์News

์News

ชาวสวนยาง จี้ กยท. ทำกฎหมายลูก เร่งขับเคลื่อนปัญหาเกษตรกร

      ตัวแทนสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยประกาศจุดยืนพร้อมเรียกร้องให้การยางพาราแห่งประเทศไทย(กยท.) เร่งรัดจัดทำระเบียบข้อบังคับ  กฏหมายลูกให้แล้วเสร็จตามบทเฉพาะกาล  ซึ่งบทเฉพาะกาลมีข้อกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 4 เดือน จนบัดนี้ย่างเข้าเดือนที่ 10  แล้วยังไม่แล้วเสร็จ   ส่งผลให้พรบ.การยางไม่ขับเคลื่อนได้ส่งผลกระทบทำให้เกษตรกรชาวสวนยางเดือดร้อน
          วันนี้ (11 พ.ค. 59 ) นายอุทัย  สอนหลักทรัพย์  นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า จากกรณีการที่ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ได้ขอประกาศจุดยืนในการเปิดตัวคณะกรรมการสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ที่ทางกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้จดทะเบียนเมื่อ 21  พฤษภาคม  2533 ในระดับประเทศ ระดับเขต และในระดับจังหวัดทั่วประเทศเพื่อให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ที่ประกาศใช้ไปแล้ว ตามมาตรา 4  ซึ่งระบุว่าสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางนั้นให้ หมายถึง สมาคมที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเพื่อให้นำไปสู่มาตรา 49 ให้คณะกรรมการจัดสรรเงิน Cess เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย(5) ไม่เกินร้อยละเจ็ด เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง (6) ไม่เกินร้อยละสามเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมสนับสนุนสถาบันเกษตรกร ชาวสวนยาง ซึ่ง พรบ.ฉบับนี้ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 69 ให้เสร็จสิ้นใน 4 เดือน ที่ พรบ. ฉบับนี้ใช้บังคับการยางพาราแห่งประเทศไทย หรือ กยท.  
          วันนี้  กยท.ได้บริหารงานมาเกินกว่า 9 เดือนแล้ว กลับพบว่า พรบ.ฉบับนี้ยังไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ เปรียบเหมือนหัวรถจักรที่จะลากจูงเกษตรทั้งประเทศซึ่งรวมตัวกันแล้ว แต่ไม่มีน้ำมันเติมจึงเดินไม่ได้ 
   ทางสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จึงขอประกาศให้ทราบกันทั่วว่าเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ได้รวมตัวกันเป็นหนึ่ง ตามนโยบายของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา ที่มีบัญชาในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ณ ทำเนียบรัฐบาล ในช่วงที่ผ่านมา
ดังนั้นที่ประชุมในวันนี้จึงขอประกาศจุดยืนเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและติดตามการทำงานที่เป็นปัญหาอุปสรรค รวมทั้งข้อจำกัดเกี่ยวข้องกับยางพาราเพื่อก้าวเดินต่อไปข้างหน้าและร่วมแก้ปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรกรชาวสวนยางทั้งประเทศ โดยมีมติข้อสรุป8  ข้อ ดังนี้
1.ต่อจากนี้ไปถ้าเกษตรชาวสวนยาง เดือดร้อนเรื่องอะไรก็แจ้งผู้แทนได้แต่ละจังหวัด เพื่อรวบรวมส่งระดับเขตระดับประเทศ เพื่อนำเสนอผู้รับผิดชอบต่อไปโดยเฉพาะเรื่องเร่งด่วนที่สวนยางไม่มีเอกสารสิทธิ์ ผู้แทนเกษตรจะช่วยกันผลักดันให้ได้รับสิทธิ์ประโยชน์จากเงิน Cess
ดังนั้นเกษตรชาวสวนยางทั้งประเทศจะได้นอนตาหลับเพราะมีผู้แทนคอยรับเรื่องเดือดร้อน โดยทุกคนจะต้องร่วมมือกัน และปรับตัวเองให้เข้ากับ พรบ.การยางแห่งประเทศไทยให้ได้ 
