สมศักดิ์
เฟื่องฟู เจ้าของสวนยาง ใน อ.เวียงสา จ.น่าน เขาเล่าว่าเริ่มปลูกยางตั้งแต่ปี 2543 ประมาณ 600-700 ต้น แต่ถูก “ตัวตุ่น” กัดทำลายไปจำนวนมาก และเสียหายจากไฟไหม้
จนเหลือต้นยางเพียง 280 ต้นเท่านั้น
“ตอนนั้นผมปลูกข้าวโพดอยู่
แต่มีบริษัท น่านพาราวู้ด มาแนะนำให้ปลูกยาง เขาเอากล้ายางมาขายต้นละ 20 กว่าบาท
มีสัญญาว่าเมื่อเปิดกรีดยางได้จึงจะเก็บเงินกล้ายาง และต้องขายน้ำยางให้เขา
แต่พอกรีดได้เขากลับซื้อยางราคาถูก และโครงการของบริษัทเขาก็ล้มเลิกไป”
สุรศักดิ์อาศัยการเรียนรู้วิธีกรีดยางจากการอบรมของบริษัทที่ส่งเสริมให้เขาปลูกยาง
และผลิตเป็นยางก้อนถ้วย เพราะต้นยางยังเล็กและปริมาณน้ำยางยังน้อย
แต่ตอนหลังมีคนแนะนำให้ทำเป็นยางแผ่นดิบ ซึ่งมีราคาสูงกว่ายางก้อนถ้วย
แม้จะต้องทำงานหนักและเหนื่อยกว่าเดิมก็ตาม
ปัจจุบันสวนยางแปลงแรกของเขาเปิดกรีดมาได้กว่า 9 ปีแล้ว ได้ยางประมาณ 20 กว่าแผ่น/วันกรีด
ขั้นตอนการทำยางแผ่นดิบเพิ่มมูลค่า
สูงกว่ายางก้อนถ้วย
เจ้าของสวนยางแห่งนี้
อธิบายขั้นตอนการผลิตยางแผ่นดิบว่า เริ่มตั้งแต่ การเก็บน้ำยางสดจากต้นยาง จากนั้นนำเข้าสู่กระบวนการผลิตยางแผ่น
โดยนำน้ำยาง จำนวน 3 ลิตร
ผสมกับน้ำสะอาด 2 ลิตรใส่ในตะกง ก่อนจะเติม “กรดฟอร์มิค” ที่ผ่านการเจือจางกับน้ำ
(สัดส่วนกรดฟอร์มิค 100 ซีซี ผสมกับน้ำ 5 ลิตร) ประมาณ 1 กระป๋องนม ผสมให้เข้ากัน ทิ้งไว้ประมาณ
30 นาที น้ำยางจะจับตัวเป็นก้อน
จากนั้นนำมาทับให้เป็นแผ่นหนาประมาณ 2 นิ้ว แล้วนำเข้าเครื่องจักรรีดแบบเรียบ
2 รอบ และจักรรีดดอกอีก 1 รอบ นำไปตากให้หมาด
และเก็บเข้าโรงเรือนเก็บยาง
โรงเรือนเก็บยางของสุรศักดิ์ ใช้หลังคาสังกะสี
โดยมีกระเบื้องใส 2 แผ่น เพื่อให้แสงผ่านเข้าได้ภายในโรงเรือนได้
แต่ดูเหมือนว่าในโรงเรือนจะมีความชื้นสูง ยางแผ่นที่เก็บจึงเกิดเชื้อราจับเนื้อยาง
เขาบอกว่าอาจจะต้องต้องเพิ่มแผ่นกระเบื้องใสเพื่อให้ปริมาณแสงเข้ามากกว่านี้
ขณะที่ สุชาตรี ทองอินทราช
ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสงเคราะห์สวนยาง จ.น่าน (ผอ.ศปจ.)
