์News

์News

เรียกน้ำยาง ฉบับ 14/2555




นิตยสารยางเศรษฐกิจ ฉบับ 14/2555
___________________________________________________________________
เรียกน้ำยาง
เรื่อง : อินทรีทนง

นิตยสารยางเศรษฐกิจ ฉบับที่ 14 ประจำเดือนพฤษภาคม 2555
            เรื่องร้อนๆ ในวงการยางยังคงอัดแน่นอยู่ในคอลัมน์นี้เหมือนเดิม...!!!
***ได้รับสัญญาณไฟไปแล้วครึ่งตัว สำหรับ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย...???
 หลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ “ฉบับร่าง” ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเสนอไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น
คาดการณ์ว่าน่าจะผ่านฉลุย
            พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการรวมอำนาจการบริหารจัดการของ 2 องค์กรยางรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) และ องค์การสวนยาง กับอีก 1 หน่วยงานรายการคือ สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร รวมทั้ง 3 หน่วยงานเป็นหน่วยงานเดียวชื่อ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)
            ทั้งนี้เพื่อให้การกำหนดนโยบายตลอดจนการดูแลบริหารจัดการยางพาราให้มีเอกภาพมากขึ้นกว่าเดิม หลังจากที่ 3 หน่วยงานแยกกันเดินแต่มีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ พัฒนาอุตสาหกรรมยางไทย
            ส่วนเนื้อหาสาระของร่าง กยท.  “อินทรีทนง” หยิบประเด็นหลักๆ ดังต่อไปนี้
            กำหนดให้ กยท. เป็นนิติบุคคล พร้อมกับทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราของประเทศนี้ทั้งระบบและครบวงจร
บริหารจัดการเกี่ยวกับการเงินกองทุนพัฒนายางพารา ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น
             กำหนดให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ประสงค์จะขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทนตาม พ.ร.บ.นี้ ให้ยื่นคำขอตามแบบและวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด และในกรณีที่ผู้ขอรับมีการปลูกแทนเป็นผู้ทำสวนยางในที่ดินเช่า ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เช่าและผู้ให้เช่า
            กำหนดให้มีการตั้ง “กองทุนพัฒนายางพารา” ขึ้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนายางพารา โดยการกำหนดให้บุคคลซึ่งส่งออกยางออกนอกราชอาณาจักรต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ (กยท.) และให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งก็คือการจัดเก็บเงินเซสส์นั่นเอง
            ทั้งนี้ยังมีบทเฉพาะกาล กำหนดให้โอนบรรดากิจการ เงิน ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน ภาระผูกพันและงบประมาณของ 3 หน่วยงานเดิมรวมทั้งพนักงานและลูกจ้าง มาเป็นของ กยท. ทั้งหมด
            นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมต.ช่วยเกษตรฯ ออกมาให้ข่าวว่าองค์กรยางแห่งนี้จะดำเนินงานอย่างอิสระเพื่อให้การผลิตและการใช้ยางเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับบอกว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยางทั้งระบบ และเขาเองจะดันให้เป็นรูปธรรมเต็มตัว เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายเพิ่มรายได้จากยางพาราของประเทศปีละ 1 ล้านล้านบาท ในปี 2556
            แม้จะมีการพูดกันในวงกว้างว่านี่คือการ “ชุบมือเปิด” ของ “ร.ม.ต.เต้น” หลังจากที่มีการร่างและเสนอ พ.ร.บ.นี้กันมานานตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ หาใช่เป็นแนวคิดที่ไหลมาจากมันสมองของเขาแต่อย่างใด
            แต่ถ้ามองกันแบบไม่รักหรือเกลียดชัง ก็ต้องยอมรับว่าเป็นผลงานของณัฐวุฒิ ในมิติของการเอาจริงเอาจังในเรื่องการผลักดันจนขึ้นฝั่งได้สำเร็จ หลังจากที่ทุลักทุเลมาโดยตลอด
จนมีการคาดการณ์กันว่า พ.ร.บ.การยางฯ ชาตินี้ก็ไม่เกิด...!!!
จนที่สุดร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวก็ผ่านการอนุมัติจาก ครม. ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือการเข้าพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีการคาดเดาว่าคงผ่านได้ไม่ยากนัก เพราะรัฐบาลมีเสียงท่วมท้น
จึงช่วยไม่ได้ที่ณัฐวุฒิจะหยิบยกเรื่องนี้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของเขา...ใช่ไม่ใช่...
            แต่ปัญหาใหญ่ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ องค์กรที่ใหญ่ขึ้นอย่างนี้ มีงบประมาณแต่ละปีมหาศาล โดยเฉพาะรายได้จากหลายทาง เช่น เงินเซสส์ปีละเป็นหมื่นล้าน และธุรกิจอุตสาหกรรมยางหลักหมื่นล้าน/ปี  จะเป็น "บ่อเงินบ่อทอง" ของนักการเมืองหรือเปล่า...???
            และต้องไม่ลืมว่าองค์กรแห่งนี้อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝั่งพรรคเพื่อไทยเพื่อทะลวงฐานเสียงที่เป็น “ปมด้อย” มาโดยตลอดอย่าง ภาคใต้
            นี่คือเรื่องที่เกษตรกรกังวลมากที่สุด

***ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asaen Economics Community) หรือ AEC ชื่อนี้ได้ยินค่อนข้างหนาหูในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เพราะเครื่องมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนนี้จะมีผลในปี 2558 นี้
            เมื่อถึงตอนนี้ 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะมีระบบเศรษฐกิจเป็นแผ่นเดียวกัน ภาษีกลายเป็นศูนย์ ซึ่งหมายถึงการแข่งขันและการลงทุนในแต่ละประเทศจะง่ายขึ้น
            คำถามก็คือ ประเทศไทยพร้อมแล้วหรือยังสำหรับการแข่งขันนี้...???
            นายสุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบอกว่า น่าเสียดายที่ประเทศไทยตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอีก 9 ประเทศ
            ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นว่า สถานการณ์ปัจจุบันกำลังสะท้อนอาการป่วยของสังคมไทย ทำให้ไม่ได้ขยับหรือเตรียมพร้อมกับการรวมประชาคมอาเซียน ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญมาก
            ขณะที่เมื่อย่อให้แคบลงมาที่อุตสาหกรรมยางไทยจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน...???
            นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ แสดงความกังวลอยู่เรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์และโรดแม็ปด้านยางพาราของ AEC
            เพราะผู้ร่างโรดแม็ปแทนที่จะเป็นประเทศไทย ผู้ซึ่งผลิตและส่งออกยางมากเป็นเบอร์ 1 ของโลก แต่ไทยกลับรับหน้าที่ทำแผนการท่องเที่ยวและการบิน ปล่อยให้ประเทศมาเลเซียเป็นผู้จัดทำโรดแม็ปด้านยาง ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเพียงผู้แปรรูปยางเท่านั้น วัตถุดิบส่วนใหญ่ต้องอาศัยจากไทยและอินโดนีเซีย
            การให้ประเทศผู้ใช้ทำโรดแม็บเรื่องยาง โดยที่ผู้ผลิตไม่เข้าไปมีส่วนร่วมเลย จะทำให้เราเสียเปรียบในอนาคตหรือไม่...???
            นายอุทัยย้ำว่าเรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวของไทยต้อง “เสนอหน้า” เข้าไปมีส่วนร่วมโดยด่วน
            ก่อนที่จะสายเกินแก้...!!!

*** ขณะที่กลุ่มเกษตรกรในประเทศหลายภูมิภาคก็เริ่มตื่นตัวเรื่อง AEC ไม่น้อยเหมือนกัน
            อย่าง จ.ระยองเป็นต้น...???
            จังหวัดนี้แม้จะมีชื่อเสียงเรื่องการผลิตผลไม้ระดับประเทศ แต่เรื่องยางก็เด่นเช่นกัน เพราะเป็นแหล่งปลูกยางมากที่สุดของภาคตะวันออก
            ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกยาง 744,708 ไร่ มีสถาบันเกษตรกรที่เป็นการรวมตัวกันของเกษตรกรร้อยละ 44% ปริมาณการรวบรวมยาง 17,779 ตัน มูลค่า 1,962 ล้านบาท
            เมื่อเร็วๆ นี้จึงมีการจัดงานสัมมนาขึ้นในหัวข้อ อนาคตยางพาราระยองผ่านช่องทาง AEC เพื่อเพิ่มความรู้เรื่องตลาดยางพารา เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมงานกว่า 26 แห่ง รวม 213 คน
            เรียกว่าทันยุคทันการณ์กันเลยทีเดียว
            ผลของการสัมมนาสรุปแนวทางของกลุ่มเกษตรกรเพื่อยืนหยัดสู้ AEC ได้ กลุ่มเกษตรกรต้องรวมตัวทำตลาดยางในจังหวัดให้มีความเข้มแข็ง
พร้อมๆ กับการเล่นบทผู้แปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า คืออาวุธเพียงชิ้นเดียวที่จะนำไปสู้รบกับ AEC