ปัจจุบันสวนยางได้เปิดกรีดยางแล้ว ถ้าราคายางตกลงก็จะทำให้พวกเราเดือดร้อนถ้าไม่ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาตามที่กล่าวมาให้หมดสิ้นไป แล้วขับเคลื่อนการยางไปตามเจตนารมณ์ของ พรบ.ฉบับนี้ที่เป็นของเกษตรกรเพื่อเกษตรกรได้อย่างไร      
2.  เรื่องการโยกย้ายและแต่งตั้งข้าราชการโดยไม่เป็นธรรมใน กยท. ตามคำสั่งที่ 101/2559 ลงวันที่       29 เมษายน 2559 ได้แต่งตั้งพนักงานให้รักษาการในตำแหน่งจำนวน 19 ราย และคำสั่งที่ 102/2559 ลงวันที่ 29 เมษายน 2559 ได้แต่งตั้งพนักงานให้รักษาการในตำแหน่งส่วนงานจำนวน 80 รายซึ่งมีข้อผิดพลาดอยู่หลายข้อ เช่น ตั้งตำแหน่งในจังหวัดภูเก็ตซ้ำซ้อนกัน 2 คน และตาม เจตนารมณ์ของ พรบ. ฉบับนี้ ตามมาตรา 3 ให้ยกเลิก พรบ. กองทุนสวนยาง 2503, พระราชกฤษฎีกาองค์การสวนยาง 2504 และตามบทเฉพาะการ มาตรา 71 วรรคสอง ให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างสถาบันวิจัยยางโอนไปเป็นพนักงานหรือลูกจ้าง กยท ฯลฯ 
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ของ พรบ. การยางแห่งประเทศไทย จะหลอมรวม 3 หน่วยงานเข้าเป็นหนึ่งเดียว โดยมาตรา 49 ให้คณะกรรมการจัดสรรเงินกองทุน (Cess) เพื่อใช้จ่ายในงบประมาณประจำปี (1) จำนวนไม่เกินร้อยละสิบ เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกิจการของ กยท. ในกรณีเงินกองทุนจัดสรรตาม (1) ถ้ายังไม่เพียงพอให้รัฐตั้งรายจ่ายเพิ่มเติมในงบประมาณประจำปีตามความจำเป็น 
ดังนั้นทั้ง 3 หน่วยงานจะต้องมีสิทธิเท่าเทียมกัน มิใช่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะรวบอำนาจการบริหารไว้แต่เพียงหน่วยเดียว ซึ่งจะก่อให้เกิดความแตกแยกความสามัคคีกัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะตกอยู่กับเกษตรกร ซึ่งกำลังจะเปิดกรีดยาง ราคายางอาจจะตกต่ำ ถ้าข้าราชการใน กยท. ยังไม่สามัคคีกัน มัวแต่แก่งแย่งตำแหน่งกัน จะมีเวลาไปดูแลเกษตรได้อย่างไร
3.  เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 สภาเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย 9 องค์กร ได้เข้าพบประธานกรรมการยางแห่งประเทศไทย (พลเอกฉัตรเฉลิม   เฉลิมสุข) ห้องประชุมรัษฎา การยางแห่งประเทศไทย ประมาณ 50 คน โดยมีข้อตกลงว่าในการร่างกฎหมายลูก ระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆ ของ กยท. ขอให้ผู้แทนเกษตรกรให้รวบรวมเป็นร่างเดียวเมื่อนำมาพิจารณาควบคู่กับอนุกฎหมายของกยท. ให้มีความเห็นตรงกัน บอร์ดจะนำไปพิจารณาอย่างรัดกุม โดยเฉพาะ มาตรา 49 (3) (5) (6) เพื่อให้ พรบ. การยางแห่งประเทศไทย ขับเคลื่อน 
แต่จนบัดนี้ยังไม่มีการเรียกประชุมผู้แทนเกษตรกรเลย สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยาง ขอเรียกร้องให้ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย รีบดำเนินการเรียกประชุมโดยด่วน โดยเฉพาะมาตรา 49(6) เพราะจะเป็นค่าใช้จ่ายของเกษตรกรในการเดินทางเข้ามาร่วมประชุม
4.  ขอทบทวนตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุครุภัณฑ์ ตามคำสั่งการยางแห่งประเทศไทยที่ 59/2559 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2559 และคำสั่งที่ 60/2559 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2559 ขัดต่อมติของคณะทำงาน ที่มีผู้แทนเกษตรกรเข้าร่วมในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 ในจำนวนนั้นตาม มาตรา 49(3) ได้พิจารณาตัดงานเหล่านี้ออก 
