์News

์News

คอลัมน์เรียกน้ำยาง ฉบับ 11 เดือนกุมภาพันธ์ โดย อินทรีทนง


            

  นิตยสารยางเศรษฐกิจ ฉบับ 11 ต้อนรับเข้าสู่เดือนที่ 2 ของปี...???    

  
***ฮิตตามเทรนด์ สำหรับ ม็อบสวนยางเรียกได้ว่ามากันถูกที่ถูกเวลา...???
            หลังจากที่ ม็อบก๊าซ NGV ขึ้นเป็นข่าวหน้า 1 หลังจากนั้นไม่กี่วันก็เป็นคิวของ ม็อบสวนยาง ที่ปิดสี่แยก คูหาอ.รัฐภูมิ จ.สงขลา หลังจากเก็บอารมณ์กันมาแบบข้ามปี สุดท้ายก็ระเบิด
            ขนาดนายธีระ วงศ์สมุทร รมต.เกษตรฯ ต้องบินด่วนไปเจรจาตามความเรียกร้องของแกนนำที่ใช้ชื่อหลวมๆ ว่า เครือข่ายชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ แต่ รมต.ก็หนีบ นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ อดีต รมต.ช่วยฯ ที่ดูแลเรื่องยางโดยตรงไปด้วย
            แต่งานนี้แกนนำระบุนายธีระต้องลงมาเจรจา เพราะเชื่อใจในฐานะ คนใต้ ด้วยกัน
            ก่อนจะรับข้อเสนอ 5-6 ข้อนำไปให้ ครม.พิจารณา เช่น ให้คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) จัดสรรเงินเพื่อซื้อยาง 2 แสนตัน ในราคา 120 บาท/กก.เพื่อชี้นำตลาด และให้ กนย.พิจารณาหามาตรการรักษาเสถียรภาพอย่างยั่งยืน เป็นต้น
            ปรากฏว่าได้ผล เพราะหลังจากนั้นราคายางก็ค่อยๆ ไต่ระดับวันละ 1-2 บาท ยางแผ่นดิบ วันที่ 10 ม.ค. 55 ตลาดหาดใหญ่ 89.85 บาท อีก 7 วันต่อมาราคา 97.80 บาท และกระทั่งวันที่ "อินทรีทนง" เขียนต้นฉบับอยู่ราคาทะลุร้อยแล้ว
           หลังจากก่อนหน้านี้ราคาที่เกษตรกรขายต่ำกว่า 100 อยู่หลายเดือน แต่ยังต้องเสียเงินเซส 5 บาท/กก.เพราะราคาส่งออก 106 บาท/กิโล ฉีกเลือดเฉือนเนื้อกันเห็นๆ
            ล่าสุดบอร์ด กนย.ที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นั่งเป็นประธานอนุมัติ วงเงินเร่งด่วนให้สถาบันเกษตรกรจำนวน 2,000 ล้านบาท ผ่าน ธ.ก.ส. เจ้าหนี้รายใหญ่ของเกษตรกร โดยใช้ยางในสต๊อกค้ำประกัน
            โดยเงินจำนวน 2,000 ล้านบาท มาจากการโยกเงินเซสไปฝากที่ ธ.ก.ส. เพื่อใช้ในการบริหารจัดการให้สถาบันเกษตรกร
            งานนี้ ธ.ก.ส. กำไรอื้อ กินดอกเบี้ย 5%
            ก่อนจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้ ธ.ก.ส.สนับสนุนเงิน 15,000 ล้านบาท ให้กับสถาบันเกษตรกร 5,000 ล้านบาท และองค์กรสวนยางพารา 10,000 ล้านบาท ปลอดดอกเบี้ย เพื่อซื้อยางเก็บเข้าสต็อก และพร้อมระบายออก ในราคากิโลกรัมละ 120 บาท
            ถือว่านี่คือผลงานการออกแอ็คชั่นของเครือข่ายชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้


