เรื่อง : พิมพ์ใจ พิสุทธิ์จริยานันท์
นพรัตน์ ตรัง ลุยปลูกยางครบวงจร
7,000 ไร่ ใน 3 ภาค
เมื่อภาคใต้กลายเป็นชุมชนแออัดของยางและปาล์มเพราะมีการปลูกกันมานานหลายสิบปี
จนเรียกได้ว่าไม่มีพื้นที่แห่งใหม่ให้ลงทุนปลูกกันมากนัก มูลค่าที่ดิน/ไร่ ก็ค่อนข้างสูงเกินจะนำมาลงทุนเป็นพื้นที่เกษตร
เมื่อการลงทุนใน
“ทางสว่าง” มืดมน
ก็ทำให้เกิดการลงทุนกันใน “ทางมืด”...???
คือ การบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนและอุทยานเพื่อปลูกยาง
เป็นต้น ซึ่งผลกระทบในระยะยาวคือ พื้นที่ป่าที่มีคุณสมบัติยึดเกาะหน้าดินและเป็น
“ฟองน้ำธรรมชาติ” ดูดซับน้ำใต้ดินลดลงอย่างรวดเร็ว
ผลลัพธ์ที่เห็นชัดเจนในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา คือ เกิดฝนตกหนัก ภูเขาถล่ม และดินสไลด์บ่อยขึ้น
ในช่วงฤดูมรสุมทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน
จำเลยเบอร์
1 ที่ถูกป้ายความผิด คือ สวนยางและสวนปาล์ม...!!!
จากปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้พื้นที่การเกิดใหม่ของสวนยางภาคใต้ไม่อาจจะขยายตัวได้
ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสวนยางในภูมิภาคอื่น
เพราะพื้นที่ใหม่มีความน่าลงทุนกว่า พูดให้เข้าใจง่ายๆ
ก็คือ ตัวเลขในการลงทุนสวนยางในภูมิภาคอื่นต่ำกว่าภาคใต้ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบในมิติของ
“ที่ดิน”
พื้นที่แห่งใหม่ที่
“เนื้อหอม” มากที่สุด
คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานและภาคเหนือ
หากแต่ความได้เปรียบของภาคเหนือและอีสาน
คือ มีมูลค่าที่ดินต่ำและสามารถหาพื้นที่แปลงใหญ่ๆ ระดับ 100 ไร่ ขึ้นไป ได้ไม่ยากนัก
แต่เมื่อเปรียบเทียบด้านความเหมาะสมของภูมิอากาศแล้ว
โดยเฉพาะดัชนีชี้วัดที่ชื่อ “น้ำฝน” กลับเป็นรองภาคใต้อย่างสิ้นเชิง
นี่คือ
“จุดบอด” ของภาคเหนือและอีสาน...!!!
การลงทุนปลูกยางในพื้นที่ใหม่จึงไม่
“หมู” แม้กระทั่ง
“เซียนยาง” จากภาคใต้...!!!
ประวัติมีให้เห็นที่ จ.เลย คนใต้จำนวนหนึ่งขึ้นไปลงทุนปลูกยางแล้ว “เจ๊ง” ไม่เป็นท่า
เพราะดันเอาตำราปลูกยางภาคใต้มาใช้ในภาคอีสาน
เช่นเดียวกันอีกหลายจังหวัดในภาคอีสาน
อย่างไรก็ตามใช่ว่าการลงทุนปลูกยางพื้นที่ใหม่จะ
“อวสาน” เหมือนกันทุกราย
ยังมีเกษตรกรที่ทำสวนยางประสบความสำเร็จ ถ้ามีความรู้ความเข้าใจเรื่องสภาพพื้นที่และมีเทคนิคการบริหารจัดการที่ดี
ดังตัวอย่างของ
“นพรัตน์
ตรัง” นักลงทุนสวนยางจากภาคใต้ที่ทุ่มทุนสร้างสวนยางกว่า 7,000 ไร่ ในพื้นที่ 3 ภูมิภาค คือ
ภาคกลาง เหนือ และอีสาน ประกอบไปด้วยนครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ และเร็วๆ นี้ ใน จ.ลพบุรี
สวนยางทุกพื้นที่ของนพรัตน์
