์News

์News

เรียกน้ำยาง เรื่อง : อินทรีทนง ฉบับ 13/2554


เรียกน้ำยาง
เรื่อง : อินทรีทนง
            นิตยสารยางเศรษฐกิจ ฉบับที่ 13
ฉบับก้าวเข้าสู่ปีที่ 2...!!!

***ถ้าเป็นไปอย่างที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยฯ เกษตร “ขายฝัน” จริงๆ ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป รายได้มวลรวมของอุตสาหกรรมยางทั้งระบบจะมีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท หรือ 10% ของรายได้ประเทศนี้ จากตัวเลขปัจจุบัน 4-5 แสนล้านบาท

พร้อมกับเร่งส่งเสริมใน 2 มิติ คือ เร่งขยายพื้นที่ปลูก จากที่ขยายตัวรวดเร็วอยู่แล้วให้เยอะกว่าเดิมอีก

อาศัยโอกาสทองที่ตลาดโลกต้องการ อย่าง จีนมีความต้องการใช้ยางป้อนอุตสาหกรรมยางในประเทศ 3 ล้านตัน/ปี แต่ผลิตได้เอง 5 แสนตัน มีความต้องการ 2.5 ตัน/ปี

เมื่อรวมกับอัตราการเติบโตอุตสาหกรรมยางของอินเดียและรัสเซีย เห็นแล้ว “โอกาสเปิดกว้าง”

แต่การส่งเสริมปลูกยางใหม่คงจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยๆ ก็ 7 ปีกว่าจะเพิ่มผลผลิตและมูลค่าเป็นเท่าตัว ดูจะค่อนข้างเป็นทางตีบตันถ้าจะเร่งเดินไปให้ถึงเป้าหมาย เพราะการเพิ่มผลผลิตด้วยการขยายพื้นที่ผลิต เป็นการคำนวณแบบกดเครื่องคิดเลข

แต่ยุทธวิธีง่ายๆ ที่จะไปถึงเป้าหมายตามแผนของ รมต.ช่วยเกษตรฯ คือ ส่งเสริมให้มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกเพื่อเพิ่มมูลค่า

เอาแค่เพิ่มการแปรรูปผลผลิตยางที่ไทยผลิตได้ 3.3 ล้านตัน/ปี ให้มากขึ้น น่าจะไปถึงเป้าได้ง่ายกว่า ซึ่งเตรียมวางแผนจะไป “เรียกแขก” จากประเทศจีนให้เข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมยางในประเทศไทยมากขึ้น พร้อมๆ กับหาช่องทางให้ภาครัฐเข้ามาลงทุนด้านนี้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีขั้นสูง

แต่วันนี้ยัง “มืดบอด” เพราะต้องยอมรับว่าศักยภาพด้านการแปรรูปยางยังเป็นงาน “ภูเขา” สำหรับเกษตรกร ขาดทั้งองค์ความรู้ด้านการผลิตและการตลาด

ขณะที่ภาครัฐเองก็ไม่ได้ส่งเสริมการแปรรูปอย่างจริงจัง มีแต่ “ยุทธศาสตร์” เป็นเครื่องประดับให้ดูโก้เก๋ แต่ขาด “ยุทธวิธี” เพื่อดำเนินตามยุทธศาสตร์

เอาง่ายๆ แค่โรงงานต้นแบบอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางสำหรับเกษตรกร ที่มีการลงทุนสร้างไป 4 แห่งงบประมาณแห่งละ 22 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในการดูแลของ สกย.

ทุกวันนี้กลายเป็นแค่โรงงานจำลองไว้ให้เกษตรกรเดินดูเท่านั้น...!!!

ทำไมไม่เปิดให้สถาบันเกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางให้เกิดมรรคผลอย่างจริงจัง หรือจะเปิดให้เช่า 

เชื่อว่าก็มีสถาบันเกษตรกรยินดี

ผอ.สกย.ระดับจังหวัดท่านหนึ่ง ซึ่งไม่อาจเปิดเผยนามได้ เคยคุยกับ “อินทรีทนง” แบบ “ออฟเล็คคอร์ด” ว่าโรงงานต้นแบบดังกล่าวเป็นเพียงแค่การนำงบประมาณมาก่อสร้างเป็นโมเดลให้เกษตรกรดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ซึ่งปีๆ หนึ่งมีเกษตรกรไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่เข้ามาชมอย่างสนใจใคร่รู้ 
เป็นแบบฉิ่งฉับทัวร์เสียมากกว่า

ขณะที่รัฐเองก็ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป
นี่คือเรื่องหนึ่งที่พิสูจน์ได้ว่าภาครัฐไม่เอาจริงเอาจังเรื่องนี้เลย...???