*** อย่างไรก็ตาม “อินทรีทนง” ไม่ได้เห็นด้วยไปกับม็อบสวนยางไปทุกเรื่อง...???
            ข้อมูลที่ “เตะตา” มากที่สุดคือ ตัวเลขต้นทุนการผลิตยางที่แกนนำให้ข่าวไปมันดูเวอร์และเกินจริง และตลกชอบกล          ก็ดันตะโกนว่าต้นทุนการผลิตยางนาทีนี้ 130 บาท/กิโล แต่ก็ลืมแก้ตัวเลขเรียกร้องให้ยางราคา 120 บาท
            ปิดถนนให้ติดเล่นๆ เป็น 10 กิโล  ม็อบหวิดดับจากกระสุนปืน แต่ก็ยังขาดทุนกิโลละ 10 บาทอยู่ดี
            คนตามข่าวเขาจับไต๋ได้ ความจริงคือวันนี้ต้องนำเอาต้นทุนการผลิตยางมากองบนโต๊ะ และแจกแจงกันอย่างจริงใจ           อดีตเมื่อกว่า 10 ปีก่อนเคยมีการวิเคราะห์กันแบบ “ไตรภาคี” เกษตรกร โรงงาน และหน่วยงานราชการ ราคายางกิโลละ 42 บาท/กิโล
            เมื่อไม่กี่ปี สกย.เคยย้ำตัวเลข 60 กว่าๆ /กิโล เป็นต้นทุน แต่วันนี้เครือข่ายชาวสวนยางบอก 130 บาท
            “อินทรีทนง” ว่าเอาแค่พองามก็พอมั้ง
            วันนี้ต้องมาคำนวณราคากันแบบเป็นกลางไม่เข้าข้างใคร ร่อนตะแกรงตาถี่ๆ หาต้นทุนที่แท้จริง ไม่ใช่กำหนดจากความรู้สึก และความเคยตัว
            จริงอยู่ว่าการที่เกษตรกรได้ราคาสูงก็ย่อมจะถือว่าเป็น “อดิเรกลาภ” แต่ถ้ามันเป็นลาภที่มาพร้อมมีดปาดคอตลาดและคนปลายทาง ถามว่าความยั่งยืนอยู่ตรงไหน
            การจะเกิดความยั่งยืนได้ต้องเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโกยอยู่ฝ่ายเดียว
            แต่เท่าที่ถามเกษตรกรจริงๆ “ยังอยู่ได้ดี” คือคำตอบ

***หลังม็อบสวนยางมีเรื่องการเมือง กลิ่นมันออก...???
            เพราะแม้จะเป็นการเรียกร้องบน “หลังคา” ความเดือดร้อนของเกษตรกรจริงๆ แต่ก็มีเงาแฝงผลประโยชน์ในมิติของมวลชนอยู่
            หลายคนทำเพียงเพื่อเรียก “พาวเวอร์” ให้ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเก้าอี้หลายตัวในสภาเกษตรกรและอื่นๆ     เพราะข่าวรั่วผ่านรูมาว่าเก้าอี้หลายตัวจับจองกันไว้แล้ว เหลือแต่เปิดป่าถางทางกันตามความถนัด
            เอาเป็นว่ารวมๆ ยังไม่เกินหน้าเกินตา
           