ตรัง ล้วนเป็นการบุกเบิกปลูกยางทั้งสิ้น เพราะเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีการปลูกยางมากนัก
ดังตัวอย่างของ อ.ภักดีชุมพล จ.ชัยภูมิ
และ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ เป็นต้น
สวนยางทุกพื้นที่ของนพรัตน์ ตรัง
ล้วนผ่านการวิเคราะห์ดินและปัจจัยอื่น ๆ มาอย่างดี
ไม่เพียงเท่านั้นนพรัตน์
ตรัง ยังเตรียมวางแผนธุรกิจยางกึ่งครบวงจร ตั้งแต่การผลิตกล้ายางคุณภาพ 3 พันธุ์ การส่งเสริมเกษตรกรปลูกยางอย่างถูกวิธี และสุดท้ายการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อรวบรวมผลผลิต
แล้วขายผ่านระบบประมูล เป็นต้น
เส้นทางจากบ่อกุ้งภาคใต้สู่สวนยาง 3 ภาค
“นพรัตน์ ตรัง” ชื่อที่คงจะเดาได้ไม่ยากว่ามีต้นกำเนิดมาจากภาคใต้
แต่มีธุรกิจหลัก คือ บ่อเลี้ยงกุ้ง ในหลายจังหวัด เช่น สงขลา นครศรีธรรมราช และ จ.ตรัง เป็นต้น โดยมีหุ้นส่วน 2 คน
นอกจากนั้นยังมีธุรกิจสวนยางและแปลงเพาะพันธุ์กล้ายางอยู่ใน
จ.ตรัง จึงมีพื้นฐานความเป็นชาวสวนยางค่อนข้างเข้มแข็ง
เมื่อทำงานเกี่ยวกับสัตว์น้ำประสบผลสำเร็จประกอบด้วยมีทีมงานเป็นระบบจึงขยายงานด้านพืช
โดยเฉพาะเรื่องพืชทองอย่างยาง
เพราะช่วงนั้นอุตสาหกรรมยางกำลังอยู่ในยุคเฟื่องฟู
ราคา/กิโลกรัมค่อนข้างสูงชวนลงทุน
จนได้ที่ดินหลายแปลงรวม
4,000 ไร่ ใน อ.ภักดีชุมพล จ.ชัยภูมิ เป็นสวนยางแห่งแรก
ก่อนจะเริ่มปรับพื้นที่
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง อ้อย และพืชไร่เก่า อีก 1 ปี ต่อมา หรือปี 2548 จึงเริ่มต้นปลูกยางเต็มพื้นที่ พร้อมๆ กับการสร้างสวนยางอีก 2,400 ไร่ ใน อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ และ 1,000 ไร่ ใกล้สี่แยกราหุล อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ รวมพื้นที่ปลูกยางกว่า
7,000 ไร่
เน้นปลูกยางพันธุ์ RRIM 600 และ 600 ยอดดำ
พันธุ์ยางคือหนึ่งในความสำคัญของการลงทุนปลูกยาง
เพราะถ้าตัดสินใจปลูกพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่งไปแล้วต้องอยู่กับมันไม่ต่ำกว่า 30 ปี
แปลงเพาะกล้ายางในแปลง บริเวณแยกราหุล จ.เพชรบูรณ์
ก่อนจะทำการติดตาในแปลง มีการวางระบบน้ำและดูแลอย่างดี
|
ด้วยเหตุนี้นพรัตน์
ตรัง จึงเลือกปลูกพันธุ์ยางที่มีความชำนาญ อย่างพันธุ์ พันธุ์ RRIM 600 / 600 ยอดดำ RRIT 251
“เรามีความชำนาญด้านการดูแลยางพันธุ์นี้
ปลูกแล้วมีน้ำยางแน่นอน พันธุ์ใหม่ๆ ยังไม่ชำนาญและไม่มั่นใจ เพื่อความชัวร์ต้องเอาพันธุ์ที่มั่นใจก่อน” อารักษ์ จิโนพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตของนพรัตน์ ตรัง ให้เหตุผลของการเลือกปลูกยางพันธุ์
RRIM 600
ทางวิชาการระบุว่ายางพันธุ์นี้ปลูกได้ในพื้นที่ลาดชัน