บอกได้เลยว่าถ้ายังเป็นอย่างนี้การจะปั้มตัวเลขส่งออกยาง 1 ล้านล้าน/ปี คงต้องไปขยายพื้นที่ปลูกกันให้เต็มประเทศ...!!!

***เห็น รมต.เต้น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พูดจาฉะฉานตามสไตล์ของ “นักพูดไมค์ทอง” เก่า เรื่องการผลักดัน พ.ร.บ. การยางฯ อย่างจริงจัง จนฝังอยู่ในหัวเกษตรกรว่า คนนี้เอาจริงแน่...!!!
ก็มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่ามีสถาบันเกษตรกรแห่งหนึ่งกำลังท้า “สัจจะวาจา” จากรัฐมนตรีฝีปากกล้า ด้วยการเตรียม “ลองของ” นำเสนอโครงการเมกะโปรเจ็คต์ระดับเกษตรกร ของบสร้างโรงงานยางคอมปาวด์ กำลังการผลิต 5 ตัน/ชั่วโมง เงินลงทุนกว่า 300 ล้านบาท

สถาบันเกษตรที่ “อินทรีทนง” กำลังกล่าวถึงคือ สหกรณ์ชาวสวนยางพะเยา จำกัด...!!!

งานนี้นายเจตพร สังข์ทอง ผู้จัดการสหกรณ์เตรียมยื่นหนังสื่อส่งสัญญาณว่า “เอาจริง” หวังสร้างโรงงานยางคอมปาวด์แห่งแรกของภาพเหนือ และเพื่อเพิ่มมูลค่ายางแผ่นของเกษตรกร

แต่ลึกๆ เป็นการ “พิสูจน์ใจ” ว่าเรื่องนี้รัฐมนตรีพูดเพื่อ “เอาจริง” หรือแค่พูด “เอามัน” ตามงานถนัดกันแน่...???

ทั้งนี้เพราะ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย เปิดช่องให้สถาบันเกษตรกรสามารถนำเงินเซสไปลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค้าได้ ซึ่งปัจจุบันมีเงินเซสส์นอนอยู่ในบัญชีกว่า 50,000 ล้านบาท

*** เหมือนเป็นเรื่องเก่าที่ยังค้างอยู่ในสมองของนายสุทิน พรชัยสุรีย์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย เพราะ “อินทรีทนง” จำได้ว่าเขาเคยให้สัมภาษณ์ประเด็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางไทยกำลังถูกกีดกันจากกลุ่มประเทศอียู นิตยสารยางเศรษฐกิจเมื่อต้นปีที่แล้ว
โดยเฉพาะเครื่องมือกีดกัน เรื่องการตัดไม้ทำลายป่า และสิ่งแวดล้อม

เมื่ออียูเอาประเด็นนี้เข้ามาจับไทยก็เดี้ยงสถานเดียว...!!!

ล่าสุดนายสุทินก็ยังท่องประโยคเดิม...???
ทำให้เข้าใจได้ว่าปัญหานี้ยังไม่ถูกแก้ ยังเป็น “ปมด้อย” ของเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางไทยในตลาดโลก ทั้งๆ ที่เป็นสินค้ามีคุณภาพ ราคาถูก

แต่ใช่ว่าจะโดนเฉพาะสินค้าของประเทศนี้เท่านั้น เพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียก็ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน

ทั้งๆ ที่การผลิตยางเกิดจากการปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวน้ำยาง เมื่อต้นหมดน้ำยางก็ตัดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไม้ ไม่ใช่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า

สุทินมองว่าเหตุที่เฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางถูก "ขังกรง" เป็นเพราะหาง่าย ราคาถูก

แต่เรื่องนี้ “อินทรีทนง” มองว่านายกสมาคมธุรกิจไม้ยางฯ มองในมิติเดียว...???