***เป็นข่าวเล็กๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่เป็นปัญหาใหญ่ของชาวสวนยาง จ.นราธิวาส...???
            ลำพังแค่เรื่องปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ ซึ่งนราธิวาสจัดอยู่ใน “พื้นที่สีแดง” ของการก่อการร้ายก็ประสาทจะรับประทานอยู่แล้ว...!!!
            ยังมาเจอปัญหาการส่งมอบปุ๋ยจาก สกย. ล่าช้ากระทืบซ้ำเข้าให้อีก...!!!
            เรื่องนี้แดงขึ้นมาก็เมื่อ “ม็อบปุ๋ยยาง” ที่นำโดย นายแวบือราเฮง แวดือราโอ๊ะ ประธานกลุ่มจ่ายปุ๋ย สกย.นราธิวาส นำตัวแทนกลุ่มผู้จ่ายปุ๋ย 13 อำเภอ รวม 21 กลุ่ม และชาวสวนยางที่ได้รับความเดือดร้อนกว่า 200 คน ชุมนุมกันหน้าสำนักงาน สกย.จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2555 ยื่นหนังสือร้องทุกข์กรณีปุ๋ยถึงมือเกษตรกรล่าช้าถึง รมต.เกษตรฯ
            หัวหน้าม็อบปุ๋ยสะท้อนความเดือนร้อนของชาวสวนยางว่า ปุ๋ยที่ต้องส่งให้ตัวแทนกลุ่มผู้จ่ายปุ๋ย เพื่อกระจายให้ชาวสวนยาง 13 อำเภอ ถึงวันนี้ผ่านไป 1 ปีแล้วยังไม่ถึงมือเกษตรกรเลย ทั้งๆ ที่ถึงฤดูกาลใส่ปุ๋ยแล้ว
ขืนรออีก ต้นยางคงอดปุ๋ย น้ำยางแห้งกันพอดี เสียโอกาสทางเศรษฐกิจมหาศาล
            พร้อมกับขอให้มีการผ่อนปรนให้เกษตรกรสามารถหาซื้อปุ๋ยเพื่อบำรุงต้นยางเองได้
            เรื่องนี้เป็นปัญหาเดียวกับกลุ่มเกษตรกรหลายจังหวัดในภาคใต้ เพราะการส่งมอบปุ๋ยเกิดความล่าช้าไม่ทันต่อการบำรุงของเกษตร เมื่อปีที่แล้ว
            จึงต้องย้อนกลับไปดูว่าเกิดจากปัญหาอะไร...???
            สกย.ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการจ่ายปุ๋ยให้เกษตรกรสวนสงเคราะห์จากที่เคยให้กลุ่มเกษตรจัดซื้อปุ๋ยเอง มาเป็น สกย.จัดหาให้ผ่านระบบการประมูล
แต่มีข่าวสีเทาๆ เมื่อปีที่แล้วว่า บริษัทที่ประมูลได้มีปัญหาเรื่องคุณภาพปุ๋ยไม่เป็นไปตามที่กำหนด และยังมีการส่งมอบปุ๋ยล่าช้า โดยอ้างอุทกภัยภาคใต้ในช่วงนั้น 
            แต่จนถึงวันนี้แล้วก็ยังพบปัญหาส่งมอบปุ๋ยล่าช้าเหมือนเดิม
            ตั้งข้อสันนิษฐานง่ายๆ ว่า บริษัทดังกล่าวน่ามีปัญหาแล้ว...!!!
 เรื่องนี้ สกย.ต้องทำให้กระจ่างเพราะเกษตรกรได้รับความเดือนร้อนจำนวนมาก
แต่ได้ข่าวมาว่าการประมูลปุ๋ยปีนี้ ยังตกเป็นของบริษัทเดิม ปริมาณ 31,000 ตัน มูลค่า 600 ล้านบาท ซึ่งราคาดังกล่าวสูงกว่าครั้งแรก ตันละ 3,000 บาท
ถ้าเป็นอย่างนี้คงยากจะให้ชาวสวนยางทั้งประเทศเข้าใจเป็นอื่นไม่ได้ ว่ามีการ “ฮั๊ว” กัน เหมือนที่นายเพิก เลิศวังพง ออกมาประจานว่ามีการล็อกปริษัทผู้ประมูลตั้งแต่ประเภทปุ๋ย และบอร์ด กสย.บางรายชงใส่พานเข้าไป
“อินทรีทนง” ขออย่าให้เป็นอย่างนั้นเลย  เพราะชาวบ้านเขาจะเดือนร้อน...!!!

***นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ถือเป็นผู้หลักผู้ใหญ่แห่งวงการยางที่มักจะออกมาเตือน และแฉเรื่องต่างๆ ในวงการยางที่สีเทาๆ เสมอ อย่างเรื่อง เงินเซสส์ เป็นต้น
            ล่าสุดออกมาชำแระกลยุทธ์การขนยางหนีภาษีเงินเซสส์ตามชายแดนอย่างหมดเปลือก...???
            เพราะด้วยพิษสงของ “ภาษีพิเศษ” หรือ เงินเซสส์ที่ของประเทศไทยเก็บสูงที่สุดในโลก คือ 5 บาท/ กิโล ซึ่งทำให้พ่อค้าส่งออกอ่อนแอหนักเมื่อต้องแข่งขันกับต่างประเทศ
จึงเกิดขบวนการขนยางออกต่างประเทศโดยเลี่ยงเงินเซสส์ โดยเฉพาะชายแดนประเทศมาเลย์...!!!
            นายอุทัยแฉว่ามีการขนยางผ่านช่องทางทุกรูปแบบเข้ามาเลย์ ตั้งแต่กองทัพมด โดยใช้มอเตอร์ไซค์ขนยางแผ่นดิบครั้งละ 100 กิโล ขับทะลุข้ามแดนเข้ามาเลย์โดยไม่เสียภาษี ได้เงินเที่ยวละ 500 บาท สูงกว่าค่าแรง/วันของไทยเสียอีก
ถ้าวันหนึ่งขน 10 เที่ยวก็จะได้เงิน 5,000 บาทเลยทีเดียว
            แต่นั่นเป็นแค่กองทัพมด เพราะมีพ่อค้ารายใหญ่เล่นสต็อกยางไว้ตามโกดังชายฝั่งทะเล รอการขนถ่ายทางเรือสินค้ากลางทะเลออกนอกประเทศ
วิธีการอย่างนี้เป็นไปไม่ได้เลยที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะไม่รู้เห็น...!!!
            วิธีการก็คือ แจ้งการส่งออกน้ำยางจากด่านไทยเข้ามาเลย์ น้ำยาง
DRC 25-30% ทั้งๆ ที่ปริมาณจริงมี DRC 60% ทำให้เสียเงินเซสส์น้อยลง หรือไม่ก็อาศัยใช้ใบส่งออกเวียน เป็นต้น
            การทำอย่างนี้ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพราะผู้ส่งออกที่ทำถูกต้องถูกทางจะเสียเปรียบ ราคายางก็ต่างกันแล้ว เพราะว่าต้นทุนภาษีต่างกัน และที่สำคัญคือ ทำให้ประเทศไทยสูญเสียเงินเซสส์ไปมหาศาล
            เรื่องนี้ “อินทรีทนง” บอกได้เลยว่าผู้ส่งออกน้ำยางสดที่ตั้งอยู่บานเป็นดอกเห็ดสองข้างถนนกาญจนวนิช อ.หาดใหญ่ เขารู้ดีว่าใครทุจริตหรือไม่
            แต่ถ้าพิจารณาตามที่นายอุทัยให้ข้อมูลงานนี้รายเล็กไม่น่าจะทำแน่ น่าจะเป็นรายใหญ่ และสาวหา “พ่อค้าขี้โกง” ได้ไม่ยาก...ถ้าจำเอาจริงเอาจัง...จริงไม่จริง...

***ผลพวงจากการปรับอัตราการเก็บเงินเซสส์ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วยังคาราคาซังมายังรัฐบาลนี้...???
เรื่องใหญ่คือผู้ส่งออกที่ยื่นขอเงินเซสส์ยังไปไม่งินคืน จนหวั่นว่าจะถูกอม...!!!
            แม้ที่ผ่านมาจะมีการทยอยคืนเงินไปแล้วถึง 4 ครั้ง รวม 31 บริษัท เป็นเงิน 506.214 ล้านบาท แต่ก็ยังเหลือค่างเติ่งอยู่อีกตั้ง 66 บริษัท เป็นเงินรวม 1,007.861 ล้านบาท
จนบริษัทที่ได้รับผลกระทบต้องออกมาโวย เพราะกลับถูกชัดดาบ
            เรื่องนี้นายวิทย์ ประทักษ์ใจ ชี้แจงว่า การคืนเงินเซสส์มีกระบวนการยุ่งซาก การตรวจสอบจึงต้องรัดกุมและละเอียดรอบคอบ เพราะเงินเซสส์เป็นเงินของแผ่นดิน ต้องมีการตรวจสอบจาก สตง. สกย.จึงต้องทำอย่างโปร่งใส เพื่อไม่ให้ถูกตรวจสอบภายหลังหายมีปัญหา
            แต่ก็บอกว่าขณะนี้ขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้องแล้วทุกสัญญา พร้อมจะคืนเงินเซสส์ ให้ผู้ส่งออกทั้งหมด รอเพียงการอนุมันติจากบอร์ด กสย.เท่านั้น  
            “คาดว่าภายในเดือนเมษายนนี้น่าจะทยอยคืนเงินส่วนที่เหลือได้”

อินทรีทนง


ไม่มีความคิดเห็น

Random Posts

randomposts