แต่ไม่แนะนำให้ปลูกในพื้นที่หน้าดินตื้นและระดับน้ำใต้ดินสูงให้ผลผลิตเฉลี่ย
297 กก./ไร่/ปี
แต่อย่างไรก็ตามนพรัตน์
ตรัง ยังปลูกยางพันธุ์ใหม่ที่กรมวิชาการเกษตรยังไม่รับรองสายพันธุ์ แต่นิยมปลูกกันมากในภาคใต้
อย่างพันธุ์ “600 ยอดดำ” ในพื้นที่ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์
“พื้นที่ปลูกยางยาก
เราจะใช้ยาง 600 ยอดดำ เพราะมันโตไว ต้นจะสูงทันหญ้าเร็ว
ใบจะใหญ่สามารถคลุมรากรักษาความชื้นได้ดี และให้น้ำยางดีกว่า”
ปัจจุบันต้นยางส่วนใหญ่ของนพรัตน์
ตรัง อายุประมาณ 4 ปีกว่าๆ เมื่อดูลักษณะการเติบโตของต้นยางค่อนข้างดี
เพราะสภาพพื้นที่ไม่ใช่อุปสรรคต่อต้นยางแต่อย่างใด
“ดูมาตรฐานจากภาคใต้ ต้นยางของเราดีกว่าด้วยซ้ำไป” นักวิชาการฝ่ายผลิตที่เป็นคนให้
100% ให้ข้อมูลอย่างนั้น
มั่นใจในพื้นที่ ลุยธุรกิจยางต้นน้ำครบวงจร
“เมื่อดูว่าการโตของต้นยางดีแน่
เราเลยลงทุนสวนยางอย่างเต็มตัวและเริ่มทำอย่างครบวงจร”
ธุรกิจยางต้นน้ำลำดับแรก คือ ธุรกิจกล้ายาง ซึ่งนพรัตน์
ตรัง เริ่มทำมาแล้ว 10 ปี โดยการผลิตแบบครบวงจรตั้งแต่การเพาะเมล็ดในแปลงสำหรับเป็นต้นตอ
สร้างแปลงแม่พันธุ์ยางพันธุ์ดีและการชำถุง เป็นต้น
“ทำมากกว่า 10 ปีแล้ว เพราะมั่นใจเรื่องสายพันธุ์ที่ปลูกว่าสามารถปรับสภาพได้ดีในพื้นที่นี้และสามารถผลิตแปลงยางได้
แต่บางคนกลัวเอาต้นกล้าจากใต้แล้วเอามาขายทางนี้”
สำหรับพันธุ์ยางของนพรัตน์
ตรัง มี 3 ตัว ด้วยกัน คือ RRIM 600 RRIT 251 และ 600 ยอดดำ
ปัจจุบันแปลงยางของนพรัตน์
ตรัง มีทั้งหมด 4 สาขา คือ สำนักงานใหญ่ อ.ภักดีชุมพล จ.ชัยภูมิ สาขา อ.หนองบัว
จ.นครสวรรค์ สาขา อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ และสาขาตรัง
ผลิตกล้ายาง 2 ล้านตัน/ปี พร้อมให้คำปรึกษาด้านการปลูกยาง
นักวิชาการฝ่ายผลิตนพรัตน์ ตรัง ให้ข้อมูลด้านการผลิตกล้ายางว่าเริ่มต้นจากการเพาะกล้ายางในแปลง
โดยใช้เมล็ดยางที่ผ่านการคัดสรร
จนเป็นต้นตอ (STOCK
) ใช้เวลาการเพาะประมาณ
6 เดือน
เมื่อต้นมีขนาดพร้อมติดตาก็จะคัดเลือกกิ่งตาพันธุ์ดีจากต้นแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์
กิ่งตามีขนาดใหญ่ ตั้งตรง ไม่มีรอยช้ำ
กำลังการผลิตกล้ายางของนพรัตน์ ตรังประมาณ 2 ล้านต้น/ปี
เพื่อรองรับการเติบโตเหมือนได้ปุ๋ยของสวนยางในพื้นที่ 3 จังหวัด
คือ
ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ และ นครสวรรค์
|
หลังการติดตาประมาณ
45 วัน ตาจะเริ่มติดสมบูรณ์ ก็ทำการถอนต้นขึ้นมาจากแปลง แล้วตัดส่วนยอดเหนือตาเขียวออก
และตัดส่วนรากให้เหลือประมาณ
8 นิ้ว เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการชำถุง
ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนอย่างสูง