ที่เดินทางไปพร้อมกับทีมงาน ยางเศรษฐกิจ แนะนำว่า “ห้องเก็บแผ่นยางต้องโปร่ง
ถ้าห้องอับอย่างเดียวมันจะเก็บความชื้น ต้องทำช่องลมให้ระบายได้ด้วย
แล้วแผ่นยางที่อยู่ใกล้ชิดหลังคาสังกะสีเกินไป
ความชื้นจากหลังคาจะกระจายมาสู่แผ่นยางได้ง่าย ยางแผ่นควรห่างจากหลังคา 1.5 เมตร”
แม้เกษตรกรส่วนใหญ่จะเลือกทำยางก้อนถ้วยเป็นหลัก แต่สมศักดิ์ เฟื่องฟู
เลือกที่จะทำงานหนักกว่าด้วยการทำยางแผ่นดิบ
แต่ก็ทำให้สวนยางของเขาทำเงินมากกว่าสวนที่ทำยางก้อนถ้วยหลายเท่า
|
ยางจะถูกเก็บไว้ในโรงเรือนประมาณ 15 วัน จนแห้ง ก่อนจะรวบรวมไปขาย 1-2 ครั้ง/เดือน ปริมาณยางแผ่นดิบส่วยใหญ่จัดอยู่ในเกรด 4 ประมาณ 400 แผ่น/เดือน โดยจะขายให้กับโครงการของ
อสย. ผ่านสหกรณ์กองทุนสงเคราะห์สวนยาง จ.น่าน ทำให้ได้ราคาสูงกว่าตลาดนอกโครงการ กว่า
20 บาท/กิโลกรัม
สวนยางแปลงแรกเมื่อปี 2538 ของสุรศักดิ์
และเป็นสวนยางยุคแรกๆ ของ จ.น่าน ขณะนั้นราคายังไม่สูงมากนัก แต่หลังจากนั้นประมาณ
10 ปี
รัฐบาลส่งเสริมการปลูกยางภาคเหนือและอีสานผ่านโครงการยาง 1
ล้านไร่ และเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ายางพารากำลังมีอนาคต โดยเฉพาะทิศทางเรื่องราคา
สุรศักดิ์เข้าร่วมโครงการยาง
1 ล้านไร่จำนวน 6 ไร่ และส่วนหนึ่งลงทุนปลูกเพิ่มเอง ใช้ระยะการปลูก 7x3 เมตร ปัจจุบันเปิดกรีดแล้วสดๆ ร้อนๆ
แต่ปริมาณยังค่อนข้างน้อยจึงต้องทำยางก้อนถ้วย หรือไม่ก็ผสมกับน้ำยางจากต้นยางใหญ่เพื่อทำยางแผ่นดิบ
การดูแลสวนยางใช้ปุ๋ยผสมเอง
ได้น้ำยางเยอะกว่า
การดูแลสวนยางใน อ.เวียงสาเจ้าของสวนบอกว่าไม่ยาก
และไม่เหนื่อยเหมือนกับการทำพืชไร่ สำหรับยางที่โตและเปิดกรีดแล้ว เพียงแค่ ตัดหญ้า
และใส่ปุ๋ยด้วยวิธีการหว่าน ปีละ 2 ครั้ง ช่วง ต้นฝนกับปลายฝนเท่านั้น
เพียงแต่เขาจะให้ความสำคัญของปุ๋ยที่ให้ต้นยางเป็นพิเศษ
โดยการซื้อแม่ปุ๋ยมาผสมเองตามสูตรของกรมวิชาการเกษตรที่ สกย. แนะนำ
โดยมีสูตรดังนี้
ปุ๋ยสูตร 30-5-18
สำหรับใส่ยางเปิดกรีดแล้ว
สูตรสำหรับผสมปุ๋ย 100 กิโลกรัม ใช้แม่ปุ๋ย 3 ตัวคือ 18-46-0 (ไดแอมโมเนียมฟอสเฟต) 10 กิโลกรัม 46-0-0 (ยูเรีย) 60 กิโลกรัม 0-0-60
(โพแตสเซียมคลอไรด์) 30 กิโลกรัม
ปุ๋ยสูตร 20-10-12 สำหรับใส่ยางเล็กยังไม่เปิดกรีด