แต่ปรากฏว่า  ทาง กยท.ได้จัดซื้อในงบประมาณที่ตัดออกโดยไม่ฟังเสียงคณะทำงานและรีบเร่งจัดซื้อก่อนผู้ว่าการยางคนใหม่ที่จะบรรจุเพียง 1 วัน เท่านั้น 
สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยจะขอติดตามความโปร่งใสต่อไป
5.  โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา (วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท) ตามมติคณะกรรมการยางธรรมชาติ (กนย.) ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้อนุมัติให้วิสาหกิจชุมชน เข้าถึงแหล่งเงินจำนวนนี้ได้แต่จนบัดนี้โครงการดังกล่าว ธกส. ได้อนุมัติเงินแล้ว 939.20 ล้านบาท ควรจะต้องพิจารณาวิสาหกิจชุมชนให้เข้าถึงแหล่งเงินเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่ายางพาราและเป็นอาชีพเสริมของเกษตรกรในสภาวะราคายางตกต่ำตามนโยบายของรัฐบาล
6.  โครงการสร้างความเข้มแข็งเกษตรกรชาวสวนยางจากการช่วยเหลือของรัฐบาลตามมติ ครม.  3 พ.ย. 2558 ไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกิน 15 ไร่/ราย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรได้คาดโทษ เจ้าหน้าที่ ที่รับผิดชอบเมื่อ 11 มกราคม 2559 ในที่ประชุมการแก้ไขปัญหายางพาราครบวงจรที่กระทรวงเกษตรให้แล้วเสร็จ เดือนมีนาคม 2559 จนบัดนี้มีเกษตรกรบางส่วนยังไม่ได้รับเงินและได้ร้องเรียนมาเป็นจำนวนมาก ขอให้ กยท. เร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้น
7.  ปัญหาของสหกรณ์กองทุนสวนยาง 700 สหกรณ์ ที่ใช้งบประมาณรัฐบาลจัดสร้างโรงรม มีปัญหาบางแห่งจะต้องตรวจสอบความโปร่งใส
8.  ในช่วงนี้ ราคายางขึ้นและยางขาดตลาดควรนำยางในสต๊อก 3.6 แสนตัน ที่เสื่อมสภาพมาปรับปรุงให้เป็นยาง STR20 เพื่อนำไปส่งมอบให้บริษัท SINOCHEM เพื่อลดการเช่าโกดัง และค่าประกันภัย เป็นการประหยัดเงินของรัฐและเป็นการระบายยางในสต๊อกในช่วงราคายางขึ้นอีกด้วย
                ทั้งนี้ในขณะนี้ทางสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยได้สร้างเครือข่ายสมาคมและมีโครงสร้างการทำงานสามารถบริหารจัดการได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ สามารถส่งตัวแทนเกษตรกรเข้าไปร่วมพิจารณากฎหมายลูกและระเบียบข้อบังคับร่วมกับกยท.ซึ่งขณะนี้เกิดความล่าช้า   
          ปัจจุบันทางสมาคมฯได้มีเครือข่ายดูแลครอบคลุมทั้ง 62 จังหวัดในพื้นที่ที่มีพื้นที่ปลูกยางพารา หากกรณีเกิดปัญหาสามารถติดต่อได้ที่ตัวแทนจังหวัดซึ่งจะมีด้วยตัวแทนจากองค์กรที่เป็นคณะทำงานจาก 6 องค์กร โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน  โดยจะนำปัญหาหรือข้อร้องเรียนมาแก้ไขในระดับจังหวัดก่อน  
          หากกรณีจังหวัดแก้ไขไม่ได้ทางจังหวัดจะยื่นมายังเขต ซึ่งประกอบด้วย 7 เขตทั่วประเทศ  และหากเขตแก้ไขปัญหาไม่ได้จะทำการส่งปัญหาดังกล่าวไปเข้าสู่กระบวนการแก้ไขในระดับประทศโดยจะนำเสนอต่อคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย  และหากแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้อีกจะนำเข้าสู่กรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ซึ่งมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  เป็นประธานและจึงนำเข้าสู่ครม.ต่อไป   นายอุทัย กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น

Random Posts

randomposts