หลังการถอนต้นยางขึ้นจากแปลงต้องนำต้นพันธุ์ตาเขียวมาชุบแช่ในน้ำหมักชีวภาพที่นพรัตน์
ตรัง หมักขึ้นมาเอง (ส่วนผสมการหมัก หัวปลาหมัก รำละเอียด จุลินทรีย์
หมักกับกากน้ำตาล) ผสมน้ำยาเร่งราก แช่ทิ้งไว้ประมาณ
6 ชั่วโมง
เมื่อเสร็จขั้นตอนการแช่น้ำหมักชีวภาพและน้ำยาเร่งรากก็เข้าสู่ขั้นตอนต่อมา
คือ การชำถุง ขนาดถุง 3x14 ซม. มีดินแดงที่หาได้ง่ายในพื้นที่เป็นวัสดุชำ
ขั้นตอนการชำถุงนี้จะทำในโรงอบหรือโรงบ่มที่คลุมด้วยแสลนพรางแสง
80% ทั้งโรงเรือน ภายในยังต้องมีพลาสติกคลุมอีกชั้นเพื่อไม่ให้อากาศภายนอกเข้ามาได้
“การชำลงในโรงอบจะทำให้กิ่งแตกตาไวขึ้น
ตาที่แตกออกมาสม่ำเสมอ และยางไม่เป็นโรคง่าย ถ้าเราชำถุงกลางแจ้งต้นกล้ายางจะมีปัญหา
ต่างจากการทำทางภาคใต้ทำในร่มได้เลยไม่ต้องอบเพราะอากาศร้อนชื้น แต่ที่นี่อากาศจะเย็น” อารักษ์เผยข้อจำกัดที่นพรัตน์ ตรัง
สามารถกำจัดได้
ทั้งนี้เพื่อให้รากต้นกล้ายางแตกรากใหม่รวดเร็วขึ้น
จำเป็นต้องพึ่งพาเทคนิคพิเศษ ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของนพรัตน์ ตรัง
“เราจะฉีดน้ำหมักชีวภาพสูตรของเราทุกๆ 3 วัน เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อให้ต้นกล้าแตกตาดีขึ้น
ต้านทานโรคได้ดี ฉีดช่วงเช้าหรือเย็น”
โรงเรือนบ่งกล้ายางชำถุง ใน อ.ภักดีชุมพล สำนักงานใหญ่ของนพรัตน์ ตรัง
ปัจจุบันมาโรงบ่ม 10 โรง เพื่อรองรับการผลิตที่มีค่อนข้างสูง
|
หากทำตามสูตรข้างต้นตาต้นกล้ายางจะแตกออกมาพร้อมกันสม่ำเสมอ
ใช้เวลาเพียง 40 วัน ก็จะได้ต้นกล้ายาง 1 ฉัตร แต่ใบยังเป็นใบอ่อนอยู่จึงต้องเปิดพลาสติกออกให้ต้นกล้ารับแสงประมาณ
20% เพื่อเป็นการปรับสภาพต้นให้เข้ากับอากาศ ใช้เวลาในขั้นตอนนี้ประมาณ
30 วัน ก็เปิดแสลนให้ต้นกล้ารับแสงแดด 100% ได้
นพรัตน์ ตรัง ผลิตกล้ายางปีละเท่าไหร่...???
นักวิชาการฝ่ายผลิตคนเดิมเผยว่า
“เรามีโรงเรือนชำถุง 10 โรงๆ ละ 1 แสนต้น เร็วๆ นี้กำลังจะเพิ่มอีก 2
โรง กำลังการผลิตรวมปีละ 2 ล้านต้น”
เทคนิคจัดการสวนยาง 7,000 ไร่ ของนพรัตน์ ตรัง
ขั้นตอนการสร้างสวนยางของนพรัตน์
ตรัง เริ่มตั้งแต่การปรับพื้นที่และวางแนวการปลูกยางระยะ 3x7 เมตร
แต่ถ้ามีข้อจำกัดด้านพื้นที่ก็อาจปรับมาใช้ระยะ
3x6 เมตรก็ได้
เมื่อวัดแนวระยะปลูกยางได้จึงทำการขุดหลุมขนาด
50x50 ซม. หรือจำง่ายๆ กว้าง 1 ศอก ลึก 1 ศอก รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยร็อกฟอสเฟต
0-3-0 และปูนขาวเล็กน้อยเพื่อป้องกันเชื้อรา
เทคนิคเล็กๆ
เฉพาะของการปลูกยางในอีสานและพื้นที่แล้งของนพรัตน์ ตรัง คือ ขั้นตอนการหย่อนกล้ายางลงหลุม
ต้องกรีดถุงยางแบบ “ถอดผ้า” วิธีการคือกรีดถุงสองข้างแต่ไม่ดึงถุงออกปล่อยให้หลุดเองในหลุมตามธรรมชาติ