สูตรสำหรับผสมปุ๋ย 100 กิโลกรัม ใช้แม่ปุ๋ย 3 ตัวคือ 18-46-0 (ไดแอมโมเนียมฟอสเฟต) 22 กิโลกรัม 46-0-0 (ยูเรีย) 36
กิโลกรัม 0-0-60 (โพแตสเซียมคลอไรด์) 20 กิโลกรัม และจะต้องใส่ตัวเติม เช่น ดิน ทราย เพิ่มอีก 22 กิโลกรัม แต่เขาเลือกที่จะไม่เพิ่มตัวเติม เพื่อให้ได้เนื้อปุ๋ยเต็มๆ
“ผสมปุ๋ยเองไม่เสียเวลาเท่าไหร่หรอก แต่ผลก็คือ ได้น้ำยางเพิ่มมากขึ้น
เพราะตัวปุ๋ยมีเนื้อปุ๋ยล้วนๆ และยังช่วยประหยัดต้นทุน” การผสมปุ๋ยใช้เองสุรศักดิ์ทำมากว่า 2 ปี แล้ว และยังให้ปุ๋ยอินทรีย์ (ขี้วัว)
เพิ่มในช่วงแล้ง ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายนอีกด้วย
โรงผลิตยางแผ่นและเก็บยางแผ่น |
เมื่อสอบถามถึงรายได้ สุรศักดิ์ บอกว่า
สวนยางของเขาไม่ต้องจ้างแรงงาน แต่เขากับภรรยาลงมือทำเองทุกขึ้นตอน
รายได้จึงได้เต็มๆ
“กรีดยาง 3 ทุ่ม ประมาณตี 2 ก็เสร็จ กลับไปนอน
เช้าประมาณ 8 โมงเช้าก็ตื่นมาเก็บยางทำยางแผ่น สายๆ หน่อยก็นำน้ำกรดไปหยอดในถ้วยยางให้แข็งตัว
ทุกวันที่กรีด การกรีด 2 วัน เว้น 1 วัน
สำหรับยางก้อนถ้วยประมาณ 5 มีดน้ำยางก็เต็มถ้วยก็เก็บขายได้ ทำงานในร่มไม่หนักมาก
เหมือนทำงานกลางแจ้ง ตากแดด” เขาเล่าถึงขั้นตอนการทำยางแผ่นดิบ และยางก้อนถ้วย
อนาคตน้ำยางสวนยางทั้งหมดจะนำมาทำยางแผ่นดิบ
เพราะได้มูลค่าสูงกว่าการทำยางก้อนถ้วย แม้ว่าเกษตรกรใน จ.น่าน จะนิยมทำยางถ้วยกว่า
80% แต่เขากลับมองว่า
การทำยางก้อนถ้วยทำง่ายก็จริง แต่เวลาเก็บยางมาแล้วกลิ่นเหม็นแรงมาก
ขณะที่ยางบางต้นได้น้ำยาง 1-2 วันก็เต็มถ้วย
จึงต้องเก็บยางถ้วยเกือบทุกวัน จึงคิดว่าเก็บมาทำยางแผ่นดีกว่า ได้ราคาสูงกว่า
อีกทั้งเขายังทำไร่ข้าวโพดเสริมอีก 20 ไร่ จึงมีรายได้ 2 ทาง “แต่อย่างไรก็ตามยางรายได้ดีกว่าการทำไร่มาก”
ปัญหาในสวนยางที่สุรศักดิ์ประสบคือ
ต้นยางแปลงแรกหลายต้นน้ำยางไม่ไหล เปลือกแข็ง หน้าแห้ง และเปลือกแตก เป็นต้น
ผอ.ศปจ.น่าน
ให้ข้อมูลเรื่องการแบ่งหน้ากรีดยางว่า การกรีดยางช่วงแรกๆ เกษตรกรนิยมแบ่งหน้ายางครึ่งต้น
แต่ช่วงหลังกรมวิชาการเกษตรแนะนำให้แบ่ง 3 ส่วนก็ได้ แต่ปัญหาของการกรีดยาง 3 ส่วน คือ เมื่อยางโตขึ้น พบว่าต้นยางไม่กลม เมื่อต้นไม่กลมการกรีดก็จะเข้าเนื้อไม้ได้ง่าย