*** 27 ธ.ค. 54 ครม.อนุมัติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการไปโขยงใหญ่ ทิ้งทวนก่อนปีใหม่ สปอตไลท์ไปสะกดจับอยู่ที่การโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด กลบการแต่งตั้งโยกย้ายส่ายสะโพกโยกย้าย “บอร์ด กสย.” ซะมิด
            กอรปกับความสนใจของคนจดจ่อเตรียมเที่ยวเทศกาลปีใหม่ และคำทำนายถั่วๆ ของ “ด.ช.ปลาบู่”
            “อินทรีทนง” กลอเทปกลับไปดูรายชื่อบอร์ด เช็กรายชื่อชุดเก่าที่ “ครูแก้ว” อดีต รมช.เกษตรฯ ตั้งทิ้งทวนเมื่อต้นปี 54
            ปรากฏว่ามี 3 รายไม่ขานชื่อ ได้แก่ ธีระชัย แสนแก้ว, วัฒนะ วดีศิริภักดิ์ และ วันชัย ปริญญาศิริ
          ก่อนจะได้ข่าวว่าถูกบีบจนหน้าเขียวกระเด็นไปแล้ว...!!!
            แต่มีคนหน้าคุ้น 2 คนกับคนแปลกหน้าอีก 1 คนเข้ามานั่งในบอร์ดแทนที่
            คนแรก คือ พิริยะ เอกวานิช ที่เพิ่งเกษียณจากรอง ผอ.สกย.มาหมาดๆ ก็ถูกดึงเข้าบอร์ดมาเลย คนนี้ที่มาที่ไปเดาได้ไม่ยากในฐานะลูกหม้อ
            คนต่อมาคือ นายชัยวัฒน์ วงศ์อารีย์สันติ MD จากบริษัท ย่งล้ง ยางพารา จำกัด โรงงานยางโทนๆ ของสุรินทร์ เข้ามาในโควตาผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการยาง
            แต่คนที่เห็นมานั่งหน้าแหลมในบอร์ดคือ นายเสน่ห์ ทิพย์บุรี อดีต ผอ.สำนักพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 14 จ.ตาก ว่ากันว่าที่นั่นเป็นพื้นที่เกรด A ของผลประโยชน์ไม้สัก โดยเฉพาะการลักลอบการนำไม้สักนุโสร่งเข้าประเทศ ตอนเข้ามาเป็น ผอ. ก็กระโดดข้ามหัวข้าราชการซี 8 ซี 9 กว่า 200 คน เพราะมีสะพานพาดจากการเป็น “คู่เขย” ของ พายัพ ชินวัตร น้องชายอดีตนายก ทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง ทั้งยังมีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคพรรคไทยรักไทย อย่างการนำคาราวาน “ม็อบอีแต๋น” ภาคเหนือมากรุงเทพ และจัดตั้ง “ม็อบองครักษ์นายกทักษิณ” จากเสื้อเหลือง
            ไล่ให้เห็นตะเข็บทางอย่างนี้ก็ไม่ต้องทะลึ่งถามว่าเด็กใครส่งมา...???
            แต่ที่กระทืบความรู้สึก “อินทรีทนง” เอามากๆ คือ ยังเห็นบอร์ดเก่า อย่าง มาโนช วีระกุล และภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ ยังนั่งลอยหน้าลอยตาอยู่
            รู้กันทั้งวงการแล้วว่า 2 รายนี้ คือเด็กเส้นของครูแก้ว ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะภาพหนักไปทางการเมือง แถมยังโกงโควตาสายเกษตรกร “เลือดแท้” เข้ามาด้วย
            จนอดจะปลุกความสงสัยไม่ได้ว่า หรือเขาจะจูบปากกันอย่างดูดดื่มเสียแล้ว...!!!
            การเมืองมันก็เลาๆ นี้แหละ ถ้าผลประโยชน์ลงร่องเดียวกันก็ลงตัว ขบเหลี่ยมเมื่อไหร่ก็ฟัดกัน
           
           
***ถัดจากมหาอุทกภัยกระหน่ำภาคกลาง ก็มาถึงคิวภาคใต้ ฝนตกอย่างหนักซ้ำรอยดินถล่ม
            ยิ่งภาพความเสียหายถูกฉายและตีข่าวมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการประจาน “สวนยาง” มากเท่านั้น เพราะจำเลยตัวหลักคือสวนยาง...???
            ข้อมูลก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะทันทีที่เกิดอุทกภัยในภาคใต้ 2 หน่วยงานรัฐก็แท็คทีมออกมาเผยข้อมูลว่าสวนยางกินพื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ทั้งประเทศหายไปแล้ว 424,335 ไร่
            ภาคใต้ทำลายสถิติมากที่สุด 205,812 ไร่  อีสาน 89,578 ไร่ ภาคเหนือ 88,019 ไร่ และภาคกลาง 40,922 ไร่
            ถ้าไล่เป็นรายจังหวัด TOP 10 คือ ยะลา พิษณุโลก เลย นครศรีธรรมราช นราธิวาส สตูล หนองคาย ชัยภูมิ สงขลา และประจวบคีรีขันธ์ ตามลำดับ
            ดูจะเป็นปัญหาปวดสมอง เพราะแก้กัน อย่างไรก็ไม่สำเร็จ เป็นปัญหาหมักหมมมานาน มีนายทุน และนักการเมืองในพื้นที่อยู่เบื้องหลัง
            จนสมองของกรมป่าไม้ “จนมุม” หาทางไม่ออก
          นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ จึงต้องเสนอไอเดียแบบทะลุกลางปล้อง ด้วยวิธีงัดกฎหมายเปลี่ยนสวนยางที่เกิดจาก “การบุกรุก” เป็น “การเช่า” อย่างถูกกฎหมาย
            ดูแล้วไม่ต่างอะไรกับ “ฟอกตัว” ฆาตกรฆ่าป่า เป็นผู้บริสุทธิ์ หวังหยุดโรคทำลายป่าปลูกยางระบาดหนัก
            แต่ดูว่าข้อเสนอนี้จะไม่เข้าหู นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
            เพราะเมื่อทำอย่างนั้น นอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว จะยิ่งเป็นการ “เขี่ยเชื้อ” ให้เกิดการรุกป่ามากทับทวีเข้าไปใหญ่
            เรื่องนี้ “อินทรีทนง” เห็นด้วยอย่างแรง เพราะการกระทำเช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับ “การนิรโทษกรรม” คนผิด คนได้ประโยชน์คือ “นายทุน” ที่บุกรุกป่าเป็นพันๆ ไร่/ราย ขณะที่เกษตรกรจริงๆ แค่ไม่กี่สิบไร่
            ไอเดียของนายสุวิทย์ไม่ใช่การแก้ที่ “รากแก้ว” ของปัญหา
            ต้องมาดูกันว่าการบุกรุกป่าเกิดจากอะไร การขีดเส้นป่าทับซ้อนที่ทำกินชาวบ้านหรือเปล่า เจ้าหน้าที่มีความรู้เข้าใจสภาพพื้นที่มากแค่ไหน หรือเกษตรกรบุกรุกจริง และต้องโฟกัสไปที่พวกนายทุนทั้งหลาย
            ไม่อย่างนั้นชาตินี้ก็แก้ไม่จบ