กลุ่มอียูอาจจะมองในมิติของภาพลักษณ์การปลูกสร้างสวนยาง ที่มีภาพของการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกยางที่ถูกประโคมข่าวในประเทศและทั่วโลก
ข่าวน้ำท่วมใหญ่ในประเทศนี้ทั้งในภาคกลางและภาคใต้ เกิดจากการทำลายป่าอย่างหนังในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
เมื่อนำภาพมาประกบกับภาพอัตราการขยายตัวของการผลิตยางไทยที่มีการแห่ปลูกกันทุกภูมิภาค จนกลายเป็นผู้ส่งออกยางธรรมชาติอันดับ 1 ของโลก

“อินทรีทนง” เชื่อว่ากลุ่มประเทศอียูกำลัง “ต่อจิ๊กซอร์” เรื่องนี้เข้าด้วยกัน

สอดคล้องอย่างยิ่งกับข้อปฏิบัติด้านการป่าไม้แห่งสหภาพยุโรป (EU Timber Regulation) ซึ่งกฎเหล็กข้อหนึ่งที่ว่า ห้ามนำเข้าไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ที่ได้มาจากธุรกิจผิดกฎหมาย และจะมีผลบังคับใช้ปี 56 นี้
ประเทศที่จะค้าขายกับกลุ่มอียูต้องทำข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ ระหว่างอียูกับประเทศผู้ส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมการจัดการอย่างยั่งยืน

ขณะนี้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม เจรจากันเรียบร้อยไปแล้ว จะเหลือก็แต่ประเทศนี้เพิ่งจะเริ่มเตรียมตัวเจรจา

นี่จึงเป็นเหตุผลที่เฟอร์นิเจอร์กำลังถูก “แบน” ในอียู และอนาคตยังมีอีกหลายประเทศที่พร้อมจะเดินตาม  

แต่ขนาดถูกกีดกันอย่างนี้มูลค่าการส่งออกไม้ยางของไทยสูงถึง 100,000 ล้านบาท จากมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์รวม 160,000 ล้านบาท/ปี

***ข่าวประเทศเมียนมาร์เปิดประเทศเป็นข่าวน่ายินดีของสังคมโลกที่ชโลมไปด้วยประชาธิปไตย และระบบทุนนิยมเสรี...!!!

ข่าวนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศยกทัพเข้าไปลงทนในเมียนมาร์มีออกมาชนิดรายวัน

“อินทรีทนง” เชื่อเหลือเกินว่า 1 ทศวรรษจากนี้ไป ประเทศ เมียนมาร์ จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านการลงทุน

เมื่อระบบเศรษฐกิจและประชาธิปไตยเปิด เหล่า “โรบินฮู้ด” สัญชาติเมียนมาร์จากทั่วโลกก็พร้อมจะกลับสู่อ้อมอกแม่...!!!
เมื่อนั่นแหละประเทศที่พึ่งแรงงานเมียนมาร์จะเกิดวิกฤติ...!!!

ไทยคือประเทศแรกที่ถูกหวยรางวัลที่ 1.???

ทุกวันนี้ไทยต้องยืมจมูกแรงงานต่างชาติหายใจมากกว่า 8 ล้านคน หรือประมาณ 20%
ส่วนใหญ่อยู่ในบรรดาอุตสาหกรรมหนักๆ ที่คนไทยไม่ทำอย่าง ประมง ก่อสร้าง และสวนยาง เป็นต้น ต้องกราบกรานแรงงานเมียนมาร์
นี่คือ “ระเบิดเวลา” ที่กำลังทำงาน...!!!

ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองว่าอาการ “ผึ้งแตกรัง” ของแรงงานเมียนมาร์ยังไม่มีเค้าลางปรากฏ เพราะการเปิดประเทศยังอยู่ในช่วงตั้งไข่อย่างน้อยๆ ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี อีกทั้งค่าแรงของไทยวันละ 300 บาทก็เป็น “แม่เหล็ก” ดูดให้แรงงานต่างชาติยังอยู่ในประเทศไทย ซึ่งย่อมดีกว่ากลับไปรับค่าแรงวันละ 70 บาทในบ้านเกิด

ต่างจากคำให้การของ กิตติพงษ์ ปราโมช ณ อยุธยา นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เผยว่าตอนนี้ธุรกิจก่อสร้างกำลังขาดแคลนอย่างหนัก จากการก่อสร้างต่างๆ เกิดความล่าช้า 1-2 เดือน เป็นอย่างน้อย
เพราะแรงงานก่อสร้างต้องพึ่งพาแรงงานเมียนมาร์ ซึ่งจำนวนมากที่หนีตายกลับประเทศช่วงน้ำท่วมใหญ่ จำนวนหนึ่งกลับมาเสี่ยงโชค แต่ไม่น้อยทีเดียวที่โบกมือลา
พร้อมกับวิเคราะห์ปัญหาแรงงานของไทย ไม่ว่าในระยะสั้นและระยะยาว อาการน่าเป็นห่วง

เป็นคนก็เหมือนเชื้อโรคกำลังเข้าร่างกาย อาการป่วยกำลังจะตามมา...!!!