และมีผลต่อการขายไม้เมื่อต้นยางหมดอายุอีกด้วย
อีกทั้งการแบ่งหน้ากรีดยางกับการเว้นวันกรีดยังสำคัญมากๆ
โดยเฉพาะยางหน้าแรกไม่ควรจะกรีดครึ่งต้น 2 วันเว้น 1 วัน ควรจะกรีดวันเว้นวัน
ต้นยางจะไม่โทรม
ขณะที่ เกษตรกรอีกราย 3
รายในพื้นที่อำเภอเดียวกันต่างให้ข้อมูลด้านการผลิตยางไว้อย่างหลากหลาย
เจ้าของสวนยาง
1,000 ต้น เจอปัญหาปลูกยางถี่เกิน
แต่รายได้ยังดี
สมาน เขื่อนทิพย์
เจ้าของสวนยางพันธุ์ RRIM
600 ประมาณ 1,000 ต้น หรือประมาณ 15 ไร่ ให้ข้อมูลว่า
ตัวเองเริ่มต้นปลูกยางเมื่อ ปี 2546 ตั้งแต่ก่อนโครงการยาง 1 ล้านไร่เสียอีก แต่เขาใช้เงินลงทุนของตัวเอง เพราะเขาเคยรับจ้างกรีดยางในสวนของน้องเขย
จนพอมีเงินทุนจำนวนหนึ่ง อีกทั้งยังเห็นว่าราคายางพาราไม่ผันผวนมาก แม้ราคาช่วงนี้จะยังไม่สูง
แต่ก็ดีกว่าพืชไร่หลายตัวที่เกษตรกรนิยมปลูกกันในขณะนั้น จึงตัดสินใจปลูกยางเอง
โดยมีพันธุ์ RRIM 600 เกือบทั้งหมด มีพันธุ์ RRIT 251 ปลูกไว้ประมาณ 50 ต้น เพราะเห็นว่าเป็นพันธุ์ที่ให้น้ำยางสูงกว่าพันธุ์ RRIM 600
ความผิดพลาดในการปลูกยางของสมานมีอยู่เรื่องเดียวคือ
ระยะปลูกยาง ที่เลือกปลูก 6X3 เมตร
ซึ่งเป็นระยะที่พ่อค้าขายกล้ายางแนะนำ บอกว่าจะได้จำนวนต้นยางต่อไร่มากขึ้น
น้ำยางต่อไร่ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย แต่มารู้ความจริงก็เมื่อตอนสายไป
เพราะระยะที่เขาเลือกปลูกต้นยางชิดกันเกินไป จนต้นยางรับแสงไม่เต็มที่ ต้นยางจึงมีขนาดเล็กกว่าปกติ
“ตอนนั้นไม่มีความรู้เรื่องยางเลย เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่
สกย.มาแนะนำ มาวันนี้จะตัดทิ้งก็เสียดาย”
วิธีการของเขาที่พอทำได้คือเลือกกรีดต้นที่ใหญ่
แม้จะไม่ได้ขนาดตามที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำก็ตาม แต่ก็ยังสามารถเปิดกรีดต้นยางได้
กว่า 900 ต้น
นำน้ำยางสดที่ได้มาผลิตเป็นยางแผ่นดิบ ประมาณ 18-19
แผ่น/วันกรีด ทำให้ยังมีรายได้ ซึ่งเขาบอกว่าสูงกว่าพืชไร่หลายๆ ตัว
อดีตครู
เกษียณตัวเองมาเป็นเจ้าของสวนยาง
อาชีพข้าราชการครู
มักจะถูกมองในแง่ดีว่า เป็นอาชีพที่มั่นคง
โดยเฉพาะเมื่อต้องเกษียณอายุจะได้เงินบำนาญไปจนสิ้นลมหายใจ