***ปีที่แล้วภัยธรรมชาติเล่นงานหลายอุตสาหกรรม หนึ่งในประเภทที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมรถยนต์ เพราะถูก “จัดหนัก” สองเด้ง
            คือแผ่นดินไหวบวกสึนามิถล่มญี่ปุ่น และมหาอุทกภัยในประเทศไทย...!!!
            ผลคือยอดการผลิตรถยนต์หายไป 3.5 แสนคัน มูลค่าความเสียหายกว่า 2 แสนล้านบาท
            อุตสาหกรรมยางรถยนต์เองจึงได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ยางตกแบบรูดร่วง เป็นที่มาของการเรียกร้องและการปิดถนนในภาคใต้ในเวลาต่อมา
            แต่หัวลูกศรกราฟราคาก็ไม่พุ่งสักที มีแต่ทรงกับทรุด จนเกิดความวิตกว่าหรือนี่คือ “ทางตัน” ของอุตสาหกรรมยาง เพราะต้องผูกมัดข้าวต้มกับอุตสาหกรรมรถยนต์
            แต่ก็ทำเอาใจชื้นขึ้นมาบ้างเมื่อ ค่ายรถยักษ์ใหญ่ของโลกประสานเสียงว่าอุตสาหกรรมรถยนต์กำลังส่งสัญญาณฟื้นไข้
            นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เชื่อว่าช่วงไตรมาสแรกของปี 55 การผลิตจะกลับมาเป็นปกติ และปีนี้จะผลิตได้ตามเป้า 2 ล้านคัน
            นายโนบุยูกิ มูราฮาชิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิมอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด คาดว่าปีนี้การผลิตจะเติบโตอย่างน้อย 5%
            ด้านค่ายรถยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง เจเนอรัล มอร์เตอร์ส (ประเทศไทย) นายมาร์ติน แอพเฟล ประธานกรรมการ วิเคราะห์ว่าช่วงไตรมาสแรกอาจจะถดถอย แต่จะค่อยๆ ฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 2 ทั้งภาคการผลิตและการตลาด
            นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ และรองผู้จัดการใหญ่ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท นิสสัน มอร์เตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด คาดว่าปี 55 การผลิตรถยนต์จะกลับมาตามเป้า 2 ล้านคัน เพราะทุกค่ายรถในประเทศจะพร้อมกลับมาผลิตตามปกติเดือนมีนาคมนี้
            นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการบริหาร บริษัท เอเชียนฮอนด้า มอร์เตอร์ส จำกัด บริษัทที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด แม้จะต้องใช้เวลาฟื้นฟูเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน แต่จะกลับมาผลิตตามปกติให้เร็วที่สุด
            ดูจากความเห็นของแต่ละคน ก็พอจะเห็นแสงสว่างของอุตสาหกรรมยางรถยนต์ที่ใช้ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลัก สรุปๆ แล้วไตรมาส 2 ของปี หรือตั้งแค่เดือนมีนาคม เป็นต้นไป เครื่องจักรและสายพานการผลิตรถยนต์จะกลับมาเดินเครื่องเต็มสตีม
            ประกอบกับทิศทางราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงตัวในปีนี้
            นั่นอาจจะหมายความว่าความต้องการใช้ยางธรรมชาติจะกลับมาอีกครั้ง ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกับราคา
            เอาเป็นว่าราคายางฤดูเปิดกรีดหน้า น่าจะเห็นหน้าเห็นหลัง และราคายางน่าจะกลับมาทะลุร้อย และเป็นไปตามที่เกษตรกรเรียกร้อง
             



           

           


ไม่มีความคิดเห็น

Random Posts

randomposts