วิธีดังกล่าวจะทำให้ดินในถุงไม่แตก
รากยางจะไม่ได้รับความกระทบกระเทือนและเก็บความชื้นได้ดีกว่า
“ถ้าเป็นภาคใต้แกะถุงออกได้เลย
ไม่ต้องกลัวเพราะฝนตกชุก แต่ที่นี่ (ชัยภูมิ) ฝนน้อย ถ้าเอาออกแบบทางใต้ต้นยางตายกว่า
80% แน่ แต่การทำแบบของเราต้นยางแทบไม่ตายเลย”
เทคนิคที่ดูเหมือนง่ายๆ อย่างนี้เล่นเอาเซียนยางปักษ์ใต้มาเจ๊งในอีสานเยอะทีเดียว
หัวใจสำคัญของการปลูกยางอย่างหนึ่ง
คือ ช่วงฤดูกาลปลูกยางนพรัตน์ ตรัง เลือกปลูกช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงต้นฝนยางจะโตไว
เพราะหลังปลูกต้นยางจะได้ฝนต่อเนื่อง 5 เดือน จนแตกฉัตรอย่างน้อย
3 ฉัตร เมื่อหมดฤดูฝนก็สามารถตั้งตัวรับมือกับฤดูแล้งได้แล้ว
“ปลูกยางในอีสานต้องปลูกต้นฝนเท่านั้น” อารักษ์เตือน
“ถ้าปลูกช่วงกลางฤดูหรือช้ากว่านั้นยางจะตั้งตัวไม่ทัน
พอไปเจอแล้วยางจะตายจำนวนมาก”
สวนยาง พันธุ์ RRIM 600 อายุ 4 ปี
|
เมื่อต้นยางสามารถยืนหยัดจนสู้ภัยแล้งได้ การจัดการสวนยางช่วงนี้กิจวัตรประจำ
คือ การกำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการโตของต้นยาง
“เราใช้วิธีดายหญ้าจะไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าถ้าไม่จำเป็น” ทั้งนี้เพราะการใช้ยาฆ่าหญ้าจะมีผลต่อต้นยางอาจตายหรือชะงักเมื่อถูกสารเคมีจากยาฆ่าหญ้าโดยตรง
แต่จะใช้ยาฆ่าหญ้าก็ต่อเมื่อกำจัดหญ้าอายุยาวๆ
อย่างหญ้าคา เป็นต้น
จัดการกับหญ้าเสร็จก็ใส่ปุ๋ยบำรุง
นี่คือเหตุผลว่าทำไมสวนยางจึงต้องกำจัดหญ้าเสียก่อน หากเราใส่ปุ๋ยโดยไม่ฆ่าหญ้าต้นยางจะได้อาหารไม่เต็มที่เพราะถูกหญ้าแย่งอาหาร
อาหารหลักของต้นยางก็คือ
ปุ๋ย นพรัตน์ ตรัง จะใช้ปุ๋ย “ยี่ห้อยารา” 2 สูตร คือ 25-7-7
ปุ๋ยสูตรนี้จะใช้กับต้นยางอายุ
1-2 ปี ช่วงยางเล็กใส่ต้นละประมาณ 1 ฝาเอ็มร้อย
หว่านห่างจากต้นยางประมาณ 3 นิ้ว พอย่างเข้าเดือนที่
3 จึงขยับใส่ห่างจากต้น 1 คืบ ตามการแตกขยายของราก
คุณสมบัติของปุ๋ยสูตรนี้จะบำรุงต้นยางให้สูง
แต่เมื่อต้นยางอายุ
3 ปี จะเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยสูตร 18-4-5 เพื่อบำรุงให้ต้นอ้วนใหญ่
แข็งแรง ไม่หักง่าย ปริมาณการใส่ 1 กก./ต้น
“วิธีการใส่ปุ๋ยเราทำปีละ 3 ครั้ง คือ ช่วงก่อนฝน กลางฝน และปลายฝน ให้แบบฝังกลบกับสวนยางที่อยู่เชิงเขา
ส่วนที่ราบใช้หว่าน”
นอกจากปุ๋ยเคมีสวนยางของนพรัตน์
ตรัง ยังใส่ปุ๋ยคอกเพิ่มเพื่อเป็นการบำรุงดินอีกด้วย
“ใช้เคมีอย่างเดียวดินจะเสีย สวนยางหลายแปลงเป็นไร่มันเก่าดินเสียมากต้องปรับปรุงดินอยู่นาน
วิธีการใช้ปุ๋ยคอกและปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน และปลูกถั่วเขียวบำรุงดินในช่วงแรกๆ พวกถั่วจะตรึงไนโตรเจนได้ดี”
เทคนิคสำคัญอีกส่วนที่ได้จากการจัดการของสวนยางนพรัตน์