แต่ปัจจุบันความมั่นคงตรงนั้นกลับสู้ความมั่นคงกับอาชีพสวนยางไม่ได้
เพราะข้าราชการครูหลายคนเลือกที่จะเกษียณตังเองมาทำสวนยาง
หรือไม่ก็ลงทุนสวนยางไว้เพื่อทำในช่วงเกษียณ เช่นเดียวกับ ชูชาติ เขื่อนเพชร
อดีตครู อ.เวียงสา อายุ 54 ปี
เขาเลือกที่จะลาออกจากข้าราชการครูก่อนกำหนดเมื่อปี 2549
เพื่อมาทำสวนยางจำนวน 8 ไร่
“ชีวิตหนึ่งต้องหาอาชีพที่จะทำในบั้นปลายของชีวิต
เราอายุ 50 กว่า
อยู่อาชีพครูมานาน สุขภาพ ประสิทธิภาพการทำงานก็ลดลง
คิดว่าแล้วเราจะทำอะไรเลี้ยงและได้เงิน ก็มาคิดว่ายางนี่แหละ
“จากนั้นก็ศึกษาหาข้อมูลก่อน จนตัดสินใจปลูก
เอาเงินบำนาญมาลงทุนปลูกยาง 20,000 กว่าบาท เคยคิดว่าเงินส่วนนี้จะได้คืนไหม
แต่ตอนนี้มันได้คืนมากและจะได้เพิ่มมากหลายๆ เท่า”
สวนยางของครูชูชาติพันธุ์ RRIM 600 จำนวน 8 ไร่นั้น เขาลงมือทำเองโดยไม่ต้องจ้างแรงงานเลย
ผลประโยชน์จึงได้รับอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
และการทำลงมือทำงานเองยังช่วยให้สุขภาพตัวเองแข็งแรงขึ้นมาด้วย
“เมื่อก่อนเป็นครูสุขภาพไม่ค่อยดี
แต่พอมาทำสวนยางเดือนเดียวหายเลย พุงก็ไม่มี เพราะเราเดินกรีดยางเก็บยาง ตอนตี 2 อากาศก็ดี ไม่ร้อน
ร่างกายแข็งแรง
“ชาวบ้านถ้ารู้จักยางก็ไม่ต้องลำบาก
ปลูกยางเราไม่ต้องไปนับหนึ่งใหม่เหมือนทำพืชไร่ ต้องเริ่มต้นปลูกใหม่ทุกครั้ง
ใช้ทุนเยอะ ขณะที่การปลูกยางใบยางเศษกิ่งยางก็ย่อยบำรุงดิน
แต่พืชไร่มีการไถตลอดหน้าดินหาย สภาพแวดล้อมก็เสีย”
ขณะเดียวกันครูชูชาติ อาศัยการทำยางก้อนถ้วย
ซึ่งทำได้ง่าย โดยจะเริ่มกรีดยางช่วง 5 ทุ่ม เสร็จประมาณ ตี2 ถึง ตี 3 จากนั้นก็กลับไปนอนพักผ่อน ตื่นมาตอนสายๆ เพื่อหยอดน้ำกรดให้ยางแข็งตัว
ประมาณ 4-5 มีด ก็สามารถเก็บยางขายได้แล้ว
ส่วนเวลาว่างที่เหลือก็ปลูกผัก ปลูกผลไม้
เพื่อกินเองหรือเหลือก็นำไปขายเพิ่มรายได้
แต่การทำยางก้อนถ้วยเป็นที่รู้ๆ
กันอยู่ว่าขายได้ราคาต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับการทำยางแผ่น
ปัจจุบันราคายางก้อนถ้วยในตลาดท้องถิ่นเพียงแค่ 40 กว่าบาท/กิโลกรัม
แต่ครูชูชาติบอกว่าราคาแค่นี้ก็อยู่ได้แล้ว
“ราคายาง 30 บาทก็อยู่ได้ ถ้าทำเองไม่ต้องจ้าง”
ติดตามปัญหาของชาวสวนยาง