ขณะที่ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มองแบบข้ามช็อตว่า ไม่ว่าช้าหรือเร็วต้องเกิดวิกฤติแรงงานอย่างแน่นอน
ทางที่ดีประเทศไทยต้องเร่งแก้ที่ภาคการผลิตแรงงานในภาพรวม โดยเฉพาะการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาด้านวิชาชีพที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
เพราะทุกวันนี้ประเทศนี้มีบัณฑิตตกงานปีละ 1 แสนคน/ปี เพราะไม่มีงานตรงสายรองรับ
ภาพรวมของตลาดแรงงานจึงเว้าแหว่ง

รศ.ดร.สมภพ ยังสะท้อนภาพที่น่ากลัวที่ว่า เมื่อการลงทุนในเมียนมาร์เฟื่องฟู บรรดานักลงทุนต่างชาติจะมุ่งหน้าสู่ลุ่มน้ำอิระวดี เพราะต้นทุนการผลิตถูกกว่าการตั้งโรงงานผลิตในไทย
อุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งแรงงานในไทยจะถูก “บอนไซ”

หนักกว่านั้นดีไม่ดีโรงงานอุตสาหกรรมอาจจะเผ่นหนีไปเมียนมาร์ก็มีความเป็นไปได้สูง

***ใครที่คิดว่าทุกวันนี้ไทยคือ “สะดือ” ของระบบโลจิสติกส์ทั้งทางบกและทางทะเลในภูมิภาคนี้ รวมทั้งข้อได้เปรียบด้านการลงทุนในมิติต่างๆ วันนี้กลายเป็นอดีตเสียแล้ว

เพราะวันนี้เมียนมาร์มีเมกะโปรเจกต์ท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมทวาย ซึ่งจะกลายเป็น “ชุมทาง” ของระบบโลจิสติกส์ทางทะเลฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย

มาเลเซียมีท่าเรือน้ำลึกอยู่ทางเหนือฝั่งอันดามัน

สิงคโปร์ไม่ต้องพูดถึง เป็นชุมทางของการเดินเรือของโลก

แต่ไทยกลับกลายเป็นแค่ทางผ่านของระบบโลจิสติกส์ในภูมิภาคเท่านั้น...!!!

โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด เซาท์เทิร์นซีบอร์ด อีสต์-เวสต์ อีโคโนมิกคอร์ริดดอร์ การขุดคอคอดกระ และท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นต้น 
“อินทรีทนง” ได้ยินชื่อเหล่านี้มาตั้งแต่จำความได้ ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐเนรมิตขึ้นมาเพื่อหวังเป็นศูนย์กลางโลติสติกส์ของภูมิภาค และเป็นประเทศแรกที่ริเริ่ม

แต่ก็ไม่โต ถูก “บอนไซ” ด้วย “กับดัก” ทางการเมืองและเศรษฐกิจ เป็นต้น ปล่อยให้ประเทศอื่นๆ ชิงธงไปต่อหน้าต่อตา

ขณะที่เมียนมาร์กำลังเป็นอีกประเทศ ที่กำลังจะตัดหน้าไทย
ส่วนบรรดาป้ายหรือโครงการที่ทึกทักเอาเองว่าเป็นศูนย์กลางของอินโดจีนก็จะเป็นแค่ป้ายบอกทางเท่านั้น 
ปล่อยให้ไทยเป็นแค่ “ทางผ่าน”...???

ถ้าคนไทย “ลักขโมย” เวลามานั่งทบทวนสักนิดว่า หลายทศวรรษที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้...???

ใครคือ “ลูกตุ้มยักษ์” ที่ทำให้ประเทศไทยเดินช้ากว่าเพื่อนบ้าน...??? ทั้งๆ ที่ก้าวเดินก่อนใครเพื่อน
...สวัสดีประเทศไทย...
อินทรีทนง
[ยางเศรษฐกิจ] เรียกน้ำยาง ฉบับ 13/2555





ไม่มีความคิดเห็น

Random Posts

randomposts