ตรัง คือ การแต่งกิ่งแขนง ที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่ช่วงยาง 3 ฉัตร ช่วงนี้ต้นยางจะเริ่มแตกกิ่งแขนง
“เราตัดกิ่งแขนงทิ้งเหลือไว้แต่กิ่งกระโดงหลัง
ที่สำคัญเลยเราจะไม่ใช้กรรไกรตัดเด็ดขาดเพราะมันจะแตกออกมาใหม่อีก แต่จะใช้วิธีเอามือบิดหมุนออกให้มันช้ำ
มันจะไม่แตกกิ่งใหม่มาอีก”
จนเมื่อลำต้นมีความสูงประมาณ
2.5-3 เมตร หรือเอาแค่สุดมือเอื้อมก็ทำการตัดยอดให้ต้นแตกพุ่ม ช่วงนี้ต้องใช้ปุ๋ยสูตร
18-4-5 เพื่อให้ลำต้นแข็งแรง และที่สำคัญต้องไม่ไว้ลำต้นสูงมากเพราะจะทำให้ลำต้นหักง่ายเมื่อเจอลมแรงๆ
สรุปการจัดการสวนยางสวนนพรัตน์ ตรัง
- กำจัดวัชพืช
- ใส่ปุ๋ย
1-2 ปีแรก สูตร 25-7-7 และสูตร 18-4-5 เมื่อยางอายุ
3-4 ปีใช้ สูตร 20-8-20 สลับปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักชีวภาพปีละ 3 ครั้ง
- ตัดแต่งกิ่งให้มีลำต้นสูง
2.5-3 เมตร
การบริหารจัดการสวนยางครบวงจร ของนพรัตน์ ตรัง
จะมีนักวิชาการชำนาญจากภาคใต้มาดูแลอย่างเป็นระบบ ทั้งภาคการผลิตและการส่งเสริม ในภาพกำลังให้สัมภาษณ์ “ยางเศรษฐกิจ” |
- ปลูกซ่อมยางต้นที่ตายในปีแรก ส่วนปีต่อมาหากมียางตายจะไม่ปลูกซ่อมเพราะยางจะโตไม่ทัน
จะนำไม้เศรษฐกิจอย่างมะฮอกกานีและสะตอ เป็นต้น มาปลูกแทน เป็นสวนยางผสมผสาน
ปัญหาและอุปสรรคที่สวนนพรัตน์ ตรัง ประสบ
- ตามพื้นที่บางแปลงที่มีห้วยจะมีการชะล้างหน้าดินช่วงหน้าฝนจะมีการปลูก
“หญ้าแฝก” เพื่อยึดหน้าดิน
- สวนยางเขตภาคกลาง เช่น เพชรบูรณ์
ต้องมีการให้น้ำช่วงหน้าแล้ง โดยการวางระบบน้ำหยดจากการขุดเจาะน้ำบาดาล ต้นทุน
10,000 บาท/ไร่ แต่อยู่ได้ 30 ปี
ส่วนเขตชัยภูมิไม่ต้องวางระบบน้ำเพราะสภาพพื้นที่ค่อนข้างเหมาะสม
- ต้นทุนการบริหารจัดการของสวนยางนพรัตน์
ตรัง เฉลี่ยประมาณ 1.5-2 หมื่นบาท/ไร่/ปี
- ช่วงปลายฤดูหนาวต่อฤดูแล้ง
จำเป็นต้องใช้คนคอยดูแลระวังไฟป่า
ทั้งนี้คาดว่าปี
2557 ต้นยางจะเริ่มเปิดกรีดได้
นพรัตน์ ตรัง จับมือองค์กรท้องถิ่นสนับสนุนเกษตรกรปลูกยาง = ปลูกป่า
ภายหลังการลงทุนปลูกยางในพื้นที่
อ.ภักดีชุมพล 4,000 ไร่ ของนพรัตน์ ตรัง
เห็นได้ชัดว่าเป็นการเพิ่ม “พื้นที่สีเขียว” หรือเพิ่มพื้นที่ป่า
เพราะอดีตสวนยางแห่งนี้คือ ไร่มันสำปะหลัง ที่มีวิถีการผลิตแบบทำร้าย ทำลายดิน ทุกปี
ต่างจากสวนยางที่เป็นต้นไม้ยืนต้นช่วยทำให้พื้นที่มีความชุ่มชื้นขึ้นมา
พิสูจน์ง่ายๆ เพียงแค่เดินเข้าไปในสวนยางก็จะสัมผัสได้ถึงความเย็นและชุ่มชื้น
แนวคิดของนพรัตน์
ตรัง คือ “ยางพาราและต้นไม้คือชีวิต” การปลูกยางพาราก็คือการปลูกป่า ช่วยลดภาวะโลกร้อน
อนุรักษ์ดินและน้ำ ป้องกันควันพิษ โดยการจัดการสวนยางในวิถี