อ.ภูเพียง เจอเชื้อราทำรายระบบราก และกรีดยางต้นเล็กเพราะราคายางยั่วใจ
ทีมงานเดินทางข้ามมายัง อ.ภูเพียง
อำเภอที่มีพื้นที่ปลูกยางมากอีกแห่งของ จ.น่าน เกษตรกรส่วนใหญ่ล้วนมือใหม่ทั้งสิ้น
การกรีดยางก็ใหม่ถอดด้ามพอๆ กัน
แน่นอนว่าองค์ความรู้เรื่องการดูแลจัดการสวนยางย่อมจะมีข้อผิดพลาดให้เห็น
โดยเฉพาะเรื่องของการกรีดยางต้นเล็ก เป็นต้น
ตัวอย่างที่สะท้อนได้ค่อนข้างชัดคือ
สวนยางของ ลุงประสิทธิ์ ต๊ะนา เจ้าของสวนยาง ใน ต.น้ำแก่น อ.ภูเพียง
สวนยางที่เปิดกรีดแล้วประสบปัญหาต้นยางยืนต้นตายหลายต้น ทั้งๆ
ที่ผ่านมาก็ให้น้ำยางปกติ แต่น่าสังเกตว่าทุกต้นที่ตายจะอยู่ข้างๆ
ตอมะม่วงพืชเจ้าของพื้นที่เดิม
“เมื่อก่อนผมทำสวนมะม่วง
มะขาม ลำไย จนเมื่อมีโครงการส่งเสริมปลูกยาง 1 ล้านไร่ ลุงเข้าโครงการในปี 2549 เนื้อที่ 10 ไร่
ตอนนั้นก็นำยางมาปลูกแซมในสวนมะม่วงเลย เพราะยางตอนนั้นมันยังไม่มีรายได้
ต้องอาศัยรายได้จากมะม่วง ปีหนึ่งก็ได้เงินแสนเหมือนกันถ้าพ่อค้าจากกรุงเทพมาซื้อ
แต่ถ้าขายให้พ่อค้าแถวนี้ก็ได้ไม่กี่หมื่นบาท เขากดราคา และก็ทำนาด้วย” ลุงประสิทธิ์เล่าที่มาที่ไปของสวนยาง
อดีตมันคือสวนมะม่วง
แต่เมื่อต้นยางเริ่มโตอายุประมาณ
3 ปี
ถึงเวลาต้องโค่นต้นมะม่วงทิ้งให้เหลือแต่ต้นยาง จนเมื่อเข้าปีที่ 6 ต้นยางโตขึ้นแต่ก็ยังไม่ได้ขนาดพอที่จะเปิดกรีดได้ แต่ด้วยราคา 180 บาท/กิโลกรัมในช่วงนั้นกลับยั่วยวนใจให้ลงประสิทธิ์ฝืดกฎกรีดยางก่อนกำหนด
“ตอนเปิดกรีดปีแรกยางอายุ
6 ปี มันยังเล็กอยู่ กะว่าจะไม่กรีด
และราคามันยั่วใจยางก้อนถ้วยราคากิโลละ 70
กว่าบาทจึงต้องกรีด เอาเงินก่อน ต้นยางตายก็คิดว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวปลูกใหม่”
ผลของการกรีดยางก่อนกำหนดที่เห็นได้ชัดคือ
หน้ายางเสียเกือบทุกต้น เพราะต้นยางมีขนาดเล็กและเปลือกยางบางเกินไป
ประกอบกับความไม่ชำนาญการกรีดยางทำให้กรีดเข้าเนื้อไม้ จนหน้ายางเสีย
แต่นั่นไม่เท่ากับต้นยางจำนวนหนึ่งยืนต้นตายหลายสิบต้น
น่าสังเกตว่าทุกต้นที่ตายจะปลูกอยู่ใกล้ๆ กับตอมะม่วงเก่าที่กำลังผุ เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา
ที่กำลังลงพื้นที่สำรวจสวนยางของลุงประสิทธิ์ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นผลจากเชื้อราจากซากตอมะม่วงลุกลามเข้าทางรากต้นยาง
