดหลายร้อยตัน/ปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นตามพื้นที่กรีดที่เพิ่มขึ้น...!!!

            “หรือเพราะกฎหมายระบุไว้ว่าชื่อ ปราณบุรี สามร้อยยอด กุยบุรี ห้ามให้ปลูกยาง ถ้าเป็นอย่างนี้จะได้รู้ไว้” อานนท์ โลดทนงค์ ผู้จัดการสหกรณ์ชาวไร่สับปะรดสามร้อยยอด จำกัด ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่มีบทบาทด้านตลาดซื้อขายยางในพื้นที่ดังกล่าว ตั้งคำถามถึงกรมวิชาการเกษตรแบบกวนๆ
            “ถ้าบอกว่า 3 อำเภอนี้อากาศแล้ง ไม่เหมาะการปลูกยาง แต่อีกหลายอำเภอของประจวบฯ ก็มีแล้งไม่ต่างกันทำไมส่งเสริมปลูกยางได้” อีกคำถามที่แทงใจ
            ถ้าพิจารณาในมุมของวิชาการ จึงเป็นคำถามที่ยังไม่เคลียร์ใจของชาวสวนยางใน 3 อำเภอเท่าไหร่นัก...!!!
           
หรือเป็นเพราะ...อิทธิพลในพื้นที่...???
            
            อย่าลืมว่าพื้นที่ 3 อำเภอที่ถูก “ล่ามโซ่” จากกรมวิชาการเกษตร มี “สับปะรด” ยึดสัมปทานหลักอยู่ เป็นแหล่งปลูกสับปะรดใหญ่ที่สุดของประเทศนี้
            อีกทั้งมีโรงงานสับปะรดกระป๋องส่งออกยักษ์ใหญ่ และอีกหลายขนาดฝังเสาเข็มอยู่ในพื้นที่นี้
            เป็นไปได้ไหมที่จะคิดว่า การที่ 3 อำเภอของประจวบคีรีขันธ์ถูกประกาศเป็นเขตพื้นที่นอกการส่งเสริมปลูกยาง เป็นเพราะอิทธิพลของโรงงานเหล่านี้...???
กำลังทำคลอดสวนยาง พวกเขากำลังขุดหลุมปลูกยางพันธุ์ RRIM 600 ที่ปลูกสับปะรดแซมรออยู่แล้ว หลังจากดูเค้ารางแล้วว่าฝนชุดแรกกำลังมา เหมือนกับอีกหลายพื้นที่ใน ต. ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด กระแสการปลูกยางแทนสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย ที่ยึดครองสัมปทานพื้นที่มานาน
มีคนวิเคราะห์ว่าการที่ 3 อำเภอของประจวบฯ ถูกประกาศอยู่นอกเขตส่งเสริมปลูกยางอาจเป็นเพราะอิทธิพลจากโรงงานสับปะรดใหญ่ๆ ในพื้นที่ ซึ่งมีเป็นสิบโรง ถ้าเกษตรกรหันไปปลูกยางเมื่อไหร่ มีเจ๊งแน่นอน

            ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคำถามที่เกษตรกรในพื้นที่ฝากส่งไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าภาพหลักอย่าง “กรมวิชาการเกษตร”
            ยางเศรษฐกิจลงพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์อีกครั้ง เพื่อควานหา จุดแข็ง จุดอ่อน ปัญหา และอุปสรรค ของเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ 3 อำเภอ ซึ่งปัญหาใหญ่ของพวกเขาคงหนีไม่พ้นการถูกล่ามโซ่จากกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีผลผูกพันไปถึงการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยเฉพาะด้านแหล่งเงินทุน การเข้าร่วมโครงการปลูกยางของรัฐ และการสงเคราะห์โค่นยางเก่าปลูกยางใหม่ เป็นต้น
            เนื้อหาที่ยางเศรษฐกิจเก็บเกี่ยวได้ถูกรวบรวมและเรียบเรียงมานำเสนอเป็นสกู๊ปเด่นจากปกในฉบับนี้ บนเนื้อที่ 33 หน้า เพื่อเป็นกระจกสะท้อนภาพการผลิตยางของเกษตรกร เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณา “ปลดล็อค” โซ่ออกจาก 3 พื้นที่ และยังอาจจะเป็น “โดมิโน่” ไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่ถูกโซ่เส้นนี้จากกรมวิชาการเกษตรล่ามไว้...!!!
           
แม้พื้นที่ทุกอำเภอของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ กำลังถูกรุกคืบจากสวนยางในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ปรากฏว่าสับปะรดก็ยังเป็นพืชตัวหลัก เพราะเมื่อเกษตรกรปลูกยางใหม่มักจะปลูกสับปะรดเป็นพืชแซมเป็นรายได้เสริม แต่อนาคตเมื่อต้นยางใหญ่ก็เท่ากับพื้นที่ปลูกสับปะรดก็ย่อมหายไป และมีแนวโน้มหายไปทุกปี ตามราคาผลผลิตที่ตกต่ำของสับปะรด และราคาที่พุ่งสูงของยางพารา แน่นอนว่าย่อมจะส่งผลต่อชะตากรรมของโรงงานสับปะรดในพื้นที่


อาชีพปลูกยางกำลังได้รับความนิยมในประจวบฯ ค่าปลูกต้นละ 5-10 บาท
นั่นเป็นเพราะมีชาวไร่สับปะรดหันมาเป็นชาวสวนยางกันมากขึ้นนั่นเอง

แม้สภาพอากาศแล้งจะเล่นงานในพื้นที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่เกษตรกรแถบนี้ก็ยืนหยัดสู้อย่างไม่ย่อท้อ เพราะนี่คือพืชความหวังของพวกเขา เทคนิคที่ใช้กันอย่างแพร่หลายก็คือ การวางระบบน้ำ อย่างสวนยางในภาพนี้ เป็นต้น (สวนยางแห่งหนึ่งใน ต.อ่าวน้อย อ.เมือง)

เกษตรกรกำลังนำยางมารวมรวบกันเพื่อขายผ่านระบบประมูล ณ ตลาดประมูลยาง สกย.ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนใหญ่เป็นยางคุณภาพ เกรด 3 และ 4

สภาพสวนยางแปลงหนึ่งใน ต.ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด สภาพต้นแคระแกร็น ดูจากสภาพก็รู้ว่าอาการไม่ค่อยดี ซึ่งอาจเป็นผลมาจาก สภาพดินไม่เหมาะสม แล้ง ขาดการดูแล เป็นต้น แต่ก็พูดได้ไม่เต็มคำว่าเป็นเพราะสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสม เพราะสวนยางที่อยู่ไม่ไกลกัน ก็สมบูรณ์และให้ผลผลิตดี

แหล่งน้ำกลายเป็น โอเอซิสของพื้นที่ 3 อำเภอของประจวบคีรีขันธ์ เพราะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาต้องประสบกับภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงยาว ห้วย หนอง คลองบึง หลายแห่งจึงแห้งขอด เชื่อกันว่านี่คือเหตุผลหนึ่งที่กรมวิชาการเกษตรล่ามโซ่สวนยาง 3 อำเภอ แต่คำถามก็คือ อีกหลายอำเภอ เช่น เมือง และหัวหิน ก็มีสภาพไม่ต่างกัน แต่ทำไมอยู่ในเขตส่งเสริม...???

อ่านรายละเอียดแบบสมบูรณ์ ยางเศรษฐกิจ ฉบับ 17 เดือนสิงหาคม 2555
ลงโฆษณาติดต่อ วันวิสา 08-7325-7394

ไม่มีความคิดเห็น

Random Posts

randomposts