อินทรีย์ ซึ่งจากการทดลองปลูกยางมาแล้วกว่า 4 ปี ยังเป็นเครื่องมือพิสูจน์ว่าการปลูกยางในพื้นที่ภักดีชุมพลปลูกได้จริงและมีคุณภาพ
ด้วยแนวคิดดังกล่าว
นพรัตน์ ตรัง จึงจับมือกับองค์การบริหารส่วนตำบลวังทองทำโครงการ “วังทองภูเขาเขียว” โดยการส่งเสริมเกษตรกรปลูกยาง
เรื่องนี้ บุญเลิศ สังวร สมาชิก อบต.วังทอง ให้ข้อมูลว่า ณัฐติพงษ์
จันทวี นายก อบต.วังทอง มีนโยบายส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกยาง
โดยเปิดให้เกษตรกรที่มีความประสงค์จะปลูกยางมาลงชื่อแจ้งความประสงค์ ทาง อบต.จะสนับสนุนกล้ายางปีแรกคนละ 5 ไร่ มีเกษตรกรลงชื่อแล้ว
160 ราย
“มีข้อแม้ว่าถ้าใครไม่ดูแลตายหมดจะเรียกเงินคืน”
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจับมือกับนพรัตน์ ตรัง ในการสนับสนุนเจ้าหน้าที่และนักวิชาการเชี่ยวชาญด้านยางโดยตรงมาให้ความรู้ผ่านการอบรมอย่างต่อเนื่อง
ช่วงต้นยางอายุ 1-2 ปี นพรัตน์ ตรัง จะให้ปุ๋ยสูตร 25-7-7
แต่เมื่ออายุ
3 ปี จนถึงก่อนเปิดกรีดจะเปลี่ยนมาใช้สูตร 18 -4-5 ใส่ปีละ 3
ครั้ง
พื้นที่ 7,000 ไร่ ต้องใช้ปุ๋ยปีละกว่า 200 ตัน
|
“หัวใจหลักของนพรัตน์
ตรัง คือ ช่วยปลูกป่าถาวร ลดพื้นที่ปลูกพืชล้มลุก พืชไร่ ที่ไถหน้าดิน 2-3 ครั้ง/ปี ทำให้ดินเสีย ถูกฝนชะล้างง่าย
เมื่อเปลี่ยนมาปลูกยางก็เหมือนกับการปลูกป่าควบคู่กับการปลูกหญ้าแฝกเพื่อยึดหน้าดิน”
นอกจากนี้ทาง
อบต.วังทอง ยังหาช่องทางขออนุญาตนำพื้นที่ป่าถูกทำลายให้เกษตรกรปลูกยางสร้างรายได้
เมื่อหมดอายุยางก็ถวายเป็นป่าของแผ่นดิน ซึ่งพื้นที่เป้าหมายคือ เขต ภท5 ในตำบลวังทองและจอมทอง
จากโครงการปลูกยางดังกล่าวเบื้องต้นน่าจะมีสวนยาง
= สวนป่า เพิ่มขึ้น ใน อ.ภักดีชุมพล อย่างน้อยๆ
ไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่
นพรัตน์ ตรัง เดินหน้าส่งเสริมปลูกยาง 3 จังหวัด 3 ภูมิภาค
นอกจากการจับมือกับองค์กรท้องถิ่นแล้ว
นพรัตน์ ตรัง ยังเดินหน้าส่งเสริมเกษตรกรปลูกยางในพื้นที่หลักๆ 3 จังหวัด ใน 3 ภาค คือ อ.ภักดีชุมพล
จ.ชัยภูมิ อ.วิเชียรบุรี อ.บึงสามพัน อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
และ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ เป็นต้น
เมื่อดูจากพื้นที่เป้าหมายแล้วก็จะเห็นว่าอยู่ใกล้แปลงยางของนพรัตน์
ตรัง นั่นเอง ซึ่งจะทำให้ง่ายในการ ส่งเสริมและลงพื้นที่เมื่อเกษตรกรมีปัญหา
การส่งเสริมของนพรัตน์
ตรัง คือ การให้ความรู้การปลูกยางอย่างถูกต้อง เช่น แนะนำพันธุ์ยางเหมาะสมกับพื้นที่
สภาพพื้นที่ปลูกยางต้องไม่เป็นที่นาและน้ำท่วมขัง วิเคราะห์เรื่องค่าดิน คำนวณต้นทุนการผลิต/ไร่ แนะนำการปลูกพืชเสริมอย่าง ข้าวโพดและกล้วย เป็นต้น
นพรัตน์ ตรังยังพร้อมวิจัยพืชแซมส่งเสริมเกษตรกร
ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน เช่น ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และ ลพบุรี เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ดินและน้ำ
ช่วยแก้ไขปัญหาหมอกควัน ซึ่งเป็นปัญหาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและในอนาคตข้างหน้า
เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของเพื่อนเกษตรกรไทย และยังส่งเสริมความรู้เกษตรอินทรีย์
ลดการใช้สารเคมีทุกชนิด
นอกจากนี้ยัง
ส่งเสริมการปลูกพืชแซม เช่น ไผ่ หญ้าแฝก
หวังช่วยปรับความสมดุลทางธรรมชาติในระยะยาว และนำความรู้ความสามารถเรื่องยาง
สภาพพื้นที่และมีเทคนิคการบริหารจัดการที่ดี พร้อมเปิดเผยข้อมูลสู่เพื่อนฝูงเกษตรกรอย่างจริงใจ
ด้วยมิตรไมตรีอันบริสุทธิ์พร้อมปลูกยางพันธุ์ดีและคุณภาพกว่า 7000 ไร่
ในพื้นที่จังหวัดดังกล่าว
“เรามีทีมงาน นักวิชาการ ที่มีองค์ความรู้เรื่องการปลูกยางโดยเฉพาะ คอยให้ความรู้
อยากดูกล้ายางก็มาดูได้ในแปลง อยากดูสวนยางที่ปลูกแล้วก็มีตัวอย่างที่ทำประสบความสำเร็จได้ดู”
อย่างไรก็ตามก็พบว่าบางพื้นที่ไม่เหมาะสมแก่การปลูกยาง
โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องน้ำ
“ถ้าปลูกไม่ได้จริงๆ เราก็แนะนำว่าปลูกไม่ได้”
แต่ก็ต้องยอมรับว่าย่อมมีเกษตรกรที่ต้องการปลูกจริงๆ
นพรัตน์ ตรัง จะแนะนำให้วางระบบน้ำหยดช่วย ต้นทุนไร่ละ 10,000 บาท แต่เป็นการลงทุนแบบถาวร
ผลดีคือสามารถปลูกยางได้ทั้งปี
การเจริญเติบโตของต้นยางเสมอกัน อีกทั้งผลผลิตยังสูงกว่า
“อ้อย ข้าวโพด
ยังมีระบบน้ำ แต่ยางที่มีมูลค่าสูงกว่าทำไมจะลงทุนระบบน้ำไม่ได้”
ส่วนประเด็นที่เกษตรกรกังวลใจมากที่สุด คือ “ปลูกแล้วจะเอายางไปขายที่ไหน???”
เพราะในพื้นที่ดังกล่าวไม่มีแหล่งรับซื้อเลย
คำถามนี้นพรัตน์
ตรัง ได้วางโครงการระยะยาวไว้แล้ว...???
อนาคตจะมีการก่อตั้งตลาดกลางขึ้นมาในภักดีชุมพลเพื่อรวบรวมยางจากเกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมและใกล้เคียง
นำมาเปิดขายผ่านระบบประมูล ซึ่งเป็นการขายที่มีความยุติธรรมต่อเกษตรกร โดยมีนพรัตน์
ตรัง เป็นรายใหญ่ มีผลผลิตอย่างน้อย 2,000 ตัน/ปี ซึ่งจะดึงดูดบรรดาพ่อค้าและบริษัทให้เข้ามาประมูลได้ไม่ยาก
“ดูเผินๆ เหมือนนพรัตน์
ตรัง เป็นนายทุนเข้ามาบุกรุกป่าปลูกยางทำให้ภาพรวมไม่ดี แต่จริงๆ ไม่ใช่ ก่อนเรามาที่นี่มีแต่ป่าเสื่อมโทรม
เป็นไร่มันโล่งๆ แต่พอมาปลูกยางมีไก่ป่าเพิ่ม มีหมูป่า เรามีชื่อแปลงยางไก่ป่า รณรงค์ไม่ให้ชาวบ้านล่าสัตว์ป่า
เราทำให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น” คำพูดนี้น่าจะบอกจุดยืนและความตั้งใจจริงของนพรัตน์
ตรัง ได้เป็นอย่างดี
[ยางเศรษฐกิจ] ฉบับ 13/2555
ไม่มีความคิดเห็น