เพราะปกติต้นมะม่วงจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อราอยู่แล้ว ต้นยางที่อยู่ใกล้ๆ จะค่อยๆ ตายจากรากขึ้นไป
แนวทางในการแก้ไขโดยด่วนที่นักวิชาการแนะนำคือ
เร่งขุดซากต้นมะม่วงออกจากสวนยางให้เร็วที่สุด
และใช้ยาเชื้อราฉีดพ่นบริเวณซากตอมะม่วงและต้นยางที่อยู่ใกล้ๆ
ขณะที่ลุงประสิทธิ์บอกว่า
ลักษณะของต้นยางยืนต้นตายแบบนี้เกิดขึ้นกับสวนยางในบริเวณหมู่บ้านหลายสวน โดยเฉพาะสวนที่เป็นสวนมะม่วงเก่า
และมีตอมะม่วงอยู่ แต่สวนที่โค่นมะม่วงทิ้งก่อนปลูกยางกลับไม่มีปัญหาเรื่องนี้
ส่วนรายได้จากสวนยางของลุงประสิทธิ์
หลังจากเปิดกรีดเข้าปีที่ 3 จะได้ยางก้อนถ้วย 200-300 กิโลกรัม/การเก็บขาย 1 ครั้ง หรือ 4-5 มีด (กรีด 2 วัน เว้น 1 วัน) ขายได้เงินอย่างน้อยๆ
ไม่ต่ำกว่า 12,000 บาท ถ้าคำนวณเป็นเดือนประมาณ 40,000
บาท แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคายางด้วย
ถ้าราคายางสูงกว่าปัจจุบันจำนวนเงินที่ได้จะสูงขึ้นตาม
เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรากำลังสำรวจพื้นที่สวนยางที่ประสบปัญหาต้นยางยืนต้นตายของลุงประสิทธิ์
|
จากการลงพื้นที่เจาข้อมูลการผลิตและการตลาดยางพาราของ
จ.น่าน ทีมงานเห็นจุดแข็งหลายๆ ด้านของพื้นที่แห่งนี้ เห็นชัดเจนที่สุดคือ
เรื่องการจับมือผลึกกำลังกันรวบรวมผลผลิตเพื่อขายผ่านระบบประมูล
ซึ่งเป็นการจับมือของกลุ่มเกษตรกร 55 กลุ่มในนาม สหกรณ์กองทุนสวนยาง จ.น่าน จำกัด
ว่ากันว่ายาง 80% ของ จ.น่านรวมกันอยู่ ณ ที่นี้
ยางก้อนใหญ่นี้จึงดึงดูดพ่อค้าและบริษัทที่ต้องการยางก้อนถ้วย
ทำให้ยางของเกษตรกรขายได้ราคาสูง แม้จะอยู่ห่างไกลจากโรงงานก็ตาม
อีกทั้งสหกรณ์ยังมีโครงการแทรกแซงยางของ
อสย.เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการต่อรองกับผู้ประมูล
เพราะหากพ่อค้าประมูลราคาต่ำเกินไป เกษตรกรจะไม่ขายยางให้ทันที
แต่จะส่งเข้าโครงการ แม้จะมีค่าบริหารจัดการ ซึ่งช่วงปีที่ผ่านมาเครื่องมือนี้ใช้งานได้ดีทีเดียว
หากแต่นี่เป็นเครื่องมือชั่วคราวไม่จีรังยั่งยืน
เพราะโครงการกำลังจะสิ้นสุดในไม่ช้านี้ สหกรณ์จึงจัดหางบประมาณจาก จ.น่าน
เพื่อร่างโครงการแปรรูปยางแผ่นรมควันขึ้น งบประมาณ 20 ล้านบาท
เพื่อเพิ่มมูลค่ายางของเกษตรกรในช่วงที่ยางราคาตก และในระยะยาว
นี่จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งของความเข้มแข็งของชาวสวนยาง
จ.น่าน และคืออีกพื้นที่หนึ่งที่เป็นแหล่งใหญ่ของยางพาราภาคเหนือในอนาคต
ขอขอบคุณ
สุชาตรี
ทองอินทราช
นายพิมพ์ เอื้องแก้ว
สมศักดิ์ เฟื่องฟู
ประสิทธิ์ ต๊ะนา
ภมร คำชื่น
นายสมาน เขื่อนทิพย์
ชูชาติ เขื่อนเพชร
:::ภาพและข้อความบนบล็อคนี้ทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสารยางเศรษฐกิจ สงวนสิทธิ์ไม่อนุญาตให้นำไปใช้ประโยชน์เชิงการค้า:::
:::ภาพและข้อความบนบล็อคนี้ทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสารยางเศรษฐกิจ สงวนสิทธิ์ไม่อนุญาตให้นำไปใช้ประโยชน์เชิงการค้า:::
จำหน่ายกล้าพันธุ์ สักทอง ยางนา พะยูง ประดู่ มะค่า ตะเคียน แดง ชิงชัน กันเกรา แคนา
ตอบลบและกล้าพันธุ์ไม้ป่าทุกชนิดสายพันธุ์ดี จากทีมงานเพาะพันธุ์กล้าไม้ป่ามืออาชีพที่มีประสพการณ์สูง
ราคาไม่แพง จำหน่ายทั้งปลีกและส่งทั่วประเทศ ผลงานเป็นที่ประจักษ์ทั่วประเทศกว่ายี่สิบปี
สนใจติดต่อคุณไก่ 095-4654546
ID line kai54654546
Email nangpaya@hotmail.com
ชมผลงานและคุณภาพกล้าพันธุ์ไม้ได้ที่ www.takuyak.com
หรือที่แฟนเพจ คุณไก่กล้าพันธุ์ไม้
หรือชมคลิปที่ www.youtube.com ช่อง ชัยชนะ เสือเพ็ง
หรือที่แฟนเพจ ชมรมเกษตรกรผู้ปลูกไม้พะยูงแห่งประเทศไทย
หรือที่ https://twitter.com/nangpaya1
จำหน่ายกล้าพันธุ์ สักทอง ยางนา พะยูง ประดู่ มะค่า ตะเคียน แดง ชิงชัน กันเกรา แคนา
ตอบลบและกล้าพันธุ์ไม้ป่าทุกชนิดสายพันธุ์ดี จากทีมงานเพาะพันธุ์กล้าไม้ป่ามืออาชีพที่มีประสพการณ์สูง
ราคาไม่แพง จำหน่ายทั้งปลีกและส่งทั่วประเทศ ผลงานเป็นที่ประจักษ์ทั่วประเทศกว่ายี่สิบปี
สนใจติดต่อคุณไก่ 095-4654546
ID line kai54654546
Email nangpaya@hotmail.com
ชมผลงานและคุณภาพกล้าพันธุ์ไม้ได้ที่ www.takuyak.com
หรือที่แฟนเพจ คุณไก่กล้าพันธุ์ไม้
หรือชมคลิปที่ www.youtube.com ช่อง ชัยชนะ เสือเพ็ง
หรือที่แฟนเพจ ชมรมเกษตรกรผู้ปลูกไม้พะยูงแห่งประเทศไทย
หรือที่ https://twitter.com/